info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.220.247.152

“ยูนิโคล่” โหมตลาดต่างประเทศ เร่งปูพรมสาขา-ปั๊มรายได้

Retails News / ข่าวหมวดห้างสรรพสินค้า

แม้จะมีสาขากระจายอยู่ทั่วโลกแล้ว แต่โค้งท้ายของปี 2566 นี้ “ยูนิโคล่” ยักษ์เชนร้านแฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่นยังตัดสินใจเร่งเครื่องรุกตลาดต่างประเทศให้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกขั้น หลังจากเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยูนิโคล่แต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ ซึ่งไม่ใช่ผู้บริหารลูกหม้อธรรมดา แต่เป็นผู้ที่มีผลงานปลุกปั้นให้เชนแฟชั่นสามารถหลุดจากภาวะขาดทุนในตลาดสหรัฐมาได้

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ยูนิโคล่แต่งตั้ง “ไดสุเกะ สึคาโกชิ” เป็นแม่ทัพใหญ่ของบริษัทควบ 3 ตำแหน่งคือ ประธานกรรมการ กรรมการบริหาร และประธานฝ่ายปฏิบัติการพร้อมกัน ในขณะที่ “ทาดาชิ ยานะอิ” ซึ่งเป็นประธานของฟาสต์ รีเทลลิ่ง บริษัทแม่ของยูนิโคล่ จะนั่งตำแหน่งซีอีโอ

การแต่งตั้งครั้งนี้นับเป็นการเปลี่ยนตัวประธานกรรมการครั้งแรกของยูนิโคล่ นับตั้งแต่ปี 2548 เมื่อฟาสต์ รีเทลลิ่งปรับโครงสร้างไปเป็นบริษัทโฮลดิ้งและแยกยูนิโคล่ออกมาเป็นบริษัทปฏิบัติการ

สำหรับ “ไดสุเกะ สึคาโกชิ” เป็นผู้บริหารหนุ่มใหญ่อายุ 44 ปี ซึ่งเข้าร่วมงานกับฟาสต์ รีเทลลิ่งมาตั้งแต่ปี 2545 ต่อมาในปี 2562 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส รับผิดชอบธุรกิจในพื้นที่ทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งประกอบด้วยตลาดสหรัฐและแคนาดา ก่อนจะรับตำแหน่งซีอีโอระดับโกลบอล ดูแลธุรกิจตลาดนอกญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2565

โดยความสำเร็จของแม่ทัพใหญ่คนใหม่ของยูนิโคล่ จะเป็นการพาธุรกิจในสหรัฐอเมริกาให้พ้นภาวะขาดทุน และกลับมาทำกำไรได้เมื่อปีงบประมาณสิ้นสุดสิงหาคม 2565 นับเป็นการมีกำไรครั้งแรกของยูนิโคล่ในตลาดสหรัฐอเมริกา หลังเข้าไปปักธงทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2548 หรือนับเป็นระยะเวลาที่ขาดทุนต่อเนื่องนานกว่า 17 ปี

ส่วนกลยุทธ์ที่ “ไดสุเกะ สึคาโกชิ” ใช้ในครั้งนั้นคือ การโหมปูพรมสื่อสารสร้างการรับรู้ ด้วยการยิงโฆษณาผ่านทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย หรือสื่อดั้งเดิมอย่างเคเบิลทีวี และหนังสือพิมพ์ พร้อมพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวอเมริกันอย่างเสื้อยืดเอวลอย และกางเกงยีนที่มีรอยขาด

นอกจากการกู้ธุรกิจในสหรัฐอเมริกาให้กลับมามีกำไรแล้ว ในปีงบประมาณสิ้นสุดสิงหาคม 2565 นั้น รายได้จากต่างประเทศของยูนิโคล่ยังสูงกว่ารายได้ในญี่ปุ่นอีกด้วย โดยรายได้จากต่างประเทศอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 2.64 แสนล้านบาท ในขณะที่รายได้ในประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 8.1 แสนล้านเยน หรือประมาณ 1.94 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ต้องการผลักดันธุรกิจต่างประเทศของยูนิโคล่ให้เข้มข้นขึ้นอีก ด้วยการแต่งตั้งให้ “ไดสุเกะ สึคาโกชิ” เข้ามากุมบังเหียนแม้ที่ผ่านมาธุรกิจจะประสบความสำเร็จในต่างประเทศอยู่แล้วนั้น เนื่องจากฟาสต์ รีเทลลิ่ง มีเป้าหมายเพิ่มรายได้รวมของทั้งกลุ่มบริษัทเป็น 3 เท่า หรือเท่ากับการไปแตะ 10 ล้านล้านเยนให้ได้ภายใน 10 ปี

“เราตั้งใจจะเสริมแกร่งการบริหารจัดการ ด้วยการสร้างทีมที่รวบรวมพนักงานระดับผู้จัดการจากทุกตลาด เพื่อเร่งสปีดโครงสร้างการทำงานที่เน้นทีมเวิร์กตามแนวคิด Zen-in Keiei หรือการที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นแนวคิดในการทำงานของยูนิโคล่”

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ยูนิโคล่ได้หัวเรือใหญ่คนใหม่แล้ว แต่ยังมีเรื่องที่ต้องจับตาอยู่ นั่นคือผู้ที่จะมารับช่วงต่อการบริหารฟาสต์ รีเทลลิ่ง ต่อจาก “ทาดาชิ ยานะอิ” ซึ่งขณะนี้อายุ 74 ปีแล้วนั้น ยังไม่มีความชัดเจนออกมาเนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อปี 2545 ทาดาชิเคยส่งต่อการบริหารฟาสต์ รีเทลลิ่ง ให้กับ “เกนอิจิ ทามาสึกะ” (ปัจจุบันเป็นประธานของล็อตเต้ โฮลดิ้ง ในญี่ปุ่น) ก่อนจะตัดสินใจกลับมาคุมบริษัทเองอีกครั้งในปี 2548

โดยแม้ “ทาดาชิ ยานะอิ” จะมีลูกชาย 2 คน ซึ่งปัจจุบันต่างดำรงตำแหน่งอยู่ในบอร์ดบริหารของฟาสต์ รีเทลลิ่ง แต่ทาดาชิเคยระบุว่าจะไม่แต่งตั้งลูกชายทั้ง 2 คนเป็นประธานบริษัท

ขณะที่แหล่งข่าวในบริษัทยังให้ความเห็นแตกออกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งระบุว่า การแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารของฟาสต์รีเทลลิ่ง ขณะที่อีกฝ่ายกล่าวว่า “ไดสุเกะ สึคาโกชิ” เป็นตัวเต็งในกลุ่มผู้ที่จะมารับช่วงต่อจาก “ทาดาชิ ยานะอิ”

ทำให้หลังจากนี้ไม่เพียงต้องจับตาดูยุทธศาสตร์ในตลาดต่างประเทศของยูนิโคล่ แต่ยังรวมถึงการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารใหญ่ของฟาสต์ รีเทลลิ่ง ด้วย

7/9/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 7 กันยายน 2566 )

Youtube Channel