info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.133.149.244

LWS ส่องเทรนด์อสังหา พลังงาน-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ มาแรงปี 2566

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

“LWS-ลุมพินี วิสดอม” ระบุหลังยุคโควิด “พลังงาน-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ” เป็นสินค้าที่มาแรงในปี 2566 เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ในภาวะราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 23 ธันวาคม 2565 นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS) บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มการพัฒนาสินค้าและบริการในปี 2566 หลังยุคโควิด และสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ในปี 2565 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป

โดยเฉพาะผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน คุณภาพสิ่งแวดล้อม และสร้างเสริมสุขอนามัยที่ดี กลายเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นมาตรฐานใหม่ (New Standard) ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อที่เปลี่ยนแปลงไป

“ในอดีตเมื่อพูดถึงที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างเสริมสุขอนามัยที่ดี เป็นเรื่องที่ดูเหมือนไกลตัว ผู้ซื้อไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือให้ความสำคัญน้อย เพราะคิดว่าต้องจ่ายแพงขึ้น ยังไม่จำเป็น แต่หลังสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 2563 เรื่องของสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย รวมไปถึงงานบริการ”

นอกจากนี้ ในปี 2565 สงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบต่อราคาพลังงานสูงขึ้น ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ซื้อบ้านเริ่มให้ความสำคัญกับการซื้อที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน และพลังงานทางเลือกมากขึ้น เป็นโจทย์สำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯ ในปี 2566” นายประพันธ์ศักดิ์กล่าว

สำหรับกลยุทธ์พัฒนาที่อยู่อาศัยและงานบริการหลังการขายมี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.ด้านพลังงาน ผู้ประกอบการมีแนวโน้มคำนึงถึงการประหยัดพลังงานมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การออกแบบโดยคำนึงถึงทิศทางการวางผังอาคารที่เรียกว่า Passive Design และการประหยัดพลังงานในรูปแบบของการใช้อุปกรณ์ หรือ Active Design เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าภายในบ้าน

รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างที่ช่วยในการประหยัดพลังงาน การติดตั้งระบบระบายความร้อนบนหลังคา ร่วมกับการติดฉนวนกันความร้อน การติดตั้ง EV Charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การติดตั้ง Energy Monitoring สำหรับเช็กการใช้พลังงานภายในบ้าน เป็นต้น

อุปกรณ์เหล่านี้กำลังจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของที่อยู่อาศัยในปี 2566 และในอนาคต

2.ด้านสิ่งแวดล้อม จากงานวิจัยของ Baramizi Lab พบว่าผู้บริโภคชาวไทยชอบอยู่กับธรรมชาติ 85.2% ทำให้การออกแบบที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่สีเขียวสามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้ซื้อได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ คำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่น เลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ในการสร้างพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ถนน ทางเท้าในโครงการ รวมไปถึงการพัฒนางานบริการแยกขยะและการจัดเก็บ

3.ด้านสุขภาพ นอกจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่คำนึงถึงสุขอนามัยที่ดีแล้ว สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการอยู่อาศัย เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ต้องคำนึงถึงสุขอนามัยที่ดีเช่นกัน

เช่น งานบริการตกแต่งบ้านแบบ Fit-in จาก 10DK ที่มีแนวคิดการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ลดการใช้สารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้สารเคลือบและสีแบบสารระเหยต่ำ (Low VOCs) ปลอดภัยต่อผู้พักอาศัย นอกจากนี้ มีการเลือกวัสดุจากธรรมชาติเป็นหลัก ใช้ผลิตภัณฑ์จากชุมชน และไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง การสร้างรายได้ให้ชุมชนโดยใช้ช่างฝีมือชุมชน

บริการดังกล่าวจะมีค่าบริการเริ่มต้น 200,000 บาท ซึ่งอนาคตหากเกิดการแข่งขันทางธุรกิจที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากขึ้น จะส่งผลให้ราคาการให้บริการในตลาดต่ำลงจนทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการที่เกี่ยวกับบ้านที่ดีต่อสุขภาพคนอยู่ได้มากขึ้น

“การประหยัดพลังงาน สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัย ไม่ได้เป็นแนวโน้มเฉพาะที่อยู่อาศัยในปี 2566 เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ทุกระดับ ทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงหนัง โกดังสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม”

ทั้งนี้ มีการนำเกณฑ์ต่าง ๆ มาเป็นดัชนีชี้วัดในการก่อสร้างและปรับปรุงอาคาร เช่น มาตรฐาน LEED-Leadership in Energy and Environment Design, WELL Building Standard มาตรฐานทางสุขภาวะระดับสากลที่ประเมินอาคาร 7 ข้อ ได้แก่ อากาศ น้ำ สาธารณูปโภค แสง การออกกำลังกาย สภาพแวดล้อม และจิตใจ, EDGE ระบบอาคารพักอาศัยและอาคารพาณิชย์สีเขียว สร้างขึ้นโดยบริษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) เพื่อส่งเสริมโครงการอาคารเขียวในประเทศที่กำลังพัฒนาโดยใช้ระบบการให้คะแนนที่เรียบง่าย เป็นต้น

จากผลสำรวจเมื่อปี 2560 ของ Statista บริษัทวิจัยจากประเทศเยอรมนี พบว่านักท่องเที่ยว 19% ยอมเสียค่าบริการเพิ่มขึ้นในการเข้าพักโรงแรมที่ได้รับรอง Green Hotel ซึ่งในประเทศไทยก็มีโครงการของภาครัฐที่ทำโรงแรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน

โดยโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมี 5 ปัจจัยหลักคือ

ส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ

มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี

ยกระดับมาตรฐานการบริการ

ขยายเครือข่ายโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับมาตรการการจัดซื้อ จัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เตรียมความพร้อมสู่การประเมินมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในระดับสากล อันจะทำให้เกิดการพัฒนา และส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศอย่างยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป

“เทรนด์ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยที่ดี มีเป้าหมายนำไปสู่การพัฒนาเพื่อเป็นเมืองแห่งความยั่งยืน (Sustainable city) ในปี 2573 ตามที่ประเทศไทยและประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศ ได้ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030” นายประพันธ์ศักดิ์กล่าว

22/12/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (22 ธันวาคม 2565)

Youtube Channel