info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.117.101.250

ซีอาร์จีเพิ่มโมเดลร้าน “เคเอฟซี” รับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

Retails News / ข่าวหมวดห้างสรรพสินค้า

ซีอาร์จี เร่งเครื่องเคเอฟซีโค้งท้าย พัฒนาโปรดักต์-เปิดสาขาโมเดลใหม่ รับธุรกิจอาหารฟื้นตัว พร้อมทุ่มงบฯปรับโฉมสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ใหม่ คอนเซ็ปต์ “KFC Digital Lifestyle Hub” หวังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ลั่นสิ้นปีกวาดรายได้ 7,000 ล้าน เติบโต 11%

นายปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยรวมเติบโตขึ้นกว่า 4-5% หรือมีมูลค่าตลาดร้านอาหารรวมกว่า 400,000 ล้านบาท

ซึ่งถือว่าเริ่มกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ ปัจจัยจากการที่ผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และกลับมารับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ประกอบกับการท่องเที่ยวฟื้นตัว จึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการบริโภคได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับในส่วนของเชนธุรกิจร้านอาหาร QSR ในไทยที่ประกอบด้วย 3 เซ็กเมนต์หลักคือ ไก่ทอด เบอร์เกอร์ พิซซ่า มูลค่ารวมกว่า 40,000-50,000 ล้านบาท เป็นที่ทราบกันดีว่าในปีนี้มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ด้วยการมีผู้เล่นในตลาดหลากหลาย ทั้งรายเก่า รายใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

จึงถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้เล่นหลัก ในการพัฒนาและปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในแง่ของการปรับกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อบริหารจัดการต้นทุน ในการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถสร้างยอดขายได้

ทิศทางการดำเนินงานจากนี้ไป ซีอาร์จีจะยังคงเดินหน้าพัฒนาโปรดักต์ใหม่ ๆ ที่จะมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากช่วงที่ผ่านมาได้นำข้าวไก่กรอบแกงเขียวหวาน กลับมาจำหน่าย และเพิ่มเมนูหนังไก่แซ่บ ออกมาทดลองขาย ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาด

รวมถึงในด้านของความสะดวกสบาย ซีอาร์จี ก็จะมีราคาของสินค้าที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และช่องทางการขายที่จะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในช่องทาง delivery platform ที่เคเอฟซีได้เข้าร่วมกับ food aggregator รายหลัก ๆ ทั้งหมด รวมถึง Robinhood และยังมีช่องทางของเคเอฟซีเอง ที่ให้บริการทั้ง delivery และ รับที่ร้าน (just pick up) เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็จะมุ่งเน้นขยายสาขาในรูปแบบโมเดลใหม่ ๆ เช่น โมเดลสาขาในศูนย์การค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ต, โมเดลสาขาในสถานีบริการน้ำมัน, โมเดล Shop House ด้วยการนำอาคารพาณิชย์ หรือตึกแถวที่อยู่ในย่านชุมชนมาปรับเปลี่ยนเป็นร้าน เคเอฟซี, โมเดล พาร์ค แอนด์ โก (Park and Go)

รวมไปถึงการขยายสาขาร่วมกันกับบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล อาทิ CPN และ CRC อย่างศูนย์การค้าเซ็นทรัล และโรบินสันไลฟ์สไตล์ ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง อาทิ เซ็นทรัลนครปฐม เซ็นทรัลนครสวรรค์ ที่กำลังจะเปิดในปีถัดไป

ตลอดจนได้มีการนำเอา KFC Application เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าด้วยเช่นกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุด ด้วยการร่วมมือกับบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ในด้านความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบันแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การดำเนินงานของซีอาร์จี มีจำนวนสาขาทั้งหมด 330 สาขา คาดว่าสิ้นปีจะมี 335 สาขา และปี 2567 จะเปิดครบ 350 สาขา

ขณะเดียวกัน หลังจากที่ได้ทุ่มงบฯกว่า 17 ล้านบาท ในการปรับโฉมร้านเคเอฟซี flagship store ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ในคอนเซ็ปต์ “KFC Digital Lifestyle Hub” ที่เน้นประสบการณ์การรับประทานที่สนุกขึ้นกว่าเดิม ทั้งตัวบริการ Bucket Kiosk จุดสั่งอาหารผ่านเครื่องสั่งอาหารและชำระเงินอัตโนมัติใหม่ ที่รองรับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่

และปีหน้าบริษัทมีแผนจะนำคอนเซ็ปต์ “KFC Digital Lifestyle Hub” ไปปรับใช้ในเคเอฟซีสาขาอื่น ๆ มากขึ้น เนื่องด้วยพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ชอบทดลองอะไรใหม่ ๆ ต้องการความอร่อย สะดวกและราคาที่เข้าถึงง่าย จึงคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี สามารถสร้าง engagement กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนทำงาน และผู้มาใช้บริการที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และช่วยสร้าง top of mind ได้

ปีหน้ามีแผนจะเปิดสาขาใหม่ประมาณ 20 สาขา และปรับโฉมสาขาเดิมอีก 20 สาขา ให้กลายเป็น “KFC Digital Lifestyle Hub” ซึ่งในระยะยาวก็จะเน้นขยายสาขาในคอนเซ็ปต์นี้มากขึ้น จากปัจจุบันมี 10 สาขา

ซึ่งปัจจุบันแบรนด์ เคเอฟซี ที่บริหารงานโดยซีอาร์จี ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาร์เก็ตแชร์เป็นเบอร์หนึ่งในตลาดไก่ทอดอยู่ที่ 80-90% โดยในสิ้นปีนี้คาดว่าจะกวาดรายได้ 7,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 11% จากปี 2565 ที่มียอดขายรวมกว่า 6,300 ล้านบาท

10/12/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 10 ธันวาคม 2566 )

Youtube Channel