info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.222.118.236

อัพเดต 23 ปี รถไฟฟ้าหลากสี 211 กิโลเมตรเชื่อม กทม.-ปริมณฑล

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

เป็นเวลา 23 ปีเต็มที่คนกรุงเทพฯ มีบริการรถไฟฟ้าให้ใช้สัญจรในการเดินทาง

ถือเป็นการเพิ่มช่องทางการคมนาคมที่ทำให้ผู้โดยสารเปลี่ยนจากการโดยสารยานพาหนะบนท้องถนน มาเป็นการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางมากขึ้น

โดย “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ประเมินว่า ส่วนแบ่งการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มีการเติบโตต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจาก 13% ในปี 2560 เป็น 33% ในปี 2565 และคาดว่าเส้นกราฟจะเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงปี 2585

ทั้งนี้ สนข.ได้กำหนด “M-Map-แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล” ระยะเวลา 20 ปี (2553-2572) จะมีโครงการรถไฟฟ้า 14 สี ครอบคุลม 553.4 กิโลเมตร จำนวนรวม 362 สถานี แต่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกำหนดให้มีนโยบายเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้า 10 สายหลัก จากทั้งหมด 14 สี รวมระยะทาง 464 กิโลเมตร

ปัจจุบันระบบรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการใน กทม.-ปริมณฑลครอบคลุม มีระยะทางรวม 210.94 กิโลเมตร จำนวน 11 เส้นทาง หลังจากเปิดให้บริการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสเส้นทางแรก “สุขุมวิท-หมอชิต-อ่อนนุช” และ “สายสีลม สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน” ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร มาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2542 ก่อนจะขยับขยายเส้นทางรถไฟฟ้าเชื่อมต่อไปยังจังหวัดปริมณฑล ทั้งสมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี ในเวลาต่อมา

โดยมีผู้ให้บริการหลัก 4 ราย คือ “บีทีเอสซี” ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีทอง, “BEM-บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)” ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง, “รฟฟท.-บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง

และ “บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด” ของกลุ่ม ซี.พี. ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ซึ่งรับโอนกิจการจากการรถไฟฯ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 เพื่อรวมเส้นทางสายนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

สายสีเขียววิ่ง 70 กิโลเมตร

ในส่วนของบีทีเอสซี เปิดให้บริการรถไฟฟ้า 70.1 กิโลเมตร เชื่อมต่อ 3 จังหวัด “กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ-ปทุมธานี” ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีเขียว 23.5 กิโลเมตร 24 สถานี คือ สายสีเขียวเข้ม บางครั้งก็เรียกว่า “สุขุมวิทไลน์” เส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช กับสายสีเขียวอ่อน (สายสีลม) สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน

และส่วนต่อขยายสายสีเขียว 1 อ่อนนุช-แบริ่ง กับสะพานตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 12.75 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี

ทั้งยังเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 กรุงธนบุรี-คลองสาน 1.8 กิโลเมตร จำนวน 3 สถานี ป้อนคนในเมืองเข้าสู่ไอคอนสยาม อาณาจักรศูนย์การค้าและแหล่งไลฟ์สไตล์ริมเจ้าพระยา

รวมถึงส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2 แบริ่ง-เคหะฯ และหมอชิต-คูคต 32 กิโลเมตร จำนวน 25 สถานี ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 เส้นทางนี้เปิดให้บริการฟรีนานกว่า 3 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า กทม.จะเริ่มเก็บค่าโดยสารในอัตรา 14-44 บาท แต่ถึงที่สุดทุกอย่างก็ยังนิ่งอยู่ที่เดิม ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 เส้นทางก็ยังคงนั่งฟรี ไม่มีการคิดค่าบริการแต่อย่างใด

ขณะที่กลุ่มบีทีเอสได้ออกมาทวงหนี้จากการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจาก กทม.ที่ค้างจ่ายวงเงิน 40,000 ล้านบาท

น้ำเงิน-ม่วง-แดง-แอร์พอร์ตลิงก์

ขณะที่กลุ่ม BEM เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 48 กิโลเมตร 38 สถานี ประกอบด้วย 1.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางซื่อ กับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-หลักสอง และบางซื่อ-ท่าพระ 2.รถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-คลองบางไผ่ 23 กิโลเมตร 16 สถานี เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯกับนนทบุรี

ส่วนบริษัท เอเชีย เอรา วัน เปิดให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ 28.5 กิโลเมตร 8 สถานี เชื่อมต่อกรุงเทพฯ ที่สถานีมักกะสันกับสมุทรปราการ ที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ

และ ร.ฟ.ท.ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต 26.3 กิโลเมตร 8 สถานี เชื่อมต่อกรุงเทพฯกับปทุมธานี และรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี

2566 เปิดบริการ “ชมพู-เหลือง”

ทั้งนี้ ตามไทม์ไลน์ในช่วง 1-5 ปีหน้า คนกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการเพิ่มอีก 5 เส้นทาง รวมระยะทาง 114 กิโลเมตร แบ่งเป็นปี 2566 เปิดบริการรถไฟฟ้า 2 สี ได้แก่ “สายสีเหลือง” ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.40 กิโลเมตร 23 สถานี กับ “สายสีชมพู” แคราย-มีนบุรี 34.50 กิโลเมตร 30 สถานี

ทั้งสองโครงการนี้เตรียมเปิดให้บริการเป็นทางการในช่วงกลางปี 2566 หลังจากงานก่อสร้างคืบหน้าเกิน 90%

เจาะรายละเอียด “สายสีเหลือง” งานก่อสร้างโดยรวมคืบหน้าไปแล้ว 97.73% ออกแบบเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือโมโนเรล แบบคร่อมราง มีจุดเริ่มต้นจากบริเวณแยกรัชดา ลาดพร้าว วิ่งไปตามถนนลาดพร้าว บางกะปิ ศรีนครินทร์ ศรีเอี่ยม เทพารักษ์ ก่อนจะไปสิ้นสุดที่สำโรง

ไฮไลต์สายสีเหลืองมี 3 จุดตัดรถไฟฟ้าด้วยกัน ได้แก่ 1.สถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่จุดแยกรัชดา-ลาดพร้าว 2.เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จุดแยกลำสาลี และ 3.เชื่อมต่อกับสายสีเขียวที่สถานีสำโรง

ส่วนสายสีชมพู งานก่อสร้างโดยรวมคืบหน้าไปแล้ว 94% ออกแบบเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว โครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเขตมีนบุรีและจังหวัดนนทบุรี แนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนรัตนาธิเบศร์ที่ศูนย์ราชการนนทบุรี และแยกแคราย ถนนติวานนท์ แยกปากเกร็ด ถนนแจ้งวัฒนะ แยกหลักสี่ ถนนรามอินทรา แยกมีนบุรี ถนนสุขาภิบาล ไปสิ้นสุดโครงการที่ทางแยกร่มเกล้า

ไฮไลต์สายสีชมพูมี 4 จุดตัดรถไฟฟ้า ได้แก่ 1.เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี 2.จุดตัดรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ 3.จุดตัดสถานีวัดพระศรีมหาธาตุเป็นสถานีเชื่อมต่อ (Interchange Station) เพื่อเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่ และ 4.จุดตัดรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตลิ่งชัน-มีนบุรี ที่สถานีมีนบุรี

อีก 3 สายที่กำลังดำเนินการก่อสร้างคือ ส่วนต่อขยายสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี รถไฟฟ้าสายสีชมพู 3 กิโลเมตร ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 งานก่อสร้างคืบหน้า 4.05%

ส่วนสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 22.50 กิโลเมตร งานก่อสร้างโยธาคืบหน้า 98.48% และสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) 17 สถานี 23.60 กิโลเมตร งานโยธาคืบหน้า 4.30%

ราคาที่ดินเปล่าขยับพรึ่บพรั่บ

“ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์” ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. หรือ REIC กล่าวว่า ราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ณ ไตรมาส 3/65 มีค่าดัชนีเท่ากับ 368.8 จุด เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/65 และเพิ่มขึ้น 10.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/64

สะท้อนให้เห็นว่ายังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่เป็นการปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี (2558-2562) ก่อนเกิดวิกฤตโควิด โดยมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14.8% ต่อไตรมาสเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/64 และเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.1% จากไตรมาส 2/65 จากปัจจัยความคืบหน้าด้านการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ

โดยราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแนวรถไฟฟ้า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/64 ส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่มีแผนจะพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในอนาคต ประกอบด้วย

1.รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) เปิดบริการตั้งแต่ปี 2559 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/64 โดยเฉพาะราคาที่ดินใน “อำเภอเมืองนนทบุรี-อำเภอบางบัวทอง” ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด

2.รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 5.8% โดยเฉพาะในเขต “หลักสี่-คันนายาว”

3.รถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 5.2% โดยปรับเพิ่มขึ้นมากอยู่ในเขต “จตุจักร-บางนา-พญาไท-พระโขนง”

4.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้น 4.7% โดยปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดในเขต “บางพลี-ประเวศ-เมืองสมุทรปราการ”

5.รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) แม้เป็นแผนโครงการบนกระดาษ แต่ก็มีการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 4.4% ราคาเพิ่มสูงสุดอยู่ในพื้นที่ “อำเภอเมืองนนทบุรี-เขตหลักสี่”

รถไฟเชื่อม 3 สนามบินยังนิ่ง

“อาทิตยา เกษมลาวัณย์” หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัยกรุงเทพฯ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CBRE กล่าวว่า องค์ประกอบในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองไทยของชาวต่างชาติสำหรับซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง จะให้ความสำคัญเรื่องความสะดวกสบายในการเดินทาง

ซึ่งประเทศไทยตอบโจทย์การอยู่อาศัยมาก เพราะมีสนามบินนานาชาติถึง 6 สนามบิน และมีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการเชื่อมต่อครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จากเดิมที่เปิดให้บริการเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้สัดส่วนของราคาคอนโดมิเนียมในเมืองสูงตามต้นทุนราคาที่ดิน

ทั้งนี้ เมื่อมีการกระจายทำเลการเดินทางออกไปพื้นที่รอบนอก แต่ราคาที่ดินถูกกว่าเมื่อเทียบกับย่านในเมือง ทำให้ราคาคอนโดฯตามแนวรถไฟฟ้าสายใหม่มีราคาย่อมเยาตามไปด้วย กลายเป็นตัวช่วยดึงดูดให้ลูกค้าต่างชาติที่สามารถซื้อได้ถูกต้องตามกฎหมายในสัดส่วน 49% หรือโควตา 49% และมีงบประมาณหลากหลาย สามารถเข้ามาหาซื้อคอนโดฯในเมืองไทยได้มากขึ้น

จุดโฟกัสในช่วงกลางปี 2566 จะมีรถไฟฟ้า 2 สายเปิดให้บริการ คือ “สายสีเหลือง” ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30 กิโลเมตร 23 สถานี กับ “สายสีชมพู” แคราย-มีนบุรี 35 กิโลเมตร 30 สถานี

ล่าสุดอยู่ระหว่างทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 เป็นเวลา 3 เดือน คาดว่าจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางทั้ง 2 สายภายในกลางปี 2566

ส่วนอภิโปรเจ็กต์ “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” ได้แก่ สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง ระยะทาง 220 กิโลเมตร แนวเส้นทางวิ่งผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด “กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ-ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา” จำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา

ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มลงมือก่อสร้าง ตามแผนจะเปิดให้บริการในปี 2569 ล่าสุดขยายเวลาออกไปเป็นปี 2572 เนื่องจากการเจรจาลงลึกรายละเอียดระหว่างภาครัฐและเอกชนยังไม่ได้ข้อยุติ

31/12/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 31 ธันวาคม 2565)

Youtube Channel