info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.220.247.152

ท็อปเบสท์ ปลุกตลาด “บัส-บรรทุก” คว้าสิทธิ “ผลิต-ขาย” เอ็มเอเอ็น

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

ถือเป็นกลุ่มทุนไทยที่สร้างโอกาสและปลุกตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ทั้งรถบรรทุก รถหัวลาก และรถบัสโดยสารให้มีความคึกคัก เมื่อกลุ่มบริษัท ท็อปเบสท์ (TOPBEST) ผู้ที่มีประสบการณ์และคร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตตัวถังรถเพื่อการพาณิชย์ เพิ่งประกาศความสำเร็จหลังจากคว้าดีลใหญ่ กับค่ายรถเพื่อการพาณิชย์สัญชาติเยอรมัน อย่าง MAN (เอ็มเอเอ็น)

โดยกลุ่มท็อปเบสท์ (บริษัท ท็อปเบสท์ จำกัด) ได้รับสิทธิให้เป็นผู้ผลิต-จัดจำหน่ายรถยนต์ MAN ในประเทศไทย นั่นยังหมายความว่ายังเป็นฐานการผลิตรถพวงมาลัยขวาเพื่อส่งออกไปทั่วโลก และถือเป็นการเปลี่ยนมือครั้งสำคัญอีกครั้งของแบรนด์ MAN ในประเทศไทย

หลังจาก “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยถึงเบื้องหน้า เบื้องลึกของดีลดังกล่าว และสเต็ปก้าวต่อไป จาก “สมาน เตชะอิทธิพร” ประธาน บริษัท ท็อปเบสท์ จำกัด และ “ปวริศร์ เตชะอิทธิพร” รองประธาน จะเป็นอย่างไรไปติดตามกัน

กลุ่มท็อปเบสท์ คลุกคลีในแวดวงธุรกิจนี้มากว่า 30 ปี ได้สะสมประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมาพอสมควร ทั้งในแง่ของผู้ผลิตชิ้นส่วน-อะไหล่ ผู้ประกอบตัวถัง ตัวแทนจัดจำหน่าย (ดีลเลอร์) ฯลฯ ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง และเข้ามือ จนเรียกได้ว่า “ครบเครื่อง” วันนี้เรามองว่าในส่วนของตลาดรถเพื่อการพาณิชย์บ้านเรานั้น เรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยต่าง ๆ ยังต้องเดินหน้าพัฒนาต่อเนื่อง

แต่การจะผลิตรถให้ได้มาตรฐานนั้น ปัญหาหลักคือ “ต้นทุน” โดยเฉพาะการใช้รถยุโรปดี ๆ สักหนึ่งคันนั้น จำเป็นจะต้องใช้ต้นทุนที่สูงขึ้น “ท็อปเบสท์” ได้ตัดสินใจเดินหน้าเจรจากับ “MAN” จึงเกิดเป็นดีลนี้ขึ้นมา กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะเป้าประสงค์หลักที่ต้องการให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี โนว์ฮาวการผลิตและประกอบรถบัส-บรรทุกให้กับประเทศไทย เราใช้เวลากับดีลครั้งนี้เกือบ ๆ 3 ปี เรียกว่าเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงโควิด และปิดดีลได้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่า MAN เป็นผู้ผลิตสัญชาติเยอรมัน ที่ชื่อชั้นมาตรฐานเยอรมันนั้นทุกคนเชื่อถือ ทั้งยังอยู่ในกลุ่มโฟล์คสวาเก้น ที่จะเห็นว่ามีแบรนด์ชั้นนำทั้ง ออดี้, ลัมโบร์กินี, สแกนเนีย ดังนั้นการได้ MAN มาครั้งนี้จะช่วยเพิ่มโอกาส และสร้างพื้นฐานให้กับอุตสาหกรรมรถเพื่อการพาณิชย์ เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นเพียงแค่ฐานผลิตให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน เป็นการรับจ้างประกอบ

แต่การที่กลุ่มท็อปเบสท์ได้สิทธิครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการออกแบบ การผลิต การประกอบและการจัดจำหน่าย ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และมีการประเมินว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานเบื้องต้นอย่างน้อย ๆ 700 คน ในเฟสแรก

สำหรับโครงการนี้ บริษัทได้ลงทุนเฟสแรก มูลค่า 3,000 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถเพื่อการพาณิชย์ แบบมิกซ์ไลน์สามารถประกอบได้ทั้ง รถบัส และรถบรรทุก MAN บนพื้นที่ 80,000-90,000 ตารางเมตร จากพื้นที่ขนาด 100 ไร่ ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มีทั้งโรงชุบกันสนิม (EDP) ที่สามารถชุบรถทั้งคันลงไปในบ่อสี ที่มีมากถึง 18 บ่อ, โรงพ่นสี โดยใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร เครื่องมือ หุ่นยนต์อัตโนมัติและระบบการควบคุมการผลิตที่ทันสมัย

ด้วยกำลังผลิตเบื้องต้น 7,000-8,000 คันต่อปี สำหรับการผลิตใน 1 กะ ในจำนวนนี้แบ่งเป็น รถบัส 2,000 คันต่อปี โดยการลงทุนทั้งหมดเป็นของ กลุ่มท็อปเบสท์ 100% ส่วน MAN จะซัพพอร์ตในเรื่องของโนว์ฮาว เทคโนโลยี กระบวนการผลิต ฯลฯ โรงงานแห่งนี้ยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และอยู่ในเขตฟรีเทรดโซน ทำให้ได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่าง ๆ ด้วย

ทำให้ “ท็อปเบสท์” มั่นใจว่า รถ MAN ที่ผลิตจะสามารถแข่งขันกับรถจากจีนได้ เนื่องจากโรงงานแห่งนี้จะมีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศไม่น้อยกว่า 40% ซึ่งวันนี้เราทำได้ถึง 50% และอนาคตจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจะแข่งขันได้เหนือกว่า โดยเฉพาะ “มาตรฐาน” และ “ราคา” ที่ใกล้เคียง

เบื้องต้นก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2566 และจะเริ่มดำเนินการผลิต-ประกอบได้ในต้นปี 2567 โดยจะเริ่มจากรถบัส พวงมาลัยขวา ที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยและประเทศพวงมาลัยขวา ทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประเทศในกลุ่มอาเซียน

เร่งสร้างเชื่อมั่น

ธุรกิจการขายรถยนต์ ส่วนสำคัญคือ “การสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า” ดังนั้น งานบริการหลังการขายจึงเป็นเรื่องที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างมาก ปัจจุบัน MAN มีตัวแทนจำหน่ายในไทย 1 ราย คือ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ส่วนอีกแห่งที่ อ.คลองหลวง ปทุมธานี เป็นของ ท็อปเบสท์

และนโยบายจากนี้ บริษัทจะลงทุนเพื่อขยายเครือข่ายการจัดจำหน่ายเองอีก 10 แห่ง โดยเฉลี่ยลงทุนสาขาละไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท หรือประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อกำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการดูแลให้บริการลูกค้า MAN อย่างทั่วถึง และล่าสุดได้เปิดตัวรถหัวลาก (นำเข้า) 3 รุ่น ที่ได้มาตรฐานยูโร 5 อย่าง TGS ขนาด 360 แรงม้า แบบขับเคลื่อนเพลาเดียว (6X2), รถบรรทุกหัวลากสิบล้อขับเคลื่อน 2 เพลา (6X4) รุ่น TGS 400 แรงม้า และ รุ่น TGX 480 แรงม้า

ทั้งนี้ บริษัทให้การรับประกันคุณภาพของตัวรถ 5 ปี และแพ็กเกจบำรุงรักษา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์และผลิตภัณฑ์ ก่อนที่ต้นปี 2567 เตรียมพบกับรถบัส MAN คันแรกที่ออกแบบโดย MAN เยอรมัน แต่จะผลิตจากโรงงานท็อปเบสท์ ประเทศไทย อย่างแน่นอน

เราจะใช้ “เซอร์วิส” นำหน้า เพราะนี้คือส่วนสำคัญที่สุดของตลาดรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ การที่เราลงทุนด้านบริการหลังการขาย เท่ากับเป็นการซื้ออนาคต ดังนั้นจำนวนประชากร MAN กว่า 1,000 คัน ในประเทศไทย ท็อปเบสท์พร้อมดูแล

กวาดแชร์ 30% ตลาดบรรทุก

เบื้องต้น ท็อปเบสท์ ตั้งเป้ายอดขายรถบรรทุก MAN ไว้ภายใน 1 ปีจากนี้ อยู่ที่ 200 คัน หรือ 30% ของตลาดรวมรถบรรทุกแบรนด์ยุโรปที่มียอดขายรวมอยู่ที่ราว 500 คันต่อปี

สุดท้าย “ปวริศร์” ผู้บริหารเจนสอง ยังได้แย้มถึงแผนในสเต็ปต่อไปว่า กลุ่มท็อปเบสท์ พร้อมที่เทเงินลงทุนอีกขั้น กับการผุดศูนย์ทดสอบรถเพื่อการพาณิชย์ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานผลิตรถบัส-บรรทุก-หัวลาก แบรนด์ MAN ที่ครบวงจรด้วย

6/8/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 6 สิงหาคม 2566 )

Youtube Channel