info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.145.172.206

วัน แบงค็อก จักรวาลไลฟ์สไตล์เมืองใหม่ จุดเปลี่ยน-จุดยืนเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เพื่อให้ทั่วโลกตื่นตัวกับวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้น การร่วมกันหาแนวทางป้องกันและลงมือแก้ไข น่าจะเป็นทางออกที่ต้องลงมือทำทันที

กล่าวถึงความสำคัญของถนนพระรามที่ 4 รวมระยะทาง 9.40 กิโลเมตร นอกจากจะเป็นถนนสายสำคัญใจกลางเมือง ยังมีสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตอีกหลายแง่มุม เพราะเป็นที่ตั้งของชุมชนที่อยู่อาศัย ตลาดขนาดใหญ่ สถานศึกษา สถานพยาบาล แหล่งช็อปปิ้ง ฯลฯ และอนาคตอันใกล้ทำเลแถบนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการพัฒนาที่ดินแบบรักษ์โลก

โปรเจ็กต์แสนล้านเติบโตไปกับเมือง

ปัจจุบันถนนพระรามที่ 4 มีพัฒนาการตอบรับเชิงสังคมเมืองที่กำลังเติบโตตามยุคสมัย เป็นแหล่งที่ตั้งของอาคารสำนักงานชั้นนำ รวมถึงโครงการมิกซ์ยูสระดับโลก นั่นคือ One Bangkok ซึ่งเป็นพอร์ตโฟลิโอของ กลุ่มเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) ที่มีมูลค่ากว่า 1.25 แสนล้านบาท นับเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่สุดและมีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทย

“วัน แบงค็อก” ประกาศชัดเจนถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้าง “จุดเปลี่ยน” ด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net-zero) และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้น เพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ สะท้อนผ่านแนวคิด 3 แกนหลัก ได้แก่ การให้ความสำคัญกับผู้คน (people centric) การยกระดับความยั่งยืน (sustainability) และการใช้ชีวิตในเมืองอัจฉริยะ (smart city living) เพื่อให้สมกับเป็นแลนด์มาร์กระดับโลก

บนทำเลทองผืนใหญ่ หัวมุมถนนวิทยุตัดกับถนนพระรามที่ 4 ติดรถไฟฟ้า MRT สถานีลุมพินี 0 เมตร จะมีตึกที่สูงที่สุด มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุด ภายใต้แนวคิดรักษ์สิ่งแวดล้อมและยั่งยืน พร้อมตัวช่วยจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เป็น smart city living

ชูนวัตกรรม-ความยั่งยืน “Reuse Recycle”

เมืองใหม่อัจฉริยะแห่งความยั่งยืนใจกลางกรุงเทพฯ กำลังเร่งก่อสร้างตามแผนงาน ให้สอดรับกับเป้าหมายการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกของ UN และกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมนโยบายวันสิ่งแวดล้อมโลก reduce (ลด) และ recycle (รีไซเคิล) ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้และวัสดุที่ใช้แล้วมาเปลี่ยนให้มีคุณค่าเป็นประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนเมือง

ด้วยการสร้างโครงการต้นแบบสีเขียวให้เทียบเท่าระดับสากล พร้อมมุ่งสู่การเป็นโครงการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED for Neighborhood Development ระดับ platinum แห่งแรกในประเทศไทย และการประหยัดพลังงาน จัดการของเสีย และอากาศภายในอาคารอย่างมีคุณภาพ และมาตรฐานรับรองอาคาร WELL เพื่อให้ผู้ที่ใช้อาคารมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยวิถีแนวปฏิบัติด้านการก่อสร้าง ภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การก่อสร้างไปจนถึงช่วงเปิดโครงการ

แม้กระทั่งการออกแบบมาสเตอร์แพลนและขั้นตอนการดำเนินงาน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ สนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด แบบ reuse และ recycle

อาทิ การลดขยะจากการก่อสร้าง ตั้งเป้านำขยะจากการก่อสร้างมากกว่า 75% กลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล เช่น การนำเทคโนโลยีบดย่อยเศษขยะคอนกรีตจากหัวเสาเข็ม เพื่อนำไปสร้างผนังอาคารในโครงการ ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 5.94 ตัน หรือเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตก๊าซออกซิเจนจากต้นไม้ 540 ต้น

อีกทั้งนำเศษอิฐมวลเบาที่เหลือใช้จากการก่อสร้าง มาผลิตเป็นแผ่นผนังกันเสียงในอุโมงค์ทางลอดเข้าโครงการ การรีไซเคิลขยะเศษอาหาร ที่เหลือจากการบริโภคของคนงานก่อสร้างให้กลายเป็นปุ๋ย ผ่านเครื่อง food waste composter ทำให้ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1.2 ตันคาร์บอนต่อวัน หรือ 367 ตันคาร์บอนต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ได้ถึง 40,815 ต้น

การรีไซเคิลน้ำเสียด้วยระบบบริหารจัดการน้ำอัตโนมัติ ที่สามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำ ลดการใช้น้ำ (reduce) และนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่โดยผ่านเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย เพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำทำให้มีคุณภาพดีขึ้น wastewater treatment plant (recycle) และนำไปใช้ในส่วนต่าง ๆ เช่น ระบบรดน้ำต้นไม้ภายในโครงการ และระบบชำระล้างของสุขภัณฑ์ ฯลฯ

ตรวจขยะแบบเรียลไทม์-เพิ่มพื้นที่สีเขียว 50 ไร่

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีไอโอที (IOT) มาเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกและจัดการขยะรีไซเคิล ทำให้โครงการตรวจสอบและวิเคราะห์ปริมาณขยะแบบเรียลไทม์ได้ โดยนำเศษวัสดุเหลือใช้กลับเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะที่สะสม

เมื่อโครงการเปิดดำเนินการในเฟสแรกของไตรมาสแรกในปี 2567 จะเพิ่มระบบเซ็นเซอร์ เพื่อตรวจจับปริมาณของขยะ พร้อมแจ้งเตือนไปยังส่วนกลาง ทำให้ลดปัญหาขยะล้นถัง ส่งเสริมสภาพแวดล้อมด้านสุขอนามัยได้ดีอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการออกแบบพื้นที่สาธารณะ (public realm) ให้เป็นพื้นที่เปิดโล่ง และพื้นที่สีเขียวมากถึง 50 ไร่ เทียบเท่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่โครงการทั้งหมด เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนหันมาใช้ทางเดินเท้าในโครงการ แทนการใช้รถยนต์ ลดมลพิษทางอากาศ

โดยพื้นที่ส่วนหน้าของโครงการตลอดแนวถนนพระรามที่ 4 และถนนวิทยุ จะปรับให้เป็นสวนสาธารณะสีเขียวขนาดใหญ่ (linear park) มีระยะร่นจากทางเท้าเข้าไปยังตัวอาคาร 35-45 เมตร เป็นการสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม ร่มรื่น ช่วยกรองฝุ่น และลดอุณหภูมิ

ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจไปกับกรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “Evolving Bangkok” พร้อมนำเสนอ “จักรวาลของชีวิตเมือง” หรือ urbanverse ที่มีหลากมิติ และสร้างวิถีชีวิตใหม่ที่มีเสน่ห์ ยกระดับศักยภาพถนนใหญ่ใจกลางเมืองให้เติบโตสู่การเป็น CBD แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง

เพราะถนนพระรามที่ 4 มีจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ เป็นย่านการค้าสำคัญ มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน เปี่ยมด้วยศักยภาพด้านเศรษฐกิจ กลุ่มเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จึงมุ่งลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์หลายแห่ง ทั้งสามย่าน มิตรทาวน์, สีลม เอจ, เดอะ ปาร์ค, เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

โดย “วัน แบงค็อก” จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่มาเติมเต็มให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สมบูรณ์แบบ เพื่อผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางการค้าระดับนานาชาติ ดึงดูดนักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกด้วย 4 แกนหลัก

1.Being the Movement : ขับเคลื่อนเมือง และนำความก้าวหน้ามาพัฒนาไปพร้อมกับกรุงเทพฯ เพื่อคุณภาพชีวิตของคนเมือง

2.Amplify Bangkok’s Values : ความเป็นที่สุดแห่งคุณค่าและเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ที่สั่งสมมานับศตวรรษ มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบพื้นที่ต่าง ๆ

3.Redefine the Cityscape : เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะพลิกโฉมเมือง ด้วยการพัฒนาย่านพระราม 4 ให้เป็นแกนกลางใหม่ของเมือง ที่มีชีวิตชีวาอยู่เสมอ

4.Empower Life in Smart and Sustainable Ecosystem : ให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการระบบข้อมูล และเทคโนโลยี เพื่อความสะดวกสบาย ตอบโจทย์การใช้ชีวิต ดูแลสิ่งแวดล้อม และเติบโตไปด้วยกัน

11/6/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 11 มิถุนายน 2566 )

Youtube Channel