info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.192.26.226

ซีอีโอ SC Asset พลิกคัมภีร์ซุนวูทำธุรกิจ ผู้ชนะที่แท้จริงต้องชนะก่อนรบ

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

13 พฤศจิกายน 2546 วันเกิดบนกระดานหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รหัสย่อ SC

ปี 2566 ครบรอบก่อตั้งองค์กร 20 ปี พัฒนาบ้านและคอนโดมิเนียมแล้วมากกว่า 24,000 ยูนิต ดูแลลูกบ้าน 70,000 คน ปีนี้จึงเป็นปีที่สื่อสารภาพลักษณ์อย่างเข้มข้น ด้วยคำพูดกระชับ ๆ ที่ว่า… ดูแล 20 ปี เติบโตเคียงข้างตลอดไป

“ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ SC Asset ให้สัมภาษณ์ในวาระก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 จะนำพาองค์กรไปในทิศทางใด

Q : Learning Curved จากสถานการณ์โควิด

ผมเพิ่งคุยเรื่องนี้กับทีม ที่เราทำมาไม่ผิดหรอกนะ แล้วยอดขาย 3 ปีนี้ (2563-2565) เราไม่ได้ทำอะไรถูกเลยนะ แต่บังเอิญว่าโควิดมันพัดดีมานด์มาให้เรา

ผมบอกทีม เราทำแบรนด์ดี หลายคนก็เชื่อมั่น แต่ที่เราขายดีเราไม่ได้ทำอะไรนะ โควิดมันพาลูกค้ามาหาเรา เราอย่าหลอกตัวเอง และคนที่ทำคอนโดฯแล้วขายไม่ดี (ยุคโควิด) เขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลยนะ เขาก็ทำของเขามา แต่โควิดมันพาลูกค้าไป

ผมเลยบอกว่า นับจากนี้เราทำอะไรถูก เราทำอะไรผิด ไม่ได้แปลว่าเราจะรอด เพราะฉะนั้น เราก็เลยต้องทำอะไรหลากหลาย ทำโรงแรมก็เริ่มทำแล้ว ทำแวร์เฮาส์ก็ฉีกตัวออกไป เพื่อให้ปลอดภัย การทำธุรกิจยุคนี้ อะไร ๆ ถ้ามันเกิดแล้วอิมแพ็กต์แรง (โรคระบาด, ภัยธรรมชาติ)

เพราะฉะนั้น เราจะหลากหลาย ขายบ้านและคอนโดฯด้วย ออฟฟิศก็ทำ โรงแรมก็ทำ ล่าสุดเรามุ่งทำแวร์เฮาส์เพราะผมมองว่าเราจะลงทุนอะไรที่มีอนาคต ถึงยังไงก็เป็นสแตรทิจี้หลักของประเทศไทย ซึ่ง (เศรษฐกิจ) จะดีไม่ดียังไงมันก็มีตัวแปรพวกนี้เป็นตัวหลักอยู่แล้ว

ส่วนอีคอมเมิร์ซ แวร์เฮาส์บียอนด์อีคอมเมิร์ซ เทรนด์โลจิสติกส์ยังไงก็มา SC ก็ไปลงตรงนี้ และจะดูอีกว่าอะไรที่เป็นอนาคต ก็จะไปลงทุนตรงนั้น ซึ่งจริง ๆ ก็มีดาต้าเซ็นเตอร์ที่กำลังสนใจ ล่าสุดผมไปลงทุนไอสโตร์ เป็นตึกให้เก็บของ

ผมเซอร์ไพรส์มากว่าออฟฟิศที่ดีที่สุดในประเทศไทย คือ เกษรทาวเวอร์ ได้ค่าเช่า 1,100 บาท/ตารางเมตร/เดือน แต่โลจิสติกส์ (แวร์เฮาส์) ไปอยู่บางนา ค่าเช่า 800-900 บาท/ตารางเมตร/เดือน เพราะว่าคนเช่าเก็บของ

ผมมองว่าธุรกิจเก็บของมาแล้วเพราะคนเก็บของเยอะ คอนโดฯทำเลในเมืองจะซื้อมาเก็บของก็ไม่ใช่นะ และเดี๋ยวนี้คนไทยเก็บงานศิลปะมากขึ้น น่าสนใจ พอเปิดไปอีกโลกหนึ่งก็จะสนุกขึ้น

ช่วงนี้ผมก็เลยปั้นรายได้รีเคอริ่ง (รายได้ค่าเช่า) ถ้าเกิดอะไรขึ้น เช่น เกิดโควิด เกิดสงครามขึ้น เราก็ไปของเราได้รอด เพราะรายได้อสังหาฯ รายได้ปีละ 2 หมื่นกว่าล้านบาทแล้ว เงินเยอะแล้วก็หมุนอะไรได้ ทำอะไรได้

Q : รายได้ 2 หมื่นล้านทำให้เราคล่องตัว

ไม่ถึงกับคล่องตัว เพราะตัวใหญ่ล้มดัง… ทีนี้ ถ้าธุรกิจไม่หลากหลายพอ เจออะไรขึ้นมา อย่างแผนธุรกิจ SC เราก็ไม่ได้ทำอะไรถูกหรือผิด แต่โควิดมันพาเราไปได้

Q : ทำธุรกิจสำเร็จได้ต้องเก่งกับเฮง

ชีวิตจริงเป็นอย่างนั้น คนที่เก่งที่สุดไม่ได้แปลว่าเขาจะสำเร็จนะ แต่มีปัจจัยอย่างอื่น ทีนี้ เรามองอย่างถ่อมตัว เราตัดสินใจถูกที่สุด แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะชนะ แต่เป็นคนที่เห็นอะไรข้าม ๆ มาแล้วปรับได้ ปรับตัวเร็ว

เคยอ่านหนังสือซุนวู เขาบอกว่าผู้ชนะที่แท้จริงต้องชนะก่อนรบ ไม่มีใครไปลุ้นไปรบในสนามหรอก คนที่ไปลุ้นในสนาม อันนั้นคือผู้แพ้นะ ผู้ชนะต้องเตรียมไว้ก่อน เช่น สนามรบมีหิมะ เขาเตรียมไว้หมดแล้ว เวลาเขาไปเขาจะรับมือได้ เขาชนะไปก่อน (ยิ้ม)

Q : บิสซิเนสโมเดล SC มีกี่ Engine

ผมวางหลัก SC มี 3 engine เราทำบ้านและคอนโดฯ เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนรายได้ตัวที่ 1 เอ็นจิ้นตัวที่ 2 จะเป็นรีเคอริ่งทั้งหมด มีออฟฟิศ โรงแรม แวร์เฮาส์ และไอสโตร์ อะไรที่ลงทุนไปแล้วมีรายได้กลับมาเรื่อย ๆ ไม่ต้องขายทิ้ง นี่คือคอนเซ็ปต์ของเรา

เอ็นจิ้นที่ 3 เป็นพวกกองทุนที่เราไปลง จริง ๆ เราไปลงทุน fund of fund ที่เขาไปลงทุนสตาร์ตอัพบางอย่าง

ธุรกิจอสังหาฯเป็นธุรกิจ capita intensive ใช้เงินลงทุนเยอะ ก็เลยไปลงตรงนี้ด้วย

เรื่องใหม่ในปีหน้า เราจะเปิดตัวยูทิลิตี้โทเค็น นำโทเค็นไปแลกส่วนลดในห้าง อีเวนต์ต่าง ๆ แล้วผมจะเอาโทเค็นอันนี้ มันคืออีคูปองนั่นแหละ ไปเชื่อมกับแบรนด์อื่น ๆ ซื้อบ้านเราเยอะก็ไปช็อปพารากอนได้ ซื้อพารากอนเยอะก็มาช็อปบ้านเราได้

…อนาคตคิดว่าอินเวสต์เมนต์โทเค็นจะมา เพราะคนรุ่นใหม่ไปทางนั้นอยู่แล้ว อยู่ที่คนเชื่อว่าจะมาหรือเปล่า อยู่ที่ระบบบล็อกเชนต้องซีเคียวระดับหนึ่ง แต่คนต้องเชื่อ ทุกอย่างมันขับเคลื่อนด้วยความเชื่อ ความจริง

Q : สตาร์ตอัพอสังหาฯมีโอกาสจะเป็นยูนิคอร์นไหม

การที่จะเป็นยูนิคอร์นต้องเป็นบริษัทที่สเกลเยอะ บริษัทอสังหาฯมีมูลค่าเกิน 30,000 ล้านบาทอยู่แล้ว แต่การที่จะเป็นรายหุ้นสตาร์ตอัพ ผมคิดว่าต้องเป็นพวกโทเค็น เป็นพวกสเกล ข้ามพรมแดน ข้ามประเทศ อยู่ที่ไหนในโลกก็ได้ ทำสเกลได้ จริง ๆ สตาร์ตอัพถ้าสเกลไม่ได้ ก็คือจบ เพราะต้องขยายด้วยการสร้างสเกล

Q : คนรุ่นใหม่บอกว่าเป็น Generation Rent

เราก็ต้องทำเช่า ผมมองว่าทุกอย่างต้องวิ่งตามลูกค้า วันนี้ลูกค้าซื้อก็ซื้อ วันหนึ่งลูกค้าเช่าก็เช่า มันจะดีตามช่วงชีวิต บางช่วงเขาอยากเช่าเขาก็เช่า บางช่วงเขาอยากซื้อตอนเขา settle เป็นความคิดของลูกค้าเจน Y เจน X เดี๋ยวเจน Alpha ก็มาอีก

Q : ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 จะนำพาเอสซีไปในทิศทางไหน

เรื่องที่ 1 ผมเรียกว่าสร้างคุณค่าให้กับคนรอบตัวเรา เอสซีที่ผมวางทิศทางไว้ 20 ปี บริษัทเราใหญ่ขึ้น เราต้องดูแลคนรอบข้างได้มากขึ้น สิ่งที่เราดูแลอยู่แล้ว พนักงาน คู่ค้า เป็นเรื่องสำคัญ สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญของโลกนี้ เราอยากจะโตไปในแบบที่สิ่งแวดล้อมก็ต้องดีด้วย

เรื่องที่ 2 ธุรกิจเองต้องมั่นคงแข็งแรง คำว่ามั่นคงในยุคนี้ต้องมีความหลากหลาย รับมือได้หลากหลาย เราขายบ้านดีมาก ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องอยู่แค่ตรงนี้ เราต้องทำอะไรมากขึ้น เราต้องทำอะไรเพราะมีปัจจัยภายนอกที่หลากหลาย ถ้าเราทำธุรกิจที่หลากหลาย เราจะรับมือกับเหตุการณ์ที่หลากหลายได้ดี

เรื่องที่ 3 ที่ผมโฟกัส สร้างคัลเจอร์ให้คนของเรา เดิมเราใส่ใจลูกค้าอยู่แล้ว เราจะต้องกล้าหาญในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราทำ กล้าหาญให้ทันโลก ความกล้าหาญสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกนี้ เป็นเรื่องของค่านิยมในองค์กร คัลเจอร์เป็นเรื่องสำคัญ

10 ปีมานี้ คนของเราต้องทั้งใส่ใจลูกค้าเหมือนเดิม แต่มีความกล้าหาญมากขึ้น และทำงานได้กับผู้คน ธุรกิจที่หลากหลาย สร้างคุณค่าให้สิ่งแวดล้อม คน และธุรกิจมีคัลเจอร์ ที่ผมเรียกว่า skydive เป็นคัลเจอร์ในองค์กร

คนของเราเดิมมีเรื่อง care ความใส่ใจ เราเพิ่ม courage กล้าหาญ เพิ่ม collaboration ทำงานกับคนหลากหลายได้ เพิ่ม continuous development ปรับปรุงตัวได้ตลอด

เหมือนกระโดดร่ม กระโดดไปแล้วมุ่งเป้าหมาย และปรับเปลี่ยนวิธีการได้ก่อนจะถึงพื้น กระโดดไม่ดีก็กลับไปกระโดดใหม่

Q : วันนี้อะไรที่แชลเลนจ์มากที่สุด

จริง ๆ สิ่งที่แชลเลนจ์ ในฐานะผู้นำองค์กรคืออัตตา อัตตาของตัวเอง ผมว่าทุกอย่างไม่ว่าอะไรภายนอก มันอยู่ที่เราจัดการตัวเรา ถ้าเราจัดการตัวเราได้ สติเราจะมี และเราจะจัดการได้ดีที่สุดในสถานการณ์แต่ละสถานการณ์

Q : บริหาร SC 11 ปี เลิร์นนิ่งเคิร์ฟอะไรที่นำมาถ่ายทอดให้กับคนในองค์กร

ผมมองว่าเรื่องสำคัญคือคนเราอย่าหยุดเรียนรู้ เพราะว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา พฤติกรรมคนเปลี่ยนแปลงตลอด เพราะฉะนั้น เรื่องคนเราจะมี learning curved ได้หลาย ๆ เคิร์ฟ สำคัญคือเราต้องไม่หยุดเรียนรู้ ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนเราเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

วันนี้ถ้าการเมืองนิ่งขึ้น ประเทศก็ขับเคลื่อนไปได้ คนก็มั่นใจมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น มันก็เป็นปัจจัยบวก เราทำอะไรต้องเผื่อเหลือเผื่อขาด ถ้าดีเราก็ลุย เราต้องมีแผนสำรองเผื่อไว้ ไม่ประมาท

ผมคิดว่าโควิดสอนผมเรื่องนี้นะ สอนผมเรื่องการวาง scenario ในการขับเคลื่อนธุรกิจ โควิดกำลังบอกว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ อย่าไปยึดติด การ์ดอย่าตก

วันนี้เหมือนฟ้าเปิดแล้ว ฟ้ายุคหลังโควิดเปิดแล้ว ก็อย่าประมาท ขับเคลื่อนไปอย่าประมาท

Q : อยากฝากอะไรให้ลูกบ้านเอสซี

ก็ขอบคุณที่เชื่อมั่นในแบรนด์เรา และเราก็จะมุ่งมั่นทำสิ่งที่เราคอมมิตเมนต์ไว้

28/9/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 28 กันยายน 2566 )

Youtube Channel