info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.145.110.145

เปิดสเปค Rest Area M7 2 แปลงก่อน Market Sounding

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

เปิดสเปคการพัฒนาที่พักรถริมทาง(Rest Area) ศรีราชา-บางละมุง บนมอเตอร์เวย์สาย 7 ก่อน Market Sounding จับตาเงื่อนไขผู้เข้าประมูลต้องมีประสบการณ์พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันพรุ่งนี้(6 กุมภาพันธ์ 2566) ทางกรมทางหลวงจะได้จัดรับฟังความเห็นภาคเอกชน(Market Sounding) รับฟังความคิดเห็นเอกชนในการพัฒนาที่พักริมทางหรือ Rest Area ในมอเตอร์เวย์สาย 7 กรุงเทพฯ-บ้านฉาง

โดยเป็นการรับฟังความเห็น 2 แห่งพร้อม ๆ กัน คือ 1. Rest Area ศรีราชา และ 2. Rest Area บางละมุง

เจาะศักยภาพ Rest Area ศรีราชา

แปลงที่ดินจุดศรีราชาตั้งอยู่ช่วงกิโ]เมตรที่ 93+500 มีที่ดินสำหรับการพัฒนา 2 แปลงรวม 121 ไร่โดยแบ่งเป็น แผลงฝั่งขาออกมุ่งหน้าพัทยา 62 ไร่ แปลงฝั่งขาเข้ามุ่งหน้าชลบุรี 59 ไร่

โดยจากรายงานผลการศึกษาที่ดินแปลงนี้มีข้อจำกัดในการพัฒนาคือ

สายส่งไฟฟ้าแรงสูงของก่ารไฟฟ้าพาดอยู่บนพื้นที่ 2 ฝั่ง

ฝั่งขาออกมีแนวท่อก๊าซธรรมชาติ ของบริษัท ปตท.

มีถนนคู่ขนานพื้นที่ด้านหลังโครงการ

มีอาคารบริการจ่ายน้ำของบริษัท East Water อยู่บริเวณฝั่งขาเข้า

ส่วนปริมาณการจราจรสำหรับที่พักริมทางจุดศรีราชานี้ ในปี 2564 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 7.5 หมื่นคันต่อวัน ปี 2565 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 9 หมื่นคันต่อวัน และคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 1.265 แสนคันต่อวัน

ที่ดินแปลงบางละมุง

ที่พักริมทางบางละมุงตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 137+100 มีที่ดิน 2 แปลงสำหรับการลงทุนพัฒนา Rest Area ขนาดรวม 77 ไร่ คือ ขาออกมุ่งหน้ามาบตาพุด 38.5 ไร่ ขาเข้ามุ่งหน้าไปพัทยา 38.5 ไร่

ข้อจำกัดในการพัฒนาพื้นที่มีเพียงถนนคู่ขนานมอเตอร์เวย์สาย 7 ที่อยู่ด้านหลังโครงการทั้งสองฝั่งของการพัฒนาเท่านั้น สำหรับปริมาณการจราจร ในปี 2564 มีการจราจรเฉลี่ย 8.6 พันคันต่อวัน และจากผลการศึกษาคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีการจราจรเฉลี่ย 2.1 หมื่นคันต่อวัน

เงื่อนไขการร่วมลงทุน

จากผลการศึกษา Rest Area ทั้ง 2 แปลงจะต้องเปิดประมูลผ่าน PPP โดยมีระยะเวลารวม32 ปี แบ่งออกเป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับก่อสร้าง และ 30 ปีสำหรับดำเนินการ

ในเงื่อนไขว่าใน 1 ปีแรกของการก่อสร้างทางเข้าออก,ห้องน้ำ 1 จุด ลานจอดรถ 40 คัน ที่นั่งพักผ่อนในร่ม 2 จุดให้บริการก่อน และ 18 เดือนหรือ 1 ปีครึ่งจะต้องเพิ่ม ห้องน้ำบนพื้นราบ ทางเดินรถภายใน และลานจอดรถ ที่ขายอาหารเครื่องดื่ม 2 จุด

โดยจากผลการศึกษาผู้ร่วมลงทุนจะต้องมีประสบการณ์พัฒนาและบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ เช่น โครงการ ที่พักริมทาง โครงการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ เป็นต้น

เงื่อนไขการพัฒนาพื้นที่

จากข้อกำหนดของกรมทางหลวง เรื่อง มาตรฐานและลักษณะที่พักริมทางในเขตทางหลวงพิเศษและทางหลวงสัมปทาน พ.ศ. 2560 การร่วมลงทุนในครั้งนี้มีเงื่อนไขในการพัฒนาพื้นที่ คือ

พื้นที่ไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่จะต้องเป็นที่จอดรถ

พื้นที่ไม่น้อยกว่า 5% จะต้องเป็นพื้นที่สีเขียว

สามารถพัฒนาสถานีบริการเชื้อเพลิงได้ไม่เกิน 15% ของพื้นที่ทั้งหมด

ต้องมีสถานที่ขายของ OTOP ฟรีไม่น้อยกว่า 200-300 ตร.ม.

และมีกิจการต้องห้ามในพื้นที่ Rest Area คือ

การจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย

การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอร์การพนัน-ยาเสพติด

กิจกรรมขัดต่อความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดี

กิจกรรมที่ส่งเสริมให้มีการแข่งรถบนทาง

กิจกรรมที่อันตรายต่อผู้ใช้ทาง

ท้ายที่สุดคือมีเงื่อนไขในการอาคารยกระดับเหนือช่องการจราจร คือ เป็นอาคารคร่อมอยู่บนทางหลวงพิเศษหรือมอเอตร์เวย์เชื่อมระหว่าง 2 ฝั่ง Rest Area คือจะต้องมีความสูงอย่างน้อย 6 เมตร ตัวอาคารห้ามติดตั้งกระจกสะท้อนแสง และอายุการใช้งานอาคารต้องมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

เปิดไทม์ไลน์ร่วมลงทุน

จากแผนการดำเนินการคัดเลือกเอกชน หลังจากการ Market Sounding หรือการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 แล้ว ในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้จะออกประกาศเชิญชวนและขายซองประมูล เดือน กันยายน 2566 เอกชนยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุน และคาดว่าจะสามารถทำสัญญาร่วมลงทุนได้ในเดือนพฤษภาคม 2567

5/2/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 5 กุมภาพันธ์ 2566 )

Youtube Channel