info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.218.183.207

อัคราพร้อมเปิดเหมืองปี 2566 ใบอนุญาตครบจับมือ PMR สกัดทองคำ

Oil & Gas News / ข่าวหมวดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

อัครา รีซอร์สเซส ดีเดย์กลับมาทำเหมืองทองคำชาตรีต้นปี 2566 หลังได้คืนใบอนุญาตต่ออายุสัมปทาน-อาชญาบัตรสำรวจแร่-โรงโลหะกรรม ครบถ้วน พร้อมจับมือ “รีฟายนิ่งโลหะมีค่า (PMR)” ทำการแปรรูปสกัดก้อนแร่ให้ออกมาเป็นทองคำ ส่งต่อให้ “ออสสิริส” แปรรูปเป็นทองรูปพรรณ หวังบูมไทยเป็นผู้ผลิต-ค้าทองคำครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้ว่า คณะอนุญาโตตุลาการ จะเลื่อนการออกคำชี้ขาดกรณีข้อพิพาทระหว่าง ราชอาณาจักรไทย กับบริษัท Kingsgate Consolidated Limited บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำชาตรี (Chatree Gold Mine) พื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดพิจิตรกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อเปิดโอกาสให้ รัฐบาลไทย กับบริษัท Kingsgate ดำเนินการเจรจาแบบคู่ขนานเพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมด

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ก็ได้กลับมาพิจารณาให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ การคืนประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ และพิจารณาคำขอต่ออายุประทานบัตรของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งถูกคำสั่ง คสช.ที่ 72/2559 ให้ “ระงับ” การดำเนินการทั้งหมดไปตั้งแต่ปี 2560 กลับคืนมายังบริษัท อัคราฯ อีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า คำขอต่ออายุประทานบัตรทั้งหมดเป็นคำขอที่ บมจ.อัคราฯได้ยื่นไว้ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 และ พ.ร.บ.แร่ 2560 ในพื้นที่ประทานบัตรเดิม และต่อมาได้ยื่นเอกสารประกอบคำขอเพิ่มเติมตามที่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ (2560) มีผลตั้งแต่ปลายปี 2564

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า บริษัท อัครา รีซอร์สเซส กำลังอยู่ระหว่างซ่อมบำรุงโรงงานและเครื่องจักรที่เหมืองทองคำชาตรี คาดว่าจะเริ่มทำเหมืองแร่ได้ในต้นปี 2566 โดยคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ การต่ออายุประทานบัตร รวมถึงโรงโลหะกรรม ได้รับ “ใบอนุญาต” ถูกต้องตามขั้นตอนจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่บริษัท อัคราฯ ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขการกลับมาทำเหมืองภายใต้ พ.ร.บ.แร่ (ฉบับใหม่) 2560 ครบทุกขั้นตอน

นอกจากนี้ บริษัท อัคราฯยังจับมือกับบริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด (Precious Metal Reining Company Limited หรือ PMR) บริษัทไทยที่ดำเนินธุรกิจแปรรูปแร่ทองคำและเงิน ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี พร้อมที่จะดำเนินการแปรรูปทองคำและเงินที่ผลิตจากเหมืองแร่ทองคำชาตรี ถือเป็นการดำเนินการครบวงจรตั้งแต่การทำเหมืองจนกระทั่งถึงการแปรรูปเป็นทองคำและเงิน และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าในตลาดทองคำของประเทศไทยอีกด้วย

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายประสานงานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือกับ บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า (PMR) ว่า PMR จะเป็นผู้สกัดสินแร่คงค้างในสายการผลิตของบริษัท อัคราฯ จากเดิมที่ต้องส่งออก “แท่งโดเร่” ไปสกัดและแปรรูปเป็นทองคำและเงินบริสุทธิ์ 99.99% ตามมาตรฐานสากลที่ต่างประเทศ

โดยความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับพันธกิจหลักของบริษัท อัคราฯ ที่ต้องการร่วมพัฒนาศักยภาพการผลิตทองคำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตทองคำครบวงจร นอกจากนี้ บริษัท อัคราฯยังแสวงหาความร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมทองคำโดยเฉพาะ บริษัทแปรรูปและสกัดทองคำเพิ่มเติม ช่วยลดการนำเข้าทองคำ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางการผลิตและการค้าทองคำครบวงจร แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“นี่จะเป็นงานแรกของ PMR ที่จะมาสกัดสินแร่ที่เป็นต้นน้ำ จากเดิมที่โรงงานนี้แปรรูปและสกัดเศษโลหะมีค่าจากกระบวนการผลิตเครื่องประดับและโลหะมีค่ารูปพรรณเก่าจากธุรกิจปลายน้ำ โดยอัคราฯจะเป็นผู้ผลิตและส่งต่อทองคำในรูปแบบแท่งโดเร่ให้ PMR ทำการแปรรูปและสกัดออกมาเป็นทองและเงินด้วยกระบวนการตามมาตรฐานสากล แล้วจึงส่งทองต่อไปให้กับบริษัท ออสสิริส จำกัด แปรรูปเป็นทองคำรูปพรรณต่อไป” นายเชิดศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ ตามกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำ 2560 และ พ.ร.บ.แร่ 2560 กำหนดให้มีการจัดตั้ง “กองทุน” มีทั้งแบบบังคับและสมัครใจ โดยแบบบังคับมีจำนวน 4 กองทุน คือ กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่, กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่, กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ และกองทุนประกันความเสี่ยง โดยบริษัท อัคราฯต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนในอัตรา 21% ของค่าภาคหลวงแร่ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาทต่อปี

ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัท อัคราฯ มีการตั้งกองทุน (ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ ฉบับเดิม) มาตั้งแต่ปี 2551 สิ้นสุด 2558 เนื่องจากในปี 2559 บริษัทถูกคำสั่ง คสช.ที่ 72/2559 ให้ “ระงับ” การดำเนินการทำเหมืองทองคำทั้งหมด โดยตั้งแต่ปี 2551-2558 มีการตั้ง 1) กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน สำหรับหมู่บ้านหนองแสง, หมู่บ้านดงหลง, หมู่บ้านนิคม, หมู่บ้านเขาดิน รวม 10 ล้านบาท 2) กองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ปีละ 10 ล้านบาท ตลอด 8 ปี รวม 80 ล้านบาท 3) กองทุนอัคราเพื่อชุมชนปีละ 15 ล้านบาท ตลอด 3 ปี รวม 45 ล้านบาท 4) กองทุนพัฒนาตำบลเขาเจ็ดลูก 10 ปี รวม 35 ล้านบาท และ 5) กองทุนพัฒนาตำบลท้ายดง 10 ปี รวม 37.5 ล้านบาท รวมเงินสมทบเข้ากองทุนไปแล้วทั้งหมด 207.5 ล้านบาท สำหรับเงินสมทบก้อนใหม่ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ 2560 จะเริ่มเก็บตามกำหนด หลังจากที่บริษัท อัคราฯ กลับมาประกอบกิจการทำเหมืองแร่ในปี 2566 เป็นต้นไป

ส่วนกรณีมีรายงานข่าวเข้ามาว่า บริษัท อัคราฯจะดำเนินการขออาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจแร่ทองคำเพิ่มเติมนั้น นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า บริษัทที่ได้อาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจแร่ทุกประเภทมีสิทธิที่จะยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ได้เช่นเดียวกับอัคราฯ ถ้าเห็นว่าพื้นที่ใดมีศักยภาพสามารถยื่นขอได้ทั้งสำรวจและขุด แต่การที่จะอนุญาตหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ คณะกรรมการแร่ และนโยบายทองคำของประเทศ แต่ที่สำคัญคือ การดำเนินตาม พ.ร.บ.แร่ (ฉบับใหม่) 2560

29/9/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (25 กันยายน 2565)

Youtube Channel