info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.149.29.192

“บ้านปูเพาเวอร์” จ่อปิดดีลเพิ่ม 2 โรงไฟฟ้า 2,000 MW

Power Plant News / ข่าวหมวดโรงไฟฟ้า

“บ้านปู เพาเวอร์” ครึ่งปีแรกลงทุน 1.8 พันล้านเหรียญ ดันกำไรพุ่ง 67% กางแผนรุกตลาด “ประเทศซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี” ยึดโมเดลสหรัฐ รับมือราคาพลังงานโลกผันผวน พร้อมเร่งปิดดีลโครงการใหญ่ 2 แห่ง อีก 2,000 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนที่เหลือ 500-600 ล้านเหรียญ ในปี’67

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า บริษัทได้วางแผนการลงทุนด้วยงบประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 25,000 ล้านบาท

ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) 2565 ได้ใช้ไปประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,800 ล้านบาท) ยังคงเหลือเงินอีกประมาณ 500-600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 20,000 ล้านบาท) ตามกรอบระยะเวลาของแผนที่จะสิ้นสุดใน 1-2 ปี หรือช่วงปี 2567

โดยบริษัทเตรียมปิดดีลโครงการใหม่ คาดว่าจะมีกำลังผลิตเพิ่มเข้ามาอีก 2,000 เมกะวัตต์ และมีแผนการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนใหม่ (Renewable) มุ่งเป้าไปยัง 8 ประเทศที่มีการลงทุนอยู่แล้ว ทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว เป็นต้น

บริษัทมุ่งที่จะลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายกำลังผลิตอยู่ที่ 5,300 เมกะวัตต์ ในปี 2568 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 3,153 เมกะวัตต์ โดยหนึ่งในแผนลงทุนนั้น ยังคงเล็งไปที่ประเทศที่มีการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเสรี (energy trading)

คือโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปที่ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions : HELE) ที่สหรัฐอเมริกาอีก 2-3 โครงการ กำลังการผลิตโครงการละ 700-800 เมกะวัตต์

เพราะหลังจากบริษัทได้ลงทุนใน Temple I มูลค่าลงทุน 430 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 14,300 ล้านบาท) ขนาดกำลังการผลิต 768 เมกะวัตต์ ที่รัฐเทกซัส สหรัฐ เริ่มรับรู้รายได้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564

“ข้อดีของการลงทุนซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเสรีนั้น คือการสามารถขายไฟเป็นช่วงเวลาได้ ทำให้เรามีกำไรเมื่อความต้องการสูง แม้เราต้อง active เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ก็ทำให้เราบริหารงานดูราคาและทำกำไรได้มากขึ้นเช่นกัน และเรายังศึกษาการผสานห่วงโซ่อุปทานในการนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบาร์เนตต์ (Barnett) ของบ้านปูมาใช้ในโรงไฟฟ้า Temple I

เพื่อประโยชน์ในการควบคุมต้นทุนและเพิ่มกำไรจากการดำเนินงาน ขณะเดียวกันยังมองโอกาสการลงทุนเพิ่มใน 8 ประเทศที่ลงทุนอยู่แล้ว ส่วนการลงทุนในไทย อนาคตหากรัฐบาลเปิดให้เอกชนผลิตพลังงานอื่น ๆ ได้ก็ยินดีพิจารณา”

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ของปี 2565 คาดว่าจะรับรู้รายได้เพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชูง็อก (Chu Ngoc) กำลังผลิต 15 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์น็อนไห่ (Nhon Hai) กำลังผลิต 35 เมกะวัตต์ ประเทศเวียดนาม

เนื่องจากเสร็จสิ้นกระบวนการซื้อขาย รวมถึงมีโอกาสในการเพิ่มเมกะวัตต์จากการดำเนินธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป ตอบสนองนโยบายสนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของรัฐบาลท้องถิ่นในมณฑลเจิ้งติงประเทศจีน

นายกิรณกล่าวถึงรถไฟจีน-ลาว คือ นโยบายระดับประเทศของรัฐบาล ซึ่งทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่เพิ่มเข้ามา โดยรัฐบาลลาวเองได้กำหนดเรื่องของแผนพลังงานไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ลาว ซึ่งในส่วนของบ้านปูเพาเวอร์ที่มีการลงทุนโรงไฟฟ้าหงสา 1,800 เมกะวัตต์อยู่ โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งกลับมาขายไฟให้กับไทย

และที่เหลือขายไฟเข้าลาว 100 เมกะวัตต์ การที่บริษัทจะได้อานิสงส์จากโครงการรถไฟจีนครั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าแผน PDP ของรัฐบาลลาวจะจัดสรรปันส่วนพลังงานอย่างไร ใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใด ส่วนใด เท่าไร

“เรื่องค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลง ไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อการซื้อขายไฟ บริษัทลงทุนในหลายประเทศ มีหลายสกุลเงิน ลดความเสี่ยงในการบริหาร จึงเน้นการสร้างกระแสเงินสด ขณะที่โรงไฟฟ้าหงสาเองไปส่วนใหญ่ส่งมาที่ไทย ดังนั้นไม่ว่าค่าเงินจะเป็นกีบหรือบาท กระแสเงินที่เข้าออกมันถูกออกแบบมาให้เพียงพอและเหมาะสมแล้ว จึงเห็นได้จากพอร์ตงานของบริษัทที่มีสัดส่วนการลงทุน สัดส่วนของด้านการเงินดี”

สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 3,604 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มี EBITDA 5,083 ล้านบาท สะท้อนถึงความสามารถในการรักษาเสถียรภาพการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง รวมทั้งสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีกระแสเงินสดมั่นคง

และยังคงมุ่งขยายพอร์ตธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter สามารถลงทุนเพิ่มทั้งในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศเวียดนาม และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานในประเทศไทย รวมถึงตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีในสหรัฐอเมริกา ได้เพิ่มโอกาสในการทำกำไรให้บริษัทสูงขึ้น

24/8/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (24 สิงหาคม 2565)

Youtube Channel