เป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่ยังเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “สินแพทย์” หลังจากก่อตั้งเมื่อปี 2534 ถึงวันนี้มีโรงพยาบาลในเครือ 8 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเน้นการทำโรงพยาบาลมที่มีคุณภาพ ใกล้บ้านใกล้ชุมชน ในราคาที่เข้าถึงได้ รวมทั้งมีการร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลเอกชนอีก 3-4 แห่ง
ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “สิทธิ ภาณุพัฒนพงศ์” ประธานกรรมการ บริษัท สินแพทย์ จำกัด ผู้บริหารกลุ่มโรงพยาบาลสินแพทย์ ถึงโปรเจ็กต์ใหญ่ “สินแพทย์ เมดิคอล เซ็นเตอร์” ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและกำหนดจะเปิดภายในต้นปี 2568
ก้าวสู่ศูนย์เฉพาะทาง-วันสต็อป
ประธานกรรมการ บริษัท สินแพทย์ เล่าให้ฟังว่า นอกจากแผนการลงทุนเพื่อขยายสาขาเพิ่มตามแผนในช่วง 1-3 ปี ที่จะขยายเพิ่มปีละ 1-2 สาขา หรือบางปีอาจจะ 3 สาขา ด้วยงบฯลงทุนประมาณสาขาละ 2,000-3,000 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดิน) ซึ่งจะเป็นการทยอยลงทุน บริษัทยังมีโครงการลงทุนโครงการ สินแพทย์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ บนพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ด้านหน้าติดกับถนนรามอินทรา บริเวณด้านข้าง รพ.สินแพทย์ รามอินทรา ซึ่งได้วางศิลาฤกษ์เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ใช้งบประมาณราว ๆ 3,600-3,800 ล้านบาท และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณต้นปี 2568
ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาและขยายการบริการ การรักษา ศูนย์เฉพาะทางให้ครบทุกสาขา และเป็นวันสต็อป ด้วยทีมแพทย์พยาบาล และเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่จะสามารถลงทุนได้ และครอบคลุมการรักษาในทุกด้าน เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่ฝั่งกรุงเทพฯตะวันออก รวมถึงการรองรับการดูแลผู้ป่วยชาวต่างชาติในอนาคตได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง
“เมื่อสักกว่า 30 ปีก่อน ที่สินแพทย์มาลงทุน ตอนนั้นราคาที่ดินประมาณตารางวาละ 3-5 หมื่นบาท แต่เดี๋ยวนี้ขยับขึ้นมาเป็น 2 แสนกว่าถึง 3 แสน หรือเพิ่มขึ้นมาประมาณ 10 เท่า เมื่อก่อนบนถนนรามอินทรา บริเวณรอบ ๆ โรงพยาบาล บ้านเดี่ยว ราคาประมาณ 2-5 ล้านบาท แต่เดี๋ยวนี้ 15-50 ล้านบาท ส่วนทาวน์เฮาส์เมื่อก่อน 1-3 ล้านบาท เดี๋ยวนี้เริ่มต้น 5-7 ล้านบาท หรือคอนโดฯเมื่อก่อน 1.5 ล้านบาท แต่เดี๋ยวนี้ 2 ล้านขึ้นไป ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนเรื่องกําลังซื้อที่เพิ่มขึ้น และราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น”
“สิทธิ” กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้รามอินทรา การคมนาคมสะดวกขึ้น เมื่อก่อนไม่มีวงแหวน ไม่มีทางด่วน ไม่มีรถไฟฟ้า แต่วันนี้ไม่ไกลแล้วและความสะดวกขึ้น เมื่อคนที่มาอยู่กำลังซื้อดีขึ้น หรือธุรกิจที่อยู่ในย่านนี้ก็แข็งแรงขึ้น เพราะกำลังซื้อมีมากขึ้น นี่เป็นเหตุผลหรือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ สินแพทย์ ตัดสินใจลงทุนสร้าง เมดิคอล เซ็นเตอร์
“ถ้าเราไม่ลงทุน ไม่ปรับปรุงก็จะแย่ เพราะเราจะไม่เป็นที่ต้องการ หรือเป็น รพ.ที่คนใหม่ ๆ ที่เข้ามาอยู่ในย่านนี้อาจจะมองข้ามไป จริงอยู่แม้คนเดิมอาจจะยังเป็นลูกค้าสินแพทย์อยู่เพราะเขาใช้บริการมานาน แต่คนใหม่อาจจะไม่ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลอื่น ๆ เขาก็มีการลงทุนใหม่ ๆ และมีผู้ประกอบการเข้ามาเปิดให้บริการ ซึ่งในแง่ลูกค้าเขาก็มีสิทธิที่จะเลือก”
“ดังนั้น เราจึงอยู่นิ่งไม่ได้ ประกอบกับ รพ.มีที่ดิน 6-7 ไร่ เหลืออยู่พอดี เมื่อก่อนเป็นลานจอดรถ และหลังจากสร้างเสร็จแล้ว เมดิคอล เซ็นเตอร์ จะเป็นแฟลกชิปของกลุ่ม เป็นเหมือนกับสำนักงานใหญ่ เพื่อที่จะดูแล รพ.เครือข่ายในอนาคต และโชคดี คือ เรื่องโลเกชั่น ที่ติดกับสถานีรถไฟสายสีชมพู (สถานีรามอินทรา กม.9)”
ศักยภาพเทียบชั้น รพ.กลางกรุง
“สิทธิ” ย้ำด้วยว่า กลุ่มสินแพทย์ต้องการจะยกระดับให้รามอินทราเป็นเมดิคอล เซ็นเตอร์ ที่เป็นศูนย์การรักษาโรคเฉพาะทางที่เป็นแบบวันสต็อป ด้วยความพร้อมทั้งทีมแพทย์ ทีมพยาบาล ที่มีประสบการณ์ รวมทั้งเครื่องมือที่ทันสมัย โดยเฉพาะในเรื่องของทีมแพทย์ที่ปัจจุบันมามากกว่า 250 คน และประจำอยู่ที่ รามอินทรา 100 กว่าคน อีก 100 กว่าคน กระจายไปอยู่ในโรงพยาบาลเครือข่าย และยังมีแพทย์พาร์ตไทม์เกือบ 1,000 คน หรือทีมพยาบาลที่ในเครือมีทั้งสิ้น 900-1,000 คน
นอกจากนี้ยังมีแผนจะลงทุนในเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์เครื่องมือที่มีความทันสมัยเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น MRI เครื่องมือผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง เพื่อความรวดเร็วและแม่นยำในการรักษาที่มากขึ้น
จากปัจจุบัน สินแพทย์ รามอินทรา ก็มีความพร้อม และทำการรักษาได้อยู่แล้ว ยกตัวอย่าง โรคเส้นเลือดในสมอง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ฯลฯ ที่ถือป็นโรคที่รักษายาก โดยโรงพยาบาลมีทีมแพทย์สแตนด์บายตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งแพทย์ที่เป็น specialist (ผู้เชี่ยวชาญ) และแพทย์ที่เป็น subspecialty (มีความชำนาญพิเศษ) มีทีมพยาบาล ทีมซัพพอร์ต รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ที่พร้อม
“สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้ สินแพทย์ รามอินทรา เป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเทียบเท่ากับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมืองได้ ซึ่งที่ผ่านมา สินแพทย์ เป็น รพ.ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานที่เป็นมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐาน HA (hospital accreditation) มาตรฐาน JCI ฯลฯ นอกจากนี้ การที่กลุ่มสินแพทย์มีโรงพยาบาลในเครือข่ายอีก 7-8 โรง จึงทำให้มีความได้เปรียบในแง่ของ economic of scale และถือเป็นจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของกลุ่ม”
เพิ่มบริการพรีเวนทีฟ-ความงาม
พร้อมกันนี้ “สิทธิ” ยังให้รายละเอียดของตัวอาคารเมดิคอล เซ็นเตอร์ ว่าเป็นอาคารขนาด 18 ชั้น บนพื้นที่ 6 ไร่ 13 ตารางวา พื้นที่ใช้สอยกว่า 60,000 ตารางเมตร จะเป็นตึกที่ใหญ่และสูงที่สุดบนถนนรามอินทรา โดยอาคารใหม่จะมี OPD ประมาณ 100 กว่าห้อง มีแผนกฉุกเฉิน (ER) มีห้อง ICU ห้องผ่าตัด รวมทั้ง วอร์ด หรือห้องพักผู้ป่วยประมาณ 160 เตียง ส่วนอาคารเดิมของสินแพทย์รามอินทรามีประมาณ 340 เตียง รวม 500 เตียง แต่จำนวนเตียงตึกใหม่ที่ลดลง เพราะห้องมีขนาดใหญ่ขึ้น
นอกจากนี้ ตัวอาคารมีการออกแบบที่ทันสมัย มีการนำต้นไม้เข้ามาเป็นส่วนประกอบ เพื่อสร้างบรรยากาศให้รู้สึกสดชื่น จะมีรีเทล หรือร้านค้าต่าง ๆ เข้ามาเสริมจำนวนหนึ่ง เพื่อทำให้ไม่เบื่อหน่าย ในการที่จะเข้ามาใช้บริการ หรือมาเยี่ยมคนไข้ ส่วนวอร์ด หรือห้องพัก พยายามจะทำให้คนไข้รู้สึกว่าเมื่อมาอยู่แล้วมีความอบอุ่น มีความสุขกับการมารักษา
หลังจากที่อาคารเมดิคอล เซ็นเตอร์ สร้างและตกแต่งเสร็จแล้ว ก็จะย้ายคลินิกการรักษาต่าง ๆ จากอาคารเดิม รพ.สินแพทย์เดิม ไปที่อาคารใหม่ ส่วนอาคารเดิมก็จะมีการรีโนเวตและปรับเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ โดยจะเปิดเป็นคลินิกที่เกี่ยวกับการ preventive หรือการป้องกัน ศูนย์ตรวจสุขภาพ ศูนย์ทันตกรรม เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะมีคลินิกใหม่ ๆ เสริมเข้ามา เช่น เรื่องของศัลยกรรมความงามต่าง ๆ เรื่องของ antiaging, endotine ฯลฯ
อีกด้านหนึ่งก็จะทำให้โรงพยาบาลมีลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่ม อาจจะกล่าวได้ว่า สินแพทย์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ แห่งนี้ จะเป็นโรงพยาบาลแรกที่สร้าง 5-6 หมื่น ตร.ม. สร้างเสร็จภายใน 2 ปีเศษ ๆ และเปิดใช้เต็ม 100% ในคราวเดียว
24/8/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 24 สิงหาคม 2566 )