รองผู้ว่า กทม. ลั่นขอเวลา 6 เดือนให้ กทม. สว่าง ทุ่ม 315 ล้านจัดซื้อชุดหลอดไฟคุณสมบัติสูง LED-IoT
วันที่ 16 มกราคม 2566 เรื่องปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างดูจะไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ สำหรับกรุงเทพมหานครในยุคผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มีชื่อว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เนื่องจากมีการกระทุ้งจากหลายฝ่ายทั้งในสภากรุงเทพมหานคร ผ่านญัตติของนางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก. เขตบางซื่อ พรรคก้าวไกล และเพื่อน ส.ก. อีกหลายคนเรียงหน้าอัดเป็นชุด และใน Traffy Fondue เครื่องมือปฏิวัติวิธีการทำงานของกรุงเทพมหานครของผู้ว่าชัชชาติ
ที่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าส่องสว่างถูกแจ้งเข้ามารวมเกือบ ๆ จะ 1.6 หมื่นครั้ง ทำให้ในปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค. 65-30 ก.ย. 66) กรุงเทพมหานครจัดสรรงบรวมกว่า 315 ล้านบาท มุ่งแก้ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่าง
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำหรับเรื่องไฟฟ้าส่องสว่างนั้นก่อนมีพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2560 กทม. มีบันทึกข้อตกลงร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้ กฟน. ซ่อมแซมไฟฟ้าที่ชำรุดก่อนแล้วทำเรื่องเบิกจ่ายกับ กทม. ทีหลัง
แต่หลังจากกฎหมายฉบับใหม่ (พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2560) ออกมา กทม. ไม่สามารถดำเนินการรูปแบบเดิมได้อีก ทำให้ต้องรอระยะเวลาจัดซื้อจัดจ้างตามปกติ
ด้วยความล่าช้านี้ในปีงบประมาณ 2566 กทม. จึงจัดสรรงบประมาณกว่า 315 ล้านบาท มีชุดไฟส่องสว่างกว่า 2.5 หมื่นชุดใน 7 สัญญาเพื่อมุ่งปรับปรุงเรื่องนี้โดยเฉพาะ สอดคล้องกับ 1 ใน 216 นโยบายของผู้ว่า คือนโยบาย กรุงเทพฯ ต้องสว่าง
ขณะนี้ กทม.ได้ทำการเซ็นสัญญา 1 สัญญาจาก 7 สัญญาแล้ว ขณะที่สัญญาที่เหลืออยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
นายวิศณุยังเล่าต่ออีกว่าเนื่องจากหลอดไฟที่มีการจัดซื้อมานั้นเป็นประเภท LED ซึ่งต่างจากหลอดแบบเดิมที่เป็นประเภท HPS (High Pressure Sodium) จะต้องมีกระบวนการในการเปลี่ยนหลอดไฟ
โดยขณะนี้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตอยู่ระหว่างการสำรวจ 2 ประการ คือ 1.สำรวจหลอดไฟที่ชำรุดเสียหาย 2.จัดลำดับความสำคัญของการเปลี่ยนหลอดไฟเป็นประเภท LED
โดยนายวิศณุยกัวอย่างว่า สมมติถนน 1 สายทางมีไฟส่องสว่าง 40 ชุด เสียไป 10 ชุด หากนำ LED ไปเปลี่ยนแค่จุดที่มีการชำรุดจะเกิดปัญเรื่องความไม่สว่างที่ไม่สม่ำเสมอได้ จึงต้องเป็นการเปลี่ยนทั้งเส้นทาง
ลำดับต่อมาเมื่อมีหลอดไฟประมาณ 30 ชุดที่ยังไม่มีการชำรุดจะดำเนินการอย่างไร นายวิศณุกล่าวว่าสำหรับหลอดไฟอีก 30 ชุดจะมีการนำไปสับเปลี่ยนกับหลอดไฟที่ชำรุดในเส้นทางอื่นต่อไป ซึ่งเบื้องต้นได้มีโควตาเขตละ 400 ชุดสำหรับหลอด LED ซึ่งหลังจากนี้หากเกิดปัญหาหลอดไฟชำรุดเพิ่มเติม กทม. ได้เตรียมการเบิกจ่ายสำหรับงบกลางไว้แล้วด้วย
สำหรับชุดหลอดไฟกว่า 2.5 หมื่นชุดนี้ นอกจากจะเป็นหลอดไฟประเภท LED แล้ว ยังเป็นหลอดที่มีระบบ IoT ซึ่งจะช่วยในการจัดเก็บข้อมูล เช่น มีการชำรุดที่จุดไหน ไฟฟ้าดับนานเท่าไร และการควบคุมดูแล เช่นการกำหนดค่าความสว่างให้เหมาะสมกับช่วงเวลาเป็นต้น
ขณะนี้ชุดหลอดไฟอยู่ระหว่างการจัดซื้อและตรวจสอบว่าตรงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้หรือไม่ ขอให้ประชาชนชาว กทม. อดใจรออีกนิด ภายใน 6 เดือนนี้ กทม. จะต้องสว่าง นายวิศณุกล่าว
16/1/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 16 มกราคม 2566 )