info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.141.21.106

บางจากกางโรดแมปลงทุน บุกอาเซียน-พลังงานสะอาด

Oil & Gas News / ข่าวหมวดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

เปิดแผนลงทุน “บางจาก” 5 หมื่นล้าน ปี’67 หนุน “ธุรกิจสำรวจแหล่งทรัพยากร” พระเอกชูโรงทุ่ม 1.7 หมื่นล้าน ดึงโมเดลนอร์เวย์ปักหมุด “อาเซียน” พร้อมเดินหน้าธุรกิจต้นน้ำ-ปลายน้ำ ตั้งเป้ากวาดยอดขาย 5 แสนล้านบาทสูงสุดในรอบ 40 ปี หลังผนึกโรงกลั่นเอสโซ่ศรีราชา พร้อมเปลี่ยนป้ายเอสโซ่สีเขียวให้ครบกลางปี’67 ดันส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกทะลุ 28% เตรียมผุดโมเดลกวาดลูกค้ารถบรรทุก ทุกรัศมี 200 กม. ไม่ทิ้งพลังงานสะอาด BCPG ทุ่ม 1.4 หมื่นล้าน ปั๊มไฟสีเขียว-ต่อยอดแบตเตอรี่อีวี

บางจากวางแผนงบประมาณการลงทุน 2567-2573 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เน้นให้สัดส่วนธุรกิจสำรวจและจัดหาแหล่งปิโตรเลียม (E&P) เป็นพระเอกชูโรงถึง 30% เพื่อขับเคลื่อนกำไร EBITDA 1 แสนล้านบาท

ปั๊มรายได้สูงสุดรอบ 40 ปี

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2567 บางจากวางเป้าหมายจะลงทุน 50,000 ล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโตในทุกธุรกิจ สร้างรายได้ 5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้ 3.6 แสนล้านบาท ถือเป็นรายได้ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ตั้งบริษัทมา 40 ปี

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายได้ที่เพิ่มขึ้น 1.4 แสนล้านบาท จะมาจากการรับรู้รายได้จากการเข้าซื้อและรวบรวมกิจการเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เต็มปี ทำให้กำลังการกลั่นรวมอยู่ที่ 278,000 บาร์เรลต่อวัน และส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกน้ำมันอยู่ที่ 28%

“รายได้ปี 2566 ที่มากถึง 3.6 แสนล้านบาท เป็นอีกหนึ่งปีแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจบางจาก ทุกกลุ่มธุรกิจมีการเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ยอดการบริโภคน้ำมันทั้งประเทศโต 1% แต่ยอดขายน้ำมันเราโต 26% ส่วนยอดขายปีหน้า 5 แสนล้านบาท

ปัจจัยสำคัญจากการรวมเอสโซ่ ซึ่งเราได้จัดทำงบฯเสมือนเปรียบเทียบตัวเลขหลังจากที่ควบรวมครบปีทั้งปี รับรู้รายได้เต็มปี แต่การควบรวมนั้นไม่ได้ไปเพิ่มซัพพลายน้ำมันของโรงกลั่นในประเทศไทย แต่เป็นการเปลี่ยนเจ้าของเปลี่ยนมือเท่านั้น”

มุ่งสร้างความมั่นคง “พลังงาน”

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า แผน 3-5 ปีข้างหน้า 4 เสาหลัก คือ การไปหาแหล่งเชื้อเพลิงที่จะมาตอบโจทย์ประเทศ เพราะด้วยข้อมูลจาก World Economic Forum ได้ศึกษาเรื่องความท้าทายด้านพลังงาน 3 ด้าน หรือ Energy Trilemma พบว่า ใน 3 เหลี่ยมนี้ ไทยยังมีความมั่นคงทางพลังงานต่ำ เพราะเรานำเข้าฟอสซิลไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เราต้องพยายามบาลานซ์เรื่องความมั่นคง ขณะเดียวกันต้องพัฒนาส่วนของสินทรัพย์ที่ได้มาจากโรงกลั่นศรีราชา และเปลี่ยนผ่านสู่ป้ายเดียวไร้รอยตะเข็บกลางปีหน้า

“ต้องรักษาเป้าหมายสู่การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero แบ่งหน้าที่มีห้องครัว คือ โรงกลั่นพระโขนง โรงกลั่นศรีราชา รวม 274,000 บาร์เรล และโรงกลั่นน้ำมันเครื่องบินจากน้ำมันใช้แล้ว (SAF) ที่จะเริ่มผลิตเฟสแรก 200,000 ลิตรในปี 2567 และเพิ่มเป็นมากกว่า 1 ล้านลิตรในปี 2570

และจะมีแพลตฟอร์มรองรับ มี BCPT หรือสมองเหมือนคนไปจ่ายตลาด บริษัท รีไฟเนอร์รี่ ออฟติไมซ์เซชั่น แอนด์ ซินเนอร์ยี่ เอนเตอร์ไพรส์ (ROSE) คือ เชฟ และการตลาด คือ คนที่เอาไปเสิร์ฟที่โต๊ะ จะเห็นว่า ปี 2019 เกิดโควิด แต่เราคิดเรื่อง 100X คือ บางจาก 100 ปี และมุ่งทำ EBITDA 1 แสนล้าน และให้พนักงานมีความสุข 100 เท่า ซึ่งตอนที่คิด EBITDA อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท ผ่านมาครึ่งทาง เรา 45,000 ล้านบาทแล้ว”

นางสาวภัทร์ภูรี ชินกุลภิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน ระบุว่า ภาพรวมการขับเคลื่อน EBITDA 1 แสนล้านบาทนั้น ได้วางงบฯลงทุนปี 2567-2573 ไว้ 150,000 ล้านบาท โดยในปี 2567 จะใช้งบฯลงทุน 50,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นธุรกิจสำรวจและจัดหาทรัพยากรธรรมชาติ (E&P) 17,000 ล้านบาท ผ่านธุรกิจบีซีพีอาร์ ธุรกิจพลังงานสะอาด 14,000 ล้านบาท ผ่านบริษัท โรงกลั่นและเทรดดิ้ง 9,000 ล้านบาท โรงกลั่นบางจากศรีราชา (BSRC) 1,700 ล้านบาท ธุรกิจใหม่ 5,000 ล้านบาท การตลาดน้ำมัน 1,700 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ไบโอเบส 800 ล้านบาท

บุกสำรวจ “อาเซียน”

นายโกมุท มณีฉาย ผู้อำนวยการ บริษัท บีซีพีอาร์ จำกัด ธุรกิจสำรวจและจัดหาแหล่งปิโตรเลียม เปิดเผยว่า บีซีพีอาร์ได้เข้าไปลงทุนถือหุ้นในบริษัท OKEA ASA ประเทศนอร์เวย์ ธุรกิจต้นน้ำ คือ แหล่งปิโตรเลียม โอเกียผลิต มี 4 แหล่ง ได้แก่ แหล่ง Draugen แหล่ง Gjoa แหล่ง Yme และแหล่ง Ivar Aasen มีกำลังการผลิตรวม 16,000-23,000 บาร์เรลต่อวัน คาดว่าปี 2567 จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เท่าตัวเป็น 40,000 บาร์เรลต่อวัน

“สเต็ปต่อไป เราจะนำเอาโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากโอเกีย มาใช้ในการสำรวจและหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในอาเซียน เพราะมีประเทศที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งพลังงานอยู่ เราอยากจะสร้างฟุตพรินต์ของเราในภูมิภาคนี้ โดยเป้าหมายเราจะคอนทริบิวต์ให้ได้ 1 แสนบาร์เรลต่อวันในปี 2573 ตามเป้าหมายของบางจาก”

นายโกมุทกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ไทยต้องหาแหล่งพลังงานเพิ่ม จะเห็นว่าวันนี้ค่าไฟจะปรับขึ้นจาก 3.99 เป็น 4.68 บาท เพราะต้นทุนแหล่งที่มาของก๊าซธรรมชาติของไทยลดลง จึงต้องเพิ่มการนำเข้า นี่เป็นตัวอย่างว่าแหล่งวัตถุดิบเป็นสิ่งสำคัญ หรือจากปัญหาเรื่องรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น ก็ส่งผลกระทบต่อพลังงาน หรือล่าสุดอย่างอิสราเอล-ฮามาสก็มีผล ดังนั้น การลงทุนในธุรกิจต้นน้ำจะเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงาน

“แม้ว่าเทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะมา แต่ถ้าไฟฟ้าที่เติมอีวีไม่ได้มาด้วยพลังงานสะอาดก็จะไม่ได้เข้าไปช่วยโลก การเติมรถยนต์ไฟฟ้าส่วนหนึ่งก็มาจากไฟฟ้าที่ผลิตโดยก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในพลังงานสะอาด นั่นจึงทำให้เราจำเป็นต้องทำธุรกิจสำรวจและจัดหาแหล่งปิโตรเลียม หากก๊าซธรรมชาติหายไป ต้นทุนค่าไฟก็สูงขึ้น ฉะนั้นเราต้องหาต้นทุนถูกลงเพื่อทำอย่างไรก็ได้ที่จะนำไฟฟ้ามาเติมอีวี”

ควบรวมโรงกลั่น ดันกำลังผลิต

นายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน กล่าวว่า ธุรกิจโรงกลั่นปี 2567 หลังจากการควบรวม 2 โรงกลั่น จะมีกำลังการผลิต 278,000 บาร์เรลต่อวัน จากที่วางเป้าหมายไว้ 260,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเป็นของโรงกลั่นบางจากศรีราชา 155,000 บาร์เรลต่อวัน

ขณะที่บริษัทกรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ (BFPL) ธุรกิจโลจิสติกส์ซึ่งเป็นธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อของบางจาก จะต้องปรับภาพเปลี่ยนไปหลังจากการควบรวม โดยจะมีปรับแผนการบริหารเทอร์มินอล และปรับ Rezoning ในการขนส่ง ซึ่งเป็นการ Synergy ธุรกิจเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยให้มีต้นทุนการกลั่นต่ำที่ประมาณ 1.3 เหรียญสหรัฐบาร์เรล

เตรียมบุก “ทรักส์สเตชั่น” ทั่วประเทศ

นายเสรี อนุพันธนินท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจาก 28% เป็น 30% ให้ได้ภายในปี 2573 มีแผนจะเปลี่ยน BSRC หรือเอสโซ่เดิมเป็นบางจากให้เสร็จกลางปี 2567 ครบทั่วประเทศ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีสถานี 2,221 สถานีบริการ และทยอยเพิ่มเป็น 2,500 สถานีในปี 2573 ส่วนธุรกิจ Nonoil ได้มีการขยายร้านอินทนิลเพิ่มขึ้นปีละ 140 สาขา รวมเป็น 2,000 สาขาในปี 2573

นายนิวัฒน์ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากปีนี้ 3,700 GWh เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในปีหน้า และไปสู่ 9,400 GWh ในปี 2573 โดยปัจจุบันบริษัทขยายการลงทุนไปยัง 7 ประเทศ มีการผลิตทั้งพลังงานหมุนเวียน (ลมและแสงแดด) และโรงไฟฟ้าใหญ่คอมบายไซเคิล มีสายส่ง และล่าสุดยังได้ทำโซลาร์รูฟท็อปให้สถานีบริการน้ำมันบางจากกว่า 2,000 ปั๊ม

ขณะเดียวกันยังมองถึงโอกาสการลงทุนพัฒนาเรื่องแบตเตอรี่รถอีวี โดยบริษัทจะรับหน้าที่ดูแลแร่ลิเทียมคาร์บอเนตที่ได้จากแหล่งแร่ที่บางจากได้เคยซื้อและสัญญาขายไปแล้ว (Lithium Americas Corp. หรือ LAC ซึ่งมีเงื่อนไขว่าขายแหล่งแต่จะยังได้รับแร่ลิเทียมจากแหล่งนั้น) ปริมาณ 6,000 ตันต่อปี เพื่อนำผลิตเซลล์แบตเตอรี่และคอมแพ็กต์แบตเตอรี่สำหรับอีวี เตรียมขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งทางเรือ มีแผนจะขยายไปสู่ธุรกิจขนถ่ายแอมโมเนีย ซึ่งจะเป็นส่วนผสมสำคัญสำหรับใช้ในการขนถ่ายไฮโดรเจน

16/12/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 16 ธันวาคม 2566 )

Youtube Channel