ภาพการเปิดตลาดนัด ตลาดนัดกลางคืนแห่งใหม่ ๆ เริ่มทยอยมีให้เห็นเป็นระยะ ๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้จะยังอยู่ในช่วงที่โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายดีนัก แต่ตลาดนัดเหล่านี้ก็สามารถสร้างชื่อเสียงและติดตลาดได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัด จ๊อดแฟร์ ที่ขยับขยายมาเปิดที่ แดนเนรมิต เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากเดิมที่เปิดที่ ย่านพระราม 9 ซึ่งหมดสัญญาในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ หรือ ตลาดต้นสัก บางกระสอ นนทบุรี ที่เปิดเมื่อ 2564 หรือตลาดนกฮูกถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี ที่เริ่มต้นจากตลาดขายของมือหนึ่ง-มือสอง ก่อนจะปรับมาเป็นตลาดนัดกลางคืนและแจ้งเกิดได้ไม่ยากนัก
และที่น่าสนใจก็คือการรุกเข้ามาในตลาดของ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ที่ได้เริ่มทดลองโมเดลตลาดนัด โดยทยอยเปิดสาขาตามย่านต่าง ๆ ตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
ตลาดนัด ศักยภาพล้น
แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกกล่าวถึงเทรนด์ของตลาดนัด และตลาดกลางคืนกับ ประชาชาติธุรกิจ ว่า ตลาดในลักษณะนี้ยังเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพที่จะเติบโตได้ดี เนื่องจากสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่ขนาดครัวเรือนเล็กลง อาจจะ 2-3 หรือ 4 คน หลังเลิกงานตอนเย็น ก่อนกลับบ้านก็จะแวะตลาดนัดซื้ออาหารเย็น หรือแวะทานข้าวก่อนเข้าบ้าน หรืออาจจะเดินจับจ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นการพักผ่อนซึ่งตอนนี้ความนิยมในตลาดนัด หรือตลาดกลางคืน หลัก ๆ อาจจะยังจำกัดวงอยู่เฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล หัวเมืองใหญ่ และเมืองท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ตลาดที่จะประสบความสำเร็จได้ หัวใจหลัก ๆ จะอยู่ที่เรื่องของทำเลที่ตั้ง ที่ต้องอยู่ในย่านชุมชม ทั้งย่านที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม หรือสถานที่ราชการ ที่มีคนจำนวนมากพอ รวมทั้งการมีแม็กเนตที่เป็นจุดขายและจูงใจ ทั้งในเรื่องอาหาร แฟชั่น จุดแฮงเอาต์ รวมทั้งการมีอีเวนต์มาเป็นตัวดึง นอกจากนี้ ตลาดบางแห่งยังมีการทำการตลาดเพื่อกำหนดให้เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย หรือบางแห่งก็มีการออกไปทำตลาดในต่างจังหวัด เพื่อดึงคนต่างจังหวัดที่เข้ามากรุงเทพฯ ให้เดินทางมาเที่ยวที่ตลาด เป็นต้น
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า จากนี้ไปจากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลง การใช้ชีวิตประจำวันที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น จะเป็นปัจจัยหนุนอย่างหนึ่งที่ทำให้ตลาดนัด ตลาดกลางคืน ได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งในแง่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ทั้งที่มีที่ดินแปลงงามอยู่ในมือ และผู้ที่มองเห็นโอกาส และใช้วิธีการเช่าพื้นที่ คือที่ดินของแลนด์ลอร์ดเพื่อนำมาบริหาร
ยักษ์บิ๊กซีฯ เปิด 3 แบรนด์
จากการตรวจสอบจากเฟซบุ๊ก ตลาดอินดี้-indy market ผู้บริหารตลาดนัดกลางคืนชื่อดัง ล่าสุดมีแผนจะเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 1 แห่ง ในชื่อตลาดอินดี้ บางขุนเทียน โดยคาดว่าจะเปิดในช่วงปลายปีนี้ จากเดิมที่มี 3-4 สาขา อาทิ สาขาที่ย่านปิ่นเกล้า (จรัญสนิทวงศ์), ดาวคะนอง, กัลปพฤกษ์, โชคชัย 4 เป็นต้น
เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ที่ระบุในเอกสารการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า นอกจากธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แล้ว บิ๊กซี รีเทลฯ ยังดำเนินธุรกิจตลาด open-air ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีกจากบริษัท เพื่อจำหน่ายอาหารสด อาหารปรุงสุก และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารหลากหลายประเภท ดำเนินการโดยบริษัทลูกคือ บริษัท ต่อยอดเฟรช (ประเทศไทย) จำกัด ปัจจุบันมีตลาด open-air 2 รูปแบบ ได้แก่ ตลาดกลางคืน ภายใต้แบรนด์ ตลาดเดินเล่น และตลาดสดกลางวัน ภายใต้แบรนด์ตลาดครอบครัว และตลาดทิพย์นิมิตร
โดยตลาดเดินเล่นเป็นตลาดกลางคืนที่มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าในเมืองที่มองหาตัวเลือกในการรับประทานอาหารที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงร้านอาหารและร้าน street food ตลอดจนแหล่งความบันเทิงและแหล่งเลือกซื้อสินค้า ขณะที่ตลาดครอบครัวเป็นตลาดสดกลางวันแบบดั้งเดิม ที่มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าครัวเรือนรายย่อยทุกประเภท (โดยเฉพาะกลุ่มพ่อบ้านและแม่บ้าน) โดยมุ่งเน้นไปที่อาหารและผลิตภัณฑ์ปรุงอาหาร ตลอดจนแผงขายอาหารพร้อมทาน ส่วนตลาดทิพย์นิมิตร เป็นตลาดที่เน้นเข้าถึงลูกค้ารายย่อยทั่วไป โดยผู้เช่ามีทั้งเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตร เช่น การขายส่งผลไม้และผู้ค้ารายใหญ่และรายย่อยที่จำหน่ายสินค้าของสด อาหาร และดอกไม้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน บิ๊กซี รีเทลฯ เป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินงาน ตลาด open-air จำนวน 8 แห่งคือ ตลาดครอบครัว บางกรวย นนทบุรี, ตลาดทิพย์นิมิตร บางพลี สมุทรปราการ และตลาดเดินเล่น มี 6 แห่ง ประกอบด้วย กรุงเทพกรีฑา (บางกะปิ) ท่าพระ (ธนบุรี) หทัยราษฎร์ (คลองสามวา) เพชรเกษม 81 (หนองแขม) บ่อวิน (ศรีราชา ชลบุรี) และ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
คอนเฟิร์มดีมานด์การเช่าสูง
รายงานจาก บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย ที่ปรึกษาและตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ได้ระบุถึงตลาดนัด (open-air markets) ที่เป็นส่วนหนึ่งของตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีก (retail property market) โดยระบุว่าจำนวนผู้เช่าในตลาดประเภทนี้ที่มักสูงกว่า 90% สะท้อนว่ามีความต้องการพื้นที่ค้าปลีกสูงมาก ตลาดนี้เป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจ ในฐานะสถานที่ที่ผู้คนมาซื้อ-ขายสินค้า ตลาดแบบนี้มักจะเปิดบริการแบบทุกวัน หรือกำหนดเป็นบางวันในสัปดาห์ ด้านขนาดมีหลากหลาย ตั้งแต่ขนาดเล็กสำหรับชุมชน ไปจนถึงตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับสินค้าที่มีความหลากหลาย อาทิ ของสด อาหารทะเล เสื้อผ้า สินค้าทำมือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ
โดยค่าเช่าพื้นที่ในตลาดนัดมีความหลากหลายสูง โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ทำเล ขนาดร้าน ระยะเวลาสัญญา รวมถึงประเภทสินค้าที่ขาย โดยแบ่งได้คร่าว ๆ ดังนี้ พื้นที่ขนาดเล็ก-ร้านชั่วคราว มักเป็นการเช่าแบบรายวัน ซึ่งอาจมีราคาตั้งแต่ 100-200 บาท/วัน/ร้าน ขณะที่ ร้านแบบถาวร จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีโครงสร้างถาวรแข็งแรงกว่า โดยมักจะเป็นการเช่าแบบรายเดือน ในระดับหลักพันถึงหลักหมื่นบาท โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 400-1,000 บาท/ตร.ม./เดือน
และพื้นที่ค้าส่ง เป็นพื้นที่ที่ผู้ค้าส่งซึ่งขายสินค้าครั้งละมาก ๆ โดยค่าเช่าจะหลากหลายมากตามขนาดและทำเลของพื้นที่เช่า รวมถึงสินค้าที่ขาย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันตลาดนัด ตลาดนัดกลางคืน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ได้รับความนิยมจำนวนมาก อาทิ ตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์ (ประเวศ), ตลาดบางกะปิ (บางกะปิ), ตลาดตะวันนา (บางกะปิ), ตลาดนัด กกท. (บางกะปิ), ตลาดเฟิร์สวัน (ธนบุรี), ตลาดอินดี้ ดาวคะนอง (จอมทอง), ปากคลองตลาด (พระนคร), ช่างชุ่ย (บางพลัด), ตลาดมารวย (ลำลูกกา), ตลาดซาฟารี (คลองสามวา), ตลาดสายใต้เซ็นเตอร์ (ตลิ่งชัน), ตลาดคนเดิน สายใต้ใหม่ (ตลิ่งชัน), ตลาดชาวสยาม (บางกรวย), ตลาดบางราวนก (บางกรวย), ตลาดลุงออม (บางกรวย), ตลาดบางพลีใหญ่, ตลาดสดบางพลี, ตลาดบางพลีซิตี้, ตลาดนัดขจรวิทย์, ตลาดกิ่งแก้ว, ตลาดนกฮูก เมืองนนท์ และปทุมธานี (บริษัท ตลาดนกฮูก จำกัด), ตลาดต้นสัก นนทบุรี (บริษัท เดย์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด)
9/8/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 9 สิงหาคม 2566 )