JLL จับสัญญาณอสังหาฯในกรุงเทพฯ ศูนย์การค้า-คอนโดฯลักเซอรี่-โรงแรม กำลังฟื้นตัว สำนักงานให้เช่า ปาดเหงื่อ เผยออฟฟิศเกรดเอถึงสิ้นปี 2566 มีซัพพลายใหม่มาเติมอีก 2.2 แสน ตร.ม. ทำให้พื้นที่ว่างเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 21%
วันที่ 29 มิถุนายน 2566 นายไมเคิล แกลนซี กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล กล่าวว่า โค้งสุดท้ายของครึ่งปี 2566 บรรยากาศการทำธุรกิจยังต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน
สำหรับสถานการ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ จากการสำรวจโดยสังเขป มีดังนี้
คอนโดฯลักเซอรี่ ตลาดฟื้น ราคาเฉลี่ย 2.1 แสน/ตร.ม.
ตลาดคอนโดมิเนียมลักเซอรี่ ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีคอนโดฯลักเซอรี่ที่เป็นโครงการสร้างเสร็จแล้วรวมทั้งสิ้น 73,000 ยูนิต ซึ่งในจำนวนนี้ มียูนิตเหลือขายเพียง 4.9%
ขณะที่มีซัพพลายใหม่เพิ่มขึ้นในปริมาณที่จำกัดในช่วงที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยโดยรวมของคอนโดฯลักเซอรี่เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว โดยไตรมาส 1/66 ราคาขยับเพิ่มขึ้น 0.6% จาก 12 เดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่เฉลี่ยตารางเมตรละ 211,500 บาท
เช่นเดียวกัน ตลาดคอนโดฯลักเซอรี่ให้เช่า มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นจากลูกค้าต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามา โดยพบว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ค่าเช่าปรับเพิ่มขึ้นแล้วเฉลี่ย 30%
ชาวไทยยังคงเป็นผู้ซื้อหลักในตลาดคอนโดฯกลุ่มนี้ แต่ขณะเดียวกัน พบว่าแรงซื้อจากชาวต่างชาติกำลังค่อนกลับเข้ามาหลังมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศถูกยกเลิก
ในขณะที่สภานการณ์โดยรวมกำลังกลับคืนสู่ภาวะปกติมากขึ้นหลังโควิด JLL คาดว่า ซัพพลายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในปริมาณจำกัด ราคาที่เริ่มขยับตัวเพิ่มขึ้น และโอกาสที่เพิ่มมากขึ้นในการปล่อยเช่า จะเป็นปัจจัยที่จะดึงดูดให้มีผู้ซื้อเพื่อการลงทุน
ทั้งชาวไทยและต่างชาติ กลับเข้ามาในตลาดคอนโดฯลักเซอรี่ของกรุงเทพฯ และกระตุ้นให้มีการเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ ตามมา
ศูนย์การค้าคึกคัก 36 ยี่ห้อดัง ประกาศแผนขยายสาขา
ตลาดศูนย์การค้า ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีศูนย์การค้าชั้นดีคิดเป็นพื้นที่รวม 3.6 ล้านตารางเมตร มีพื้นที่ว่างเหลือเช่า 5% กลุ่มธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่มเป็นกลุ่มผู้เช่าที่มีการเช่าพื้นที่คึกคักมากที่สุด
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับดี จำนวนลูกค้าผู้ซื้อสินค้าบริการที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติ
และการมีตัวเลือกมากขึ้นสำหรับพื้นที่ให้เช่าในศูนย์การค้าชั้นดีที่สร้างเสร็จ หรือปรับปรุงเสร็จใหม่ ทำให้มีผู้ประกอบการค้าปลีกสนใจขยายสาขา หรือเข้ามาเปิดกิจการในศูนย์การค้าชั้นดีของกรุงเทพฯมากขึ้น
ทั้งนี้ เฉพาะในไตรมาส 1/66 ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการค้าปลีกแบรนด์สินค้าและบริการมากกว่า 36 ราย ประกาศแผนเปิดสาขาใหม่ในกรุงเทพฯ
โครงการที่จะสร้างหรือปรับปรุงเสร็จใหม่ จะส่งผลให้ตลาดศูนย์การค้ามีอัตราการว่างของพื้นที่เช่าเพิ่มสูงขึ้นในเร็วๆ นี้
ขณะเดียวกัน โครงการเหล่านี้มีโอกาสที่จะดึงดูดแบรนด์อินเตอร์ให้เข้ามาเปิดสาขา ทำให้มีการเช่าคึกคักขึ้น และสามารถเรียกค่าเช่าได้สูงขึ้นในลำดับต่อไป
นักท่องเที่ยวดันค่าห้องพักโรงแรมขึ้นแล้ว 200-300%
ภาคธุรกิจโรงแรมทุกระดับของกรุงเทพฯ ยังคงฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 2565 ถึงปีนี้ ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 1/66 เทียบกับ 12 เดือนก่อนหน้า มีรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 310% สำหรับกลุ่มโรงแรมระดับ 4-5 ดาว
และค่าห้องปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 220% สำหรับกลุ่ม 3 ดาว และกลุ่มโรงแรมราคาประหยัด
การปรับตัวดีขึ้นของรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักดังกล่าว เกิดจากอัตราการเช่าใช้บริการห้องพัก และค่าบริการห้องพักรายวันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคธุรกิจท่องเที่ยว
สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่า รายได้เฉลี่ยต่อห้องพักจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อไป แต่การปรับขึ้นจะมีอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากกำลังมีซัพพลายใหม่อีกจำนวนรวม 8,400 ห้องที่จะเข้ามาในตลาดในปีนี้
ทั้งจากโครงการต่าง ๆ ที่เคยปิดตัวลงในช่วงโควิดแล้วกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง และโครงการโรงแรมที่ก่อสร้างค้างไว้ กลับมาดำเนินการสร้างต่อจนแล้วเสร็จ
ออฟฟิศเกรด A มึน ซัพพลายใหม่ทะลัก 2.2 แสน ตร.ม.
ส่วนอาคารสำนักงานเกรดเอ ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีอาคารสำนักงานเกรดเอให้เช่าในย่านศูนย์กลางทางธุรกิจ คิดเป็นพื้นที่รวม 1.4 ล้านตารางเมตร
ธุรกรรมการเช่าใหม่ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เป็นการเช่าพื้นที่สำนักงานเกรดเอ สะท้อนให้เห็นความต้องการของบริษัทผู้เช่าที่ต้องการมีออฟฟิศ/ที่ทำการในอาคารสำนักงานที่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ดี การที่มีโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานเกรดเอจำนวนมาก ที่กำลังทยอยสร้างเสร็จเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการว่างของพื้นที่เช่าในอาคารเกรดเอโดยเฉลี่ย ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 21.5%
เนื่องจากโครงการที่สร้างเสร็จใหม่ ต้องใช้เวลาในการหาผู้เช่าเข้ามาเติมเต็มพื้นที่เช่าในอาคาร
แนวโน้มดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปในตลอดปี 2566 นี้ เนื่องจาก ณ สิ้นปี ปริมาณพื้นที่สำนักงานเกรดเอทั้งหมดของกรุงเทพฯ จะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านตารางเมตร
โดยจะเป็นพื้นที่จากโครงการสร้างเสร็จใหม่ในปีนี้ 228,000 ตารางเมตร ซึ่งจะนับเป็นพื้นที่สร้างเสร็จเพิ่มรายปีปริมาณสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นในรอบที่แล้วเมื่อปี 2542
29/6/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 29 มิถุนายน 2566 )