info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.220.181.180

“เคป แอนด์ แคนทารี” ทุ่ม 2 พันล้านฟื้นบิ๊กโปรเจ็กต์ “พัทยา”

Hotel News / ข่าวหมวดโรงแรม

ก่อนวิกฤตโควิด “เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์” นับเป็นกลุ่มทุนโรงแรมสัญชาติไทยที่เดินหน้าขยายการลงทุนอย่างหนัก แค่เฉพาะในช่วงปี 2559-2561 ได้ประกาศเทงบฯลงทุนกว่า 7 พันล้านบาท ทั้งในเมืองท่องเที่ยวและเมืองเศรษฐกิจ

หรือแม้แต่ในปี 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศประสบปัญหาอย่างหนัก แต่กลุ่มนี้ยังคงเดินหน้าเปิดให้บริการโรงแรมใหม่เพิ่มต่อเนื่อง

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “คุณแวว-ธีรวัลคุ์ เตชะอุบล” เจ้าของธุรกิจ ในฐานะผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการกลุ่ม โรงแรมในเครือ เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์ (กลุ่มเกษมกิจ) ถึงแนวทางการปรับตัวหลังวิกฤต มุมมองต่อธุรกิจโรงแรมและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบัน รวมถึงแผนการขยายธุรกิจในอนาคต ดังนี้

เพิ่มสัดส่วน “ลองสเตย์”

“ธีรวัลคุ์” บอกว่า วิกฤตโควิดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาให้บทเรียนหลายอย่าง ทั้งในมุมการลงทุน การตลาด การบริหารจัดการ ฯลฯ เนื่องจากหลังวิกฤตภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รูปแบบการท่องเที่ยว และพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปมาก นักลงทุนและผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างหนัก

สำหรับกลุ่ม “เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์” นั้นก็ปรับตัวรอบทิศเช่นกัน อาทิ การชะลอการลงทุนใหม่ เพื่อรักษากระแสเงินสดไว้สำหรับการบริหารและดูแลพนักงาน ปรับแผนการตลาด โดยเพิ่มสัดส่วนลูกค้ากลุ่มพักระยะยาว (long stay) สำหรับบางโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมที่อยู่ในเมืองเศรษฐกิจและกรุงเทพฯ เพื่อทำให้มีรายได้ที่แน่นอน

“รายได้จากกลุ่มพักระยะยาว หรือกลุ่มลองสเตย์แม้จะไม่มากนักแต่จะมีความแน่นอน ขณะที่รายได้จากกลุ่มพักระยะสั้น (short stay) จะมีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่สูงกว่าแต่ก็มีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เคปเฮ้าส์ กรุงเทพ หลังสวน ได้ปรับสัดส่วนของกลุ่มลองสเตย์ขึ้นมาถึงประมาณ 20%”

นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้ว่า หากมีพนักงานที่สามารถทำงานได้หลายอย่างจะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจนถึงปัจจุบันภาคธุรกิจโรงแรมยังคงวิกฤตแรงงานต่อเนื่อง การมีพนักงานที่มีความสามารถจะทำให้บริษัทบริหารได้มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย

พร้อมให้ข้อมูลด้วยว่า หัวใจสำคัญที่ทำให้กลุ่ม “เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์” รอดได้ในช่วงวิกฤตโควิดคือ การกระจายไข่ไว้หลายตะกร้า ซึ่งเป็นมุมมองและนโยบายการลงทุนที่ทางครอบครัวกำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว

รายได้ดี-ไม่มีโลว์ซีซั่น

สำหรับปี 2566 นี้ “ธีรวัลคุ์” ให้ข้อมูลว่า ผลตอบรับดีมาก ซึ่งเป็นการดีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 แม้แต่ในช่วงที่เคยเป็น “โลว์ซีซั่น” ก็ยังเติบโต แม้ว่าขณะนี้ตลาดนักท่องเที่ยวจีนจะยังกลับมาไม่เต็มที่ก็ตาม ซึ่งในภาพรวมก็ดีมากเช่นกัน

โดยมองว่าปัจจัยที่ทำให้ช่วง “โลว์ซีซั่น” ตัวเลขยังดีต่อเนื่องนั้นเป็นผลจากกระแสของการออกเที่ยวล้างแค้น หรือ revenge travel ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงนักท่องเที่ยวไทย ที่เกิดจากการอั้นไม่ได้ออกเดินทางมา 3-4 ปีนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังเห็นชัดเจนว่าโครงสร้างนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยก็เปลี่ยนไป นอกจากตลาดยุโรป อเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น และจีนแล้วก็เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวจากตลาดใหม่ ๆ เริ่มทยอยเข้ามาแล้ว เช่น กลุ่มตะวันออกกลาง

“ตอนนี้เรามั่นใจว่ารายได้รวมของปี 2566 จะสูงกว่าปี 2562 ก่อนโควิดประมาณ 10-20% และก็ลุ้นว่ากระแสการเดินทางจะยังคงเพิ่มขึ้นในปีหน้า และจะยังรักษาโมเมนตัมในช่วงโลว์ซีซั่นของปีหน้าให้ยังดีต่อเนื่อง”

พร้อมให้รายละเอียดว่า ปัจจุบัน “เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์” มีโรงแรมในเครือกระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ จำนวน 23 โรงแรม รวม 4,100 ห้อง ได้แก่ ภาคตะวันออก 11 โรงแรม มีสัดส่วนห้องพัก 52% ภาคกลาง 4 โรงแรม มีสัดส่วนห้องพัก 18% ภาคใต้ 6 โรงแรม มีสัดส่วนห้องพัก 16% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 โรงแรม มีสัดส่วนห้องพัก 7% และภาคเหนือ 1 โรงแรม มีสัดส่วนห้องพัก 7%

จับเซ็กเมนต์ “ลักเซอรี่-แฟมิลี่”

“ธีรวัลคุ์” ยังบอกถึงแนวทางการลงทุนด้วยว่า นโยบายของกลุ่ม “เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์” ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่าจะเน้นลงทุนในโรงแรมที่มีจุดขายชัดเจน (unique) โดยในส่วนของแบรนด์ “เคป” จะชัดเจนว่าเป็นเซ็กเมนต์ “ลักเซอรี่” ซึ่งในอนาคตจะมีขนาดไม่เกิน 100 ห้อง ส่วนแบรนด์ “แคนทารี” จับกลุ่มครอบครัว (family) มีขนาดใหญ่กว่าแบรนด์เคป เน้นความสะดวก สบาย ตั้งอยู่บนโลเกชั่นที่ดี

“ปัจจุบันเราลงทุนและบริหารโรงแรมภายใต้แบรนด์คอลเล็กชั่น เคป, แคนทารี, คามิโอ และซัมแวร์ และนับจากนี้เราจะโฟกัส 2 แบรนด์หลักคือ เคป และแคนทารี ส่วนบริการอื่น ๆ เช่น ร้านอาหาร สปา เบเกอรี่ เราบริหารภายใต้ชื่อ เคปยอร์ช ชาร์เตอร์ส, เคปสปา, คาเฟ่ แคนทารี, แคนทารี เคเทอริ่ง และแคนทารี เทอเรส”

พร้อมย้ำว่า ข้อดีของกลุ่ม “เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์” คือ ลงทุนเอง บริหารเอง รู้ว่าตัวเองเก่งและถนัดในตลาดไหน ลูกค้าเป็นใคร และควรตั้งราคาเท่าไหร่ ทำให้สามารถเลือกได้ว่าสิ่งที่ต้องการ หรือสิ่งที่ทำนั้นมีความชัดเจนจริงๆ

ยกตัวอย่างเช่น ให้ความสำคัญกับการกำหนดราคาขายมากกว่าอัตราการเข้าพัก โดยมองว่าไม่ได้ต้องการอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในระดับที่สูง 70-80% แต่ราคาขายห้องต้องได้ในราคาที่ดี เพราะกลุ่มเคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์ จะไม่เน้นเล่นเรื่องราคา เป็นต้น

ฟื้นโครงการ “พัทยา”

เมื่อถามว่าสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายแล้วพร้อมเดินหน้าลงทุนหรือยัง “ธีรวัลคุ์” บอกว่า เมื่อ 4 ปีก่อน ตั้งแต่ก่อนโควิดบริษัทมีแผนลงทุนโครงการใหญ่ที่พัทยา (ชลบุรี) 2 แห่งในพื้นที่เดียวกัน บนพื้นที่ 15 ไร่ ติดกับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างและอีไอเอแล้ว แต่ต้องหยุดไปเนื่องจากโควิด

ตอนนี้บริษัทเตรียมนำโครงการดังกล่าวมาพัฒนาต่อ ภายใต้งบฯลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วย แบรนด์เคป ซึ่งเป็นลักชัวรี่โฮเทล จำนวน 80 ห้อง และแบรนด์แคนทารี จับกลุ่มครอบครัว จำนวน 200 ห้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแบบก่อสร้างใหม่ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมนักเดินทางและสภาพตลาดในอนาคต จากนั้นจะยื่นขออีไอเอใหม่ คาดว่าจะเสร็จและเปิดให้บริการได้ในอีก 4 ปีข้างหน้า

“จริง ๆ แล้วเรามองไว้หลายทำเลมาก แต่อยากให้บริษัทมีความมั่นคงทางด้านการเงินก่อนแล้วค่อยขยับลงทุนเพิ่ม ส่วนเหตุผลที่เรากลับมาฟื้นตลาดพัทยาก่อนนั้นเพราะมองว่าพัทยาเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีการขยายตัวของโครงการอีอีซีและสนามบินอู่ตะเภา เป็นโลเกชั่นยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ใกล้กับกรุงเทพฯ ที่สำคัญที่ผ่านมาการพัฒนาก็เป็นไปในทางที่เหมาะสมขึ้น และตลาดก็เปิดมากขึ้น ทั้งตลาดครอบครัว ตลาดประชุมสัมมนา”

และล่าสุด เมื่อกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา โรงแรมในกลุ่ม “เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์” ได้รางวัลจาก “ทริปแอดไวเซอร์ อวอร์ดส์ 2023” แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวระดับโลก ถึง 9 รางวัล ประกอบด้วย รางวัล Travellers’ Choice Best of the Best 1 รางวัล คือ เคปนิทรา หัวหิน (เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน)

และรางวัล Travellers’ Choice อีก 8 รางวัล คือ เคปนิทรา หัวหิน, เคปฟาน เกาะสมุย, เคป กูดู เกาะยาวน้อย, เคปพันวา ภูเก็ต, แคนทารี ฮิลส์ เชียงใหม่, แคนทารี เบย์ ภูเก็ต, คามิโอ แกรนด์ ระยอง และแคนทารี บ้านฉาง

นับว่าเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของ “แบรนด์ไทย” ทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐานระดับโลกอย่างชัดเจน

17/8/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 17 สิงหาคม 2566 )

Youtube Channel