info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.149.229.120

โรงงานแบตเตอรี่ EV ปตท.NV Gotion ลุยทำตลาด ปี 2567

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

การส่งเสริมความสมบูรณ์ของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นหนึ่งในธุรกิจใหม่ที่ บมจ.ปตท. มุ่งขับเคลื่อน โดยเฉพาะหัวใจหลักของอีวีอย่าง “แบตเตอรี่” นั้น ปตท.ได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรจากจีน

ร่วมเปิดโรงงานและเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ของบริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ณ สวนอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค 2 อ.ปลวกแดง จ. ระยอง เริ่มเดินเครื่องประกอบแบตเตอรี่ก้อนแรกเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 และพร้อมผลิตได้ภายในต้นปี 2567

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายลักษณะปรีชา ครุฑขุนทด” ประธานกรรมการ บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด ถึงความร่วมมือนี้ ว่าเกิดจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดอีวีไทย นำมาสู่ความร่วมมือระหว่างบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus)

ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. กับ Gotion Singapore Pte. Ltd. (Gotion) ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบ และจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่สำหรับอีวี และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565

“บริษัทมองว่าโอกาสการเติบโตของห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีในประเทศไทย หลังจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่เรียกว่า 30@30 เป็นเหตุผลสำคัญที่ให้เกิดการชักชวนกันระหว่างผู้บริหารของทั้งสองบริษัทไทย-จีนว่าขอให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะตลาดอีวีของไทยกำลังเติบโต ทาง Gotion ก็ได้ให้ความสนใจอย่างมาก จึงเป็นที่มาของ NV Gotion ผลิดอกออกผลเป็นโรงงานประกอบแบตเตอรี่”

ปัจจุบันโรงงาน NV Gotion ที่เราเปิด ณ ขณะนี้ เรียกว่า โรงงานระยะที่ 1 (Phase 1) มี โรงงานประกอบชุดแบตเตอรี่ NV Gotion กำลังการผลิตอยู่ที่ 2 จิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

ซึ่งสามารถประกอบแบตเตอรี่ให้รถอีวีขนาดเล็กได้ทั้งหมด 20,000 คัน โดยแบตเตอรี่ที่ประกอบภายในโรงงานเป็น แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนคุณภาพสูงประเภท LFP นำเข้าจากโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ของ Gotion ในประเทศจีน

โดยเราสามารถขยายกำลังผลิตได้ถึง 4 จิกะวัตต์ต่อปี จากนั้นค่อยขยายกำลังผลิตไปจนเต็มกำลังผลิต รวมถึงในอนาคตก็มีแผนว่าที่จะเปิดโรงงานระยะที่ 2 ในกำลังผลิตเท่ากัน หากเปิดครบทั้ง 2 ระยะแล้ว จะมีกำลังผลิตสูงสุดที่ 8 จิกะวัตต์ต่อปี เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดอีวีทั้งในไทยและในอาเซียน

“ปัจจุบันตลาดอีวีในประเทศไทยเติบโตปีละ 2-3 เท่า เราจึงคาดว่า กำลังผลิตที่ 2 จิกะวัตต์ต่อปี จะช่วยให้ NV Gotion เติบโตได้ภายใน 2-3 ปี หากตลาดอีวีในประเทศยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

ซึ่งเป็นผลจากการที่ทางบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่เริ่มเข้ามาลงทุนและตั้งโรงงานผลิตอีวีในประเทศไทยมากขึ้นตามเงื่อนไขของแพ็กเกจอีวี 3.0 ที่ว่า ให้ผลิตชดเชยเท่ากับจำนวนที่นำเข้ารถยนต์ที่ผลิตจากต่างประเทศ (Completely Built Up หรือ CBU) ในระหว่างปี 2565-2566 ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2567

นายลักษณะปรีชามองว่า ปัจจุบันการสนับสนุนของรัฐจะเน้นการผลิตเซลล์แบตเตอรี่มากกว่าการประกอบแบตเตอรี่ แต่ว่าการประกอบแบตเตอรี่ก็มีความสำคัญในฐานะส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมอีวี เราจึงอยากให้ภาครัฐสนับสนุนด้วยเช่นกัน

ทั้งในเรื่องการสนับสนุนเงินลงทุนและสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับการนำเข้าเซลล์แบตเตอรี่เช่นเดียวกับแพ็กเกจอีวี 3.0 และอีวี 3.5 เพื่อให้การผลิตรถอีวีในประเทศไทยสามารถแข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้านและเสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมอีวีให้ครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ในส่วนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่เองนั้น ตอนนี้บริษัทอยู่ในระหว่างการพูดคุยกับหลายฝ่าย ต้องอธิบายก่อนว่า การผลิตเซลล์แบตเตอรี่จะมีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่าการประกอบและมีต้นทุนที่สูงกว่า เพราะอาจจะต้องนำเข้าวัตถุดิบ

แต่อย่างไรก็ตาม หากตลาดในเมืองไทยเติบโตได้ดีและเราสามารถขยายไปยังตลาดภูมิภาคได้ ไทยอาจจะสามารถขยายการผลิตไปสู่การผลิตเซลล์แบตเตอรี่เองได้ ซึ่งในตอนนี้บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการศึกษาและพิจารณาถึงความคุ้มค่า เพราะในปัจจุบันการนำเข้าเซลล์แบตเตอรี่ยังมีราคาถูกกว่าการผลิตเอง

ลุ้นบีโอไอหนุนแบตอีวี

ย้อนกลับไปในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ได้พิจารณามาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ไปแล้วในแพ็กเกจอีวี 3.0 เป็นที่เรียบร้อย ทั้งการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจาก 8% ลดเหลือ 1% รวมถึงการให้เงินสนับสนุน 24,000 ล้านบาทเพื่อผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย

ทว่า ในการประชุมบอร์ดอีวี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา กลับไม่มีสิทธิประโยชน์เรื่องการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในแพ็กเกจอีวี 3.5 โดยแพ็กเกจใหม่ตั้งเงื่อนไขกระตุ้นการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้า CBU (Completely Built Up) ภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 หรือนำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 หรือนำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 3 คัน ภายในปี 2570

พร้อมทั้งกำหนดให้แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปที่นำเข้า และผลิตในประเทศไทยจะต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) รวมถึงรถอีวีที่ผลิตและนำเข้าต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานตามมาตรฐานสากลจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) พร้อมรองรับการใช้ Quick Charge ได้

แต่อย่างไรก็ตาม เอกชนยังเชื่อมั่นว่าภาครัฐจะพิจารณามาตรการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นมาตรการภาครัฐก็ได้รับปากกับภาคเอกชนไว้แล้วว่า จะเร่งผลักดันมาตรการสนับสนุนแบตเตอรี่ภายหลังจัดการเรื่องสิทธิประโยชน์ของตัวรถที่จะผลิตเสร็จสิ้น

15/12/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 15 ธันวาคม 2566 )

Youtube Channel