info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.148.112.15

ชัชชาติ สั่งกรุงเทพธนาคม ยุติแผนนำสายไฟฟ้า-สายสื่อสารลงดิน 1.9 หมื่นล้าน

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. และนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ สั่งทบทวนแผนธุรกิจของโครงการนำสายสื่อสารลงดินวงเงินกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท ของกรุงเทพธนาคม เหตุค่าเช่าท่อสูง ซ้ำซ้อนกับงานบริษัท NT

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ภายหลังการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยถึงกรณีการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงดิน

นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องที่มีความกังวล คือ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) มีการทำโครงการท่อสายสื่อสารใต้ดิน โดยใช้งบประมาณ 19,000 ล้านบาท ซึ่งสูงมาก โครงการได้มีการทำไปแล้วในเฟสแรก แต่ยังไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใดสนใจเช่าท่อสายสื่อสารใต้ดินนี้ จึงได้สั่งให้ชะลอโครงการและกลับไปทบทวนใหม่โดยให้บริษัทเคที ตรวจสอบหากจะมีการทำโครงการต่อ แต่ไม่มีเอกชนรายใดมาเช่าเลย จะเกิดปัญหาตามมาในอนาคตได้

ด้านนายวิศณุกล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน โครงการดังกล่าว กทม. ได้มอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ไปดำเนินการจัดระเบียบปรับปรุงทัศนียภาพของเมืองให้สะอาด ไม่มีสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์รกรุงรัง ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2561

โดย กทม.ต้องลงทุนพัฒนาระบบท่อร้อยสายระบบสาธารณูปโภคใต้ดินวงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท เพื่อนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั่วเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินนำร่องเสร็จแล้ว เป็นระยะทาง 7.2 กม. วงเงิน 140 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1.ถนนวิทยุ (ถนนเพชรบุรี-แยกเพลินจิต-หน้าซอยร่มฤดี) 2.ถนนรัชดาภิเษก (MRT ศูนย์วัฒนธรรมประตู 2-หน้าซอยรัชดาภิเษก 7) 3.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ถนนสาทรเหนือ/ใต้-ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารในแนวถนนพระรามที่ 1 จากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ระยะทางประมาณ 1 กม. พร้อมกับการปรับปรุงทางเท้า

“แต่ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องการหารายได้ เพราะยังไม่มีผู้ให้บริการเช่าท่อร้อยสาย เนื่องจากอัตราค่าเช่าสูงเกินไป ดังนั้น จึงสั่งให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชะลอโครงการดังกล่าวและทบทวนแผนธุรกิจ และมีแนวโน้มว่าจะยุติโครงการทั้งหมด เนื่องจากเคทีไม่มีรายได้เพียงพอที่จะดำเนินการ ขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าวยังมีเส้นทางทับซ้อนกับแนวท่อสายสื่อสารเดิมของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เอ็นที) หากเคที ดำเนินต่อไป จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องได้รับการสนับสนุนจากสำนักงาน กสทช.” นายวิศณุกล่าว

สำหรับการรายงานแผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินและจัดระเบียบสายสื่อสาร นายวิศณุกล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวสามารถแบ่งการพิจารณาออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 การนำสายไฟลงดินของการไฟฟ้านครหลวง ปัจจุบันเส้นทางที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำสายไฟลงดิน เสร็จแล้ว 62 กิโลเมตร (กม.) กำลังก่อสร้าง 174.1 กม. รวมแล้วจะนำสายไฟฟ้าลงดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ระยะทาง 236.1 กม. โดยในปี’65 คาดว่าจะรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าได้ระยะทาง 12 กม. นอกจากนี้ ยังมีแผนที่อยู่ระหว่างนำเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก 77.3 กม. ซึ่งแผนดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 เมื่อนำสายไฟฟ้าลงดินแล้ว กฟน.จะรื้อถอนเสาไฟฟ้าออก

ส่วนที่ 2 แผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ของสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ เป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ของกฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งแผนดำเนินการปี 2565 ยังต้องดำเนินการในส่วนของแผนค้างดำเนินการมาจากปี 2563-2564 ซึ่งล่าช้าและไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

การนำสายสื่อสารลงใต้ดิน แบ่งเป็นงาน 6 กลุ่ม

1.เส้นทางที่ไม่สามารถนำสายลงใต้ดินของ กฟน. ในปี’64 ระยะทาง 22 กม.

2.โครงการรักษ์คลองคูเมืองเดิมเฉลิมพระเกียรติฯ ระยะทาง 3 กม.

3.แผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินปี’63 ตามนโยบาย กสทช. ระยะทาง 49 กม.

4.แผนงานเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครอาเซียน ระยะทาง 17 กม.

5.โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ของ กทม. ระยะทาง 1 กม. และ

6.แผนงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่กีดขวางแนวโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 6 กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี’65 ระยะทาง 12 กม. ตามแผนของ กฟน.

นายวิศณุกล่าวว่า ส่วนสุดท้ายคือส่วนของแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารของสำนักงาน กสทช. ในพื้นที่ของ กฟน. กลุ่มเร่งด่วน ระยะทางรวม 400 กม. แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย กลุ่มย่อยแรก 39 เส้นทาง ระยะทาง 104.83 กม. กลุ่มย่อยที่สอง 169 เส้นทาง ระยะทาง 306.46 กม. และยังมีนอกเหนือจากกลุ่มเร่งด่วนอีก 38 เส้นทาง ระยะทาง 346.59 กม.

นายวิศณุกล่าวต่อว่า ขณะที่ กทม.มีเป้าหมายจัดระเบียบสายสื่อสารเช่นกัน โดยได้ดำเนินการตามแผนของการจัดระเบียบสายสื่อสาร กลุ่มเร่งด่วน ของสำนักงาน กสทช. ระยะทาง 400 กม. และเส้นทางที่สำนักงานเขต ต้องการจัดระเบียบ ระยะทาง 600 กม. โดยให้สำนักงานเขตไปสำรวจพื้นที่ที่มีความพร้อม รายงานให้สำนักการโยธา เพื่อดำเนินการจัดระเบียบให้แล้วเสร็จ

ด้านนายชัชชาติกล่าวว่า “ตอนนี้กรุงเทพธนาคมมีเรื่องร้อน ๆ อยู่ 3 เรื่อง คือเรื่อง การจ้างเดินรถ รถไฟฟ้าสายสีเขียว โรงขยะอ่อนนุช และการนำสายสื่อสารลงดิน ต้องเร่งดำเนินการและเอาข้อเท็จจริงมาให้ประชาชนเห็น”

15/8/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (15 สิงหาคม 2565)

Youtube Channel