ยิ่งวิกฤตยิ่งโต แสนสิริ ลงทุนใหม่บ้าน-คอนโดฯ 52 โครงการ 75,000 ล้าน ตั้งเป้ากำไร-รายได้ all time high ฟื้นตลาดอาคารชุด 22 โครงการทั่วไทย เจาะลูกค้าต่างชาติ 12,000 ล้าน เติมซัพพลาย 6 จังหวัด หัวหิน-ภูเก็ต-เชียงใหม่-หาดใหญ่-ขอนแก่น-ชลบุรี เปิดศึกตลาดบ้านหรู 20 ล้าน แข่ง โนเบิล-ศุภาลัย-แลนด์-เฟรเซอร์สโฮม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต้นปี 2566 เป็นช่วงฤดูกาลประกาศแผนลงทุนใหม่ ข้อมูล ณ 1 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า ค่ายแสนสิริวางแผนพัฒนาโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมสูงสุดอยู่ที่ 52 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 75,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการต่อยอดจากความสำเร็จที่มีผลประกอบการในปี 2565 โดดเด่นทั้งตัวเลขยอดขายรวม 50,000 ล้านบาท (ยอดขายบ้านแนวราบ 68% คอนโดฯ 32%) คิดเป็นอัตราเติบโต 50% เทียบกับปี 2564 และมียอดรับรู้รายได้หรือยอดโอน 36,800 ล้านบาท เติบโต 13% (ยอดโอนบ้านแนวราบ 60% คอนโดฯ 40%)
ไฮไลต์อยู่ที่ปี 2566 แสนสิริปลุกความเชื่อมั่นตลาดคอนโดฯ พร้อมทั้งรุกคืบตั้งเป้าสร้างรายได้จากลูกค้าต่างชาติ 12,000 ล้านบาท ควบคู่กับขยายฐานลูกค้าบ้านหรูระดับลักเซอรี่-ซูเปอร์ลักเซอรี่ สร้างแรงกระเพื่อมไปยังคู่แข่งขันระดับบิ๊กแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นค่ายแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม, โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์, ศุภาลัย เป็นต้น
2566 บุกหนัก 7.5 หมื่นล้าน
นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2566 แสนสิริยังคงมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจ สร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง วางแผนเปิดตัว (launch) 52 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 75,000 ล้านบาท ทุบสถิติเปิดตัวโครงการใหม่มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (all time high)
แบ่งเป็นบ้านแนวราบ 30 โครงการ มูลค่ารวม 50,700 ล้านบาท (บ้านเดี่ยว 18 โครงการ มูลค่า 38,400 ล้านบาท, ทาวน์โฮม 3 โครงการ 1,800 ล้านบาท มิกซ์โปรดักต์ 9 โครงการ 10,500 ล้านบาท) คอนโดฯ 22 โครงการ มูลค่า 24,300 ล้านบาท
ตั้งเป้ายอดขาย 55,000 ล้านบาท มาจากยอดขายบ้านแนวราบ 60% 33,000 ล้านบาท คอนโดฯ 40% 22,000 ล้านบาท (ลูกค้าต่างชาติ 12,000 ล้านบาท ลูกค้าคนไทย 10,000 ล้านบาท) และตั้งเป้ารับรู้รายได้รวม 40,000 ล้านบาท
ต่อยอดความสำเร็จปี 2565
ด้านนายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ แสนสิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลอนช์โครงการใหม่มูลค่ารวมสูงถึง 75,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 74% และโตขึ้นจากยุคโควิด (2563) 1,000% หรือ 10 เท่าตัว ครอบคลุมทั้งคอนโดฯ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม ทุกระดับราคา ครอบคลุมทุกทำเลทั่วประเทศ เจาะกลุ่มลูกค้าเรียลดีมานด์
โครงการไฮไลต์ในปีนี้ ได้แก่ การเปิดตัวบ้านลักเซอรี่ นาราสิริ พหล-วัชรพล มูลค่าโครงการ 5,300 ล้านบาท หลังจาก sold out นาราสิริ กรุงเทพกรีฑา ในเวลาเพียง 1 เดือน ตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดอสังหาฯซูเปอร์ลักเซอรี่เมืองไทย
นอกจากนี้ แสนสิริต่อยอดความสำเร็จแบรนด์ บูก้าน เตรียมเปิดขายบูก้าน เอ็กซ์คลูซีฟ เรสซิเดนท์ 3 โครงการ ได้แก่ ทำเลกรุงเทพกรีฑา, พัฒนาการ, พระราม 9-เหม่งจ๋าย มูลค่ารวม 3,600 ล้านบาท โดยจะเปิดตัวโครงการแรก บูก้าน กรุงเทพกรีฑา 25-26 กุมภาพันธ์นี้
ควบคู่บ้านเดี่ยวลักเซอรี่แบรนด์ เศรษฐสิริ ราคา 12-25 ล้านบาท เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอายุน้อยลง ประสบความสำเร็จเร็ว พร้อมรุกต่อแบรนด์ สราญสิริ บ้านเดี่ยวหลังแรกของครอบครัว 4 โครงการใหม่ มูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาท และเปิดตัวมิกซ์โปรดักต์ บ้านและทาวน์โฮมในโครงการเดียวกันแบรนด์ อณาสิริ 9 โครงการใหม่สไตล์เจแปนนีสกับเมดิเตอร์เรเนียน กับ 2 ดีไซน์ ที่ได้รับการตอบรับที่ดี Japanese และ Mediterranean
ย้ำแบรนด์ผู้นำต่างจังหวัด
สำหรับการรุกตลาดต่างจังหวัด แผนปีนี้ลงทุนต่อเนื่อง 6 จังหวัด ได้แก่ หัวหิน, ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่, ขอนแก่น และชลบุรี ด้วยการเปิดตัวใหม่ 12 โครงการ มูลค่ารวม 8,500 ล้านบาท
กลยุทธ์ในการเปิดตัวโครงการใหม่ปีนี้ แสนสิริจะรุกโมเดล New Sansiri Communities ปั้นสังคมอยู่อาศัยสมบูรณ์แบบ ในแต่ละทำเลที่แสนสิริเข้าไปพัฒนาโครงการ ต่อยอดความสำเร็จจาก T77 และกรุงเทพกรีฑา คอมมิวนิตี้ ในปี 2565 ที่ผ่านมา โดยทำเลที่เตรียมพัฒนาในปีนี้ อาทิ บางนา-เลค 26, รังสิต-บางพูน, กรุงเทพฯ-ปทุมธานี, ราชพฤกษ์-346, พระราม 2-วงแหวน, ประชาอุทิศ 90 และเวสต์เกต
เจาะลูกค้าต่างชาติ CLMV
แสนสิริยังได้ชูความพร้อมรับปัจจัยบวกจากเทรนด์การกลับมาของตลาดต่างชาติ วางเป้ายอดขายและยอดโอนลูกค้าต่างชาติในปีนี้ 12,000 ล้านบาท เติบโต 54% จากปี 2565 ที่มียอดขายจากลูกค้าต่างชาติ 7,800 ล้านบาท ตอกย้ำเบอร์หนึ่งแบรนด์อสังหาฯไทยในใจตลาดต่างชาติ ที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้บุกเบิกการขายอสังหาฯในต่างประเทศเป็นรายแรกของไทยมานานกว่า 10 ปี
กลยุทธ์การรุกตลาดต่างชาติในปี 2566 นี้ แสนสิริโฟกัสลูกค้ากลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) เพื่อขยายฐานให้กว้างขึ้นจากเดิมมีฐานลูกค้าชาวจีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และรัสเซีย
เติมคอนโดฯ 22 โครงการใหม่
สำหรับโครงการแนวสูง แสนสิริจะรุกขยายเปิดตัวคอนโดมิเนียม 22 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 24,300 ล้านบาท โตขึ้นจากปี 2565 ถึง 151% โดยคอนโดมิเนียมที่เป็นไฮไลต์ในปีนี้ ได้แก่ การเปิดตัว NEW LUXURY CONDOMINIUM ในสุดยอดทำเลศักยภาพ อาทิ ทำเลใจกลางเมืองอย่าง อารีย์-ราชเทวี
การเปิดตัวคอนโดมิเนียม แบรนด์ใหม่ที่เป็น ONE OF A KIND PROJECT หรือแบรนด์ใหม่ที่มีความโดดเด่นบนโลเกชั่นเดียว อาทิ CABANAS HUAHIN และอีก 2 แบรนด์คอนโดมิเนียมไลฟ์สไตล์ในย่านสุขุมวิท
รีเฟรชแบรนด์ ดีคอนโด
ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/66 แสนสิริรุกตลาดคอนโดฯ ด้วยการรีเฟรชแบรนด์ ดีคอนโด ซึ่งเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งของแสนสิริ ในกลุ่มคอนโดฯราคาเข้าถึงง่าย ที่ได้รับกระแสตอบรับจากลูกค้าอย่างดีเยี่ยมมาตลอด 13 ปี ทั้งด้านยอดขายและการพัฒนาโครงการที่โดนใจกลุ่มคนรุ่นใหม่
ในปี 2566 นี้ แสนสิริปรับภาพแบรนด์ใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ในคอนเซ็ปต์ Stay Well-Rounded คอนโดที่คิดเพื่อชีวิตดีรอบด้าน นำเสนอคอนโดฯแนวคิดใหม่ ใส่ใจความเป็นอยู่ที่ดีในชีวิตทุกด้าน โดยมุ่งเน้นในเรื่องของ well-being สร้างพื้นที่เซฟโซนทั้งกายและใจ กับ ดีคอนโด ซีรีส์ใหม่ 5 โครงการ 5 ทำเลศักยภาพ ทั่วประเทศตลอดปีนี้ รวมมูลค่าโครงการกว่า 5,000 ล้านบาท
นำร่องด้วยการส่ง 2 โครงการแรกใน หาดใหญ่-ภูเก็ต รับเรียลดีมานด์ และตลาดท่องเที่ยวฟื้น ดีคอนโด รีฟ ภูเก็ต เริ่ม 1.59 ล้านบาท* ทำเลศักยภาพใกล้ใจกลางเมืองและหาดป่าตอง แหล่งท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์ชื่อดังของภูเก็ต และ ดีคอนโด แซนด์ หาดใหญ่ เริ่ม 1.79 ล้านบาท* ใจกลางเมืองหาดใหญ่ เชื่อมต่อถนนกาญจนวนิช โดยเตรียมเปิดตัว ทั้ง 2 ดีคอนโดใหม่วางแผนเปิดพรีเซลเดือนมีนาคม 2566 นี้
ขยายฐาน Luxury Collection
ทั้งนี้ แสนสิริต้องการรักษาความเป็นผู้นำเบอร์ 1 ตลาดลักเซอรี่-ซูเปอร์ลักเซอรี่ ปี 2566 เตรียมเปิดตัว 9 แบรนด์ใหม่ จุดโฟกัสอยู่ที่แบรนด์ Sansiri Luxury Collection เพื่อขยายพอร์ตลักเซอรี่ เซ็กเมนต์ของแสนสิริให้โตขึ้นแบบก้าวกระโดด ได้แก่ โครงการ No.19-นัมเบอร์ นายทีน และ Sirinsiri-สิริณสิริ แบรนด์ใหม่ในระดับพรีเมี่ยม ได้แก่ Narinsiri-ณริณสิริ และ Ombre-ออมเบร คอนโดฯที่เป็นไฮไลต์เป็นการเปิดตัว New Luxury Condominium ทำเล อารีย์-ราชเทวี
วิกฤตเศรษฐกิจยุคโควิดที่ผ่านมา การบริหารจัดการผมเน้นความรวดเร็ว เราตัดสินใจได้เร็ว ลดราคาเร็ว ขายของเร็ว บริษัทมีกระแสเงินสด 20,000 ล้านบาท กำไรเราต่ำติดดินเหลือ 3% แค่ 1,000 กว่าล้าน แต่เราได้ยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เหตุผลตัดสินใจตอนนั้นเพราะเราต้องมีกระแสเงินสดที่ดี ให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากกระแสเงินสดได้ ประเด็นคือถ้าคุณจะทำอะไรในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้องมั่นใจว่าโดน ไม่มีใครรู้ตัวเลขที่เหมาะสม แต่ผมคิดว่าประสบการณ์การทำงานของผม การที่ผมอยู่ใกล้ชิดลูกค้า การที่ผมรู้สภาพตลาดว่าใครขายเท่าไหร่ ผมมั่นใจว่าสิ่งที่ผมตัดสินใจถูก อย่างมากก็ขาดทุนกำไรนิดหน่อย นายเศรษฐากล่าว
บิ๊กแบรนด์ท้ารบตลาดบ้านหรู
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การประกาศแผนลงทุนใหม่ของบิ๊กแบรนด์อสังหาฯในปีนี้ ล้วนพุ่งเป้าไปที่ตลาดบ้านหรูราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป เพราะมีบิ๊กดาต้าด้านยอดขายในปี 2565 ที่ผ่านมา ว่าเป็นกลุ่มที่ซื้อด้วยเงินสดเกิน 50-60% ทำให้รายใหญ่ที่มีความได้เปรียบด้านเงินทุนที่แข็งแกร่ง มีการเพิ่มน้ำหนักเปิดขายเซ็กเมนต์บ้านหรู ส่งผลให้แนวโน้มการแข่งขันรุนแรงในปีนี้
อาทิ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ วางแผนลงทุนใหม่ 62 โครงการ มูลค่ารวม 34,960 ล้านบาท มีสัดส่วนลูกค้าบ้านลักเซอรี่ราคา 30 ล้านบาทขึ้นไป 30% การแข่งขันปีนี้หันมาพัฒนาบ้านแนวราบระดับลักเซอรี่เพิ่มขึ้น, บมจ.ศุภาลัย วางแผนเปิดตัวใหม่ 37 โครงการ 41,000 ล้านบาท โดยเพิ่มน้ำหนักการพัฒนาบ้านลักเซอรี่ราคา 10-30 ล้านบาทมากขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
กลุ่มเฟรเซอร์สฯโฮม วางแผนเปิดตัวใหม่ 11 โครงการ มูลค่า 17,500 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีการขยายฐานบ้านซูเปอร์ลักเซอรี่ราคา 60-120 ล้านบาท เป็นแบรนด์ใหม่ 3 แบรนด์ ได้แก่ เดอะรอยัล เรสซิเดนเซส อัลพีน่า และเดอะแกรนด์ เป็นต้น
1/2/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 1 กุมภาพันธ์ 2566 )