คณะกรรมการพิจารณาแนวทางบริหารจัดโรงฆ่าสัตว์ กทม. ชงหาเอกชนร่วมลงทุน หากไม่มีเตรียมยุบโรงฆ่าสัตว์ เปลี่ยนการใช้ประโยชน์พื้นที่
วันที่ 19 ตุลาคม 2565 รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางบริหารจัดการโรงฆ่าสัตว์กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3/2565
ในที่ประชุมสำนักอนามัยได้รายงานการให้ข้อคิดเห็นด้านวิชาการ พิจารณาความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการโรงฆ่าสัตว์ ของสถาบันการศึกษา กรมปศุสัตว์ รวมทั้งผู้ประกอบการและสมาคมที่เกี่ยวข้องกับโรงฆ่าสัตว์ โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรสอบถามความสนใจและความเป็นไปได้ในการลงทุนของบริษัทเอกชน หาก กทม. จะเปิดให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งหากมีบริษัทที่สนใจ กทม. จะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางในการบริหารจัดการโรงฆ่าสัตว์ กทม. ในปีปัจจุบัน และรูปแบบการปรับปรุงแก้ไขพื้นที่ทั้งหมดในการใช้ประโยชน์อื่นจากโรงฆ่าสัตว์ กทม. หากกรณีผู้ศึกษาทำการศึกษาแล้วพบว่าไม่สามารถบริหารโรงฆ่าสัตว์ได้แล้ว จะต้องมีข้อเสนอด้วยว่าจะให้ กทม. นำไปใช้ประโยชน์อย่างไร
ทั้งนี้ มติที่ประชุมมีความเห็นว่า จากข้อมูลที่ กทม. มีทั้งหมด รวมทั้งความเห็นจากสถาบันการศึกษา กรมปศุสัตว์ ผู้ประกอบการและสมาคมที่เกี่ยวข้องกับโรงฆ่าสัตว์ เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การที่ภาครัฐลงทุนเองนั้นไม่เกิดความคุ้มค่า ประกอบกับสำนักอนามัยไม่มีบุคลากรและทรัพยากรในการดำเนินงานด้านนี้ ทั้งนี้ ในความเห็นจากสมาคมที่เกี่ยวข้องกับโรงฆ่าสัตว์และบริษัทเอกชน อาจจะยังมีความสามารถในการลงทุน
จึงขอให้สอบถามไปยังบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องว่า หาก กทม. จะดำเนินการให้มีการลงทุนโดยภาคเอกชนในรูปแบบความร่วมมือ หรือเอกชนเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ภาคเอกชนจะมีความสนใจมากน้อยแค่ไหน โดยให้ทางสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ดำเนินการศึกษารูปแบบในการศึกษา
โดยหากมีผู้สนใจให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับ กทม. มากที่สุด รวมถึงการดำเนินการโรงฆ่าสัตว์จะเป็นรูปแบบใด กรณีไม่มีผู้สนใจ และ/หรือไม่สามารถทำให้ กทม. ได้ประโยชน์จากการศึกษาดังกล่าวนั้น จะต้องเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้ไปเป็นอย่างไร โดยให้มีการศึกษาในเชิงลึกเพื่อให้ได้คำตอบด้วย
19/10/2565 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (19 ตุลาคม 2565)