info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.17.78.184

การท่าเรือฯ จ่าย 250 ล้าน ให้ NT รื้อย้ายเคเบิลใต้น้ำ พัฒนาแหลมฉบังเฟส 3

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

การท่าเรือฯลงนามร่วมกับ NT รื้อย้ายระบบเคเบิลใต้น้ำใยแก้วเส้นเพชรบุรี-ศรีราชา ณ ท่าเรือแหลมฉบัง โดยการท่าเรือฯ ได้จ่ายเงินเยียวยาในวงเงิน 250 ล้านบาท

วันที่ 23 สิงหาคม 2565 การท่าเรือแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Agreement : MOA) ระหว่าง กทท. และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) National Telecom Public Company Limited (NT) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถท่าเรือแหลมฉบังในการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง

โดยมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. และพันเอกสรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง

สำหรับการลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้มีมติอนุมัติโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ

เพื่อเพิ่มขีดความสามารถท่าเรือแหลมฉบัง ในการรองรับอุปสงค์จากปริมาณตู้สินค้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต และสนับสนุนการเป็นประตูการค้า สำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าของประเทศไทยที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และเพิ่มพูนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งที่สนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริง

ประกอบกับการท่าเรือฯ ตรวจสอบพบว่ามีระบบเคเบิลใต้น้ำใยแก้วเส้นเพชรบุรี-ศรีราชา ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งการท่าเรือฯ และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ได้ประชุมหารือร่วมกันในการรื้อย้ายระบบเคเบิลใต้น้ำดังกล่าว

เพื่อให้การก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเป็นไปตามที่กำหนด จนนำมาสู่การจัดทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ เพื่อชดเชยเยียวยาการรื้อย้ายระบบเคเบิลใต้น้ำใยแก้วเส้นเพชรบุรี-ศรีราชา ในวงเงิน 250 ล้านบาท ให้แก่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวว่า กทท.เล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระบบการขนส่งทางน้ำที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และการลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ จะเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การเชื่อมโยงพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจสู่นานาประเทศ และเป็นการพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรองรับปริมาณตู้สินค้าที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต อันเป็นประโยชน์ในภาพรวมของเทศต่อไป

23/8/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (23 สิงหาคม 2565)

Youtube Channel