info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.14.247.170

ตระกูล “พูลวรลักษณ์” บุก 7 โครงการใหญ่ สู่ไลฟ์สไตล์เทรนด์

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

จากประสบการณ์ 23 ปี ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของทายาทรุ่นที่ 2 ตระกูล “พูลวรลักษณ์” นับว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร

ยิ่งได้รับการบ่มเพาะและกรุยทางจากรุ่นพ่อ “จำเริญ พูลวรลักษณ์” แม่ทัพใหญ่ ในฐานะแลนด์ลอร์ดตระกูลเก่าที่เติบโตมาจากวิกตลาดพลูก็ยิ่งทำให้รุ่นลูกแข็งแกร่งขึ้น

แม้จะเติบโตแบบไม่หวือหวา แต่การดำเนินธุรกิจก็มีทิศทางชัดเจน ทั้งประเภทสินค้า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายระดับไฮเอนด์ และยึดทำเลในเมืองเป็นยุทธศาสตร์หลัก

จำนวน 28 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการตกผลึกในระดับหนึ่งของผู้บริหารค่ายนี้ที่จะเรียนรู้จุดอ่อน-จุดแข็ง หลังเผชิญกับวิกฤตอีกครั้งจากโรคระบาดโควิด-19 รวมทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย

“เพชรลดา พูลวรลักษณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อก่อนเราจะเรียกตัวเองว่า real estate developer เพราะ core business ของเราทำเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราเปลี่ยน positioning ตัวเอง จากการเป็นแค่ real estate developer มาเป็น lifescape developer

ซึ่งความหมายมี 2 มิติ ในมิติแรกคือ ธุรกิจหลักของกลุ่มเมเจอร์ฯคือ “อสังหาริมทรัพย์” แต่เราไม่ได้มองว่า เราเป็นแค่คนที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่เรามองลึกไปถึงผู้คนที่เข้าใจภูมิทัศน์ของการใช้ชีวิตจริง ๆ

เพราะฉะนั้น หลังประกาศปรับเปลี่ยนตัวเอง ทีมงานของบริษัทก็จะต้องปรับเปลี่ยน mindset ไปด้วย ทั้งต้องเข้าใจว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เราไม่ใช่ทำแค่ที่พักอาศัยเท่านั้น

นอกเหนือจากการก่อสร้างเสร็จแล้ว ขายได้แล้ว สิ่งสำคัญคือ เราต้อง “คิดใหม่” คิดหาจุดขายที่แตกต่าง และ “คิดออกแบบ” ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนแต่ละเซ็กเมนต์ ซึ่งเราต้องรู้ลึกรู้จริง

มิติที่ 2 หลังปรับโพซิชันนิ่งจากนักพัฒนาที่ดิน ก็ก้าวมาสู่การเป็น lifescape developer เพราะเราต้องการที่จะเปิดน่านน้ำใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ จะไม่ตีกรอบตัวเองแค่อสังหาริมทรัพย์อีกแล้ว

“อะไรที่เรามองว่าเป็น opportunity ก็คือเป็นเทรนด์ทั้งนั้น ซึ่งเมเจอร์ฯมีความพร้อมกับตลาดลูกค้าใหม่ อย่างน้อยก็เป็นการกระจายความเสี่ยง ยิ่งปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น Major Development ก็ต้องพร้อมรับมือกับสิ่งเหล่านี้และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ฉะนั้น 2 มิตินี้รวมกันก็คือความหมายของคำว่า lifescape developer นั่นเอง”

ฉะนั้น การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะยกระดับมิติการใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็น warrior mindset จะถูกปลูกฝังกับทีมงานทุกคน เพื่อมุ่งมั่นในการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับลักเซอรี่ แม้ต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เราก็จะไม่ทิ้ง passion และ DNA ของการเป็น best in class ทั้งด้านสินค้าและบริการ

“เราจะพัฒนาตัวเองให้เป็น future-proof company องค์กรที่มีพลวัตกับธุรกิจใหม่ ๆ เช่น กลยุทธ์ Major Petscape ที่ออกแบบโครงการเพื่อคนรักสัตว์ เน้น petscape design ภายในโครงการ ดีทั้งคุณภาพชีวิตและสุขลักษณะของสัตว์เลี้ยง โดยมีสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อให้คำปรึกษา”

“ส่วนตัวเป็นคนรักสัตว์และอยู่คอนโดฯอยู่แล้ว จึงเข้าใจอารมณ์เหล่านี้ พร้อมสร้างชุมชนคนรักสัตว์ หรือ pet community และมี petscape guide ข้อปฏิบัติที่ชัดเจนในการสร้างสมดุลให้ลูกบ้านที่เลี้ยงสัตว์และไม่ได้เลี้ยงสัตว์ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”

ที่ผ่านมา คอนโดฯของเมเจอร์ฯ ทุกโครงการก็ให้เลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่จะมาทางนี้ ฉะนั้น วัสดุ ฟังก์ชั่นในคอนโดฯ จะถูกซัพพอร์ตให้สอดรับกับนโยบาย

ทั้งเป็น “จุดเปลี่ยน” สู่นิวโมเดลและบริษัทใหม่ ๆ อย่าง healthscape techscape และ petscape พร้อมลงทุนโรงแรม ออฟฟิศบิลดิ้ง และ property management

“เพชรลดา” ย้ำว่า บริษัทให้น้ำหนักเรื่องการบริหารความเสี่ยงมาก ๆ แม้โอกาสจะมีมากมายในโลกนี้ แต่ความพร้อมของตัวเราเองสำคัญที่สุด จังหวะไหนควรทำและทำแค่ไหน เราต้องมองทะลุ จะกระโจนเข้าหาหมดก็ไม่ได้

“เมเจอร์ฯเกิดมาในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเราไปขอกู้เงินแบงก์ก็ไม่ให้ ลำบากมาก กว่าเราจะมาถึงจุดนี้ เรารู้ดีว่าวิกฤตคืออะไร และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จะคิดก่อนทำเสมอ”

ยิ่งยุคนี้เป็น “วิกฤตซ้อนวิกฤต” โควิดว่าแย่แล้ว มีสงครามเกิดขึ้นอีก จึงเป็นวิกฤตของโลก ผลกระทบมีแน่ แล้วสงครามก็ไม่มีวี่แววว่าจะลงเอยยังไง จะ 5 วัน 10 วันจบก็ไม่ใช่ เลยอึดอัด ดูจะขยายวงหลายมิติ ถือเป็นวิกฤตที่หนักมากที่สุดตั้งแต่เคยมีมา และน่าจะลากยาวกว่าครั้งอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม เมเจอร์ฯมีแผนลงทุนครั้งใหญ่ในปลายปีหน้าโดยจะปล่อยโครงการใหม่ 7-10 โครงการ เพราะดูบริบทของเศรษฐกิจแล้ว สถานการณ์คงประมาณนี้ เราคาดว่าปี 2566 ประมาณไตรมาส 4 ทุกอย่างจะเริ่มกลับมาเป็นบวก “อะไรจะเกิดก็เกิดไป แต่ขอให้รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นก็จะดีกับนักธุรกิจ ไม่งั้นบรรยากาศเสีย เพราะความแน่นอนคือความไม่แน่นอน”

สำหรับภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ เธอมองว่า ในเมืองไทย ถ้าโฟกัสเฉพาะกรุงเทพฯ ตลาดยังเติบโตได้อีกมาก ต้องบอกว่า ตระกูลเรา ตอนแรกทำโรงหนัง เหตุผลที่มาทำอสังหาฯเพราะเป็นปัจจัย 4 เพียงแต่ต้องดูจังหวะ

แต่เมเจอร์ฯเน้นเรื่องคุณภาพ และเจาะเซ็กเมนต์ระดับบน ตลาดรวม ๆ จึงถือว่าพอไปได้ ถ้าไม่ประมาท

8/9/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (8 กันยายน 2565)

Youtube Channel