info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.117.184.236

ไฮสปีดเชื่อมอีอีซียื่นเรื่องขอรับบีโอไอใหม่

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของสัญญา หลังจากที่บริษัทเอเชีย เอรา วัน คู่สัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไม่มายื่นขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นครั้งที่สาม (สิ้นสุดวันที่ 23 พฤษภาคม 2567) ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายตามที่ BOI ผ่อนผันอุทธรณ์ให้ โดยการไม่ยื่นขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในสัญญาที่ระบุไว้ว่า ร.ฟ.ท.จะออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP หรือ Notice to Proceed)ได้ก็ต่อเมื่อเอกชน (บริษัทเอเชีย เอรา วัน) นำบัตรส่งเสริมการลงทุนมาแสดง

ดังนั้นเมื่อไม่มีบัตรส่งเสริมการลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ก็ไม่อาจเริ่มต้นโครงการตามที่กำหนดจนเกิดความล่าช้า และอาจถูกใช้เป็นเหตุผลที่จะบอกเลิกสัญญาโครงการมูลค่า 224,544.36 ล้านบาทได้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานหลังจากบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ไม่มาออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ซึ่งจะเป็นวันสุดท้ายนั้น ปรากฏก่อนหน้านี้บริษัทได้เจรจาแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับ ร.ฟ.ท. โดยที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด ร.ฟ.ท.) ได้มีมติเห็นชอบที่จะแก้ไขสัญญา

ประกอบไปด้วย 1) ให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุน โครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดย ร.ฟ.ท.ได้รับค่าสิทธิครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสอีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท โดยให้ผ่อนจ่ายเป็นจำนวน 7 งวด งวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย

2) เงินที่รัฐบาลร่วมลงทุนในโครงการคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 119,425 ล้านบาท รัฐบาลจะจ่ายให้ก่อนกำหนดในงวดที่ 18 นับจากวันที่ ร.ฟ.ท.ออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) หรือที่เรียกว่า “สร้างไปจ่ายไป” จากเดิมที่รัฐบาลต้องจ่ายหลังเอกชนก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ

3) ให้บริษัทเอเชีย เอรา วัน ต้องวางหนังสือค้ำประกัน ซึ่งเป็นหลักประกันทางการเงิน (Bank Guarantee) เพิ่มเติมใน 2 ส่วนคือ ในส่วนของค่าสิทธิร่วมลงทุนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671.09 ล้านบาท กับส่วนของเงินฝ่ายรัฐบาลร่วมลงทุน วงเงิน 119,425 ล้านบาท หรือประมาณ 130,000 ล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมั่นใจว่า เอเชีย เอรา วัน คู่สัญญาจะสามารถดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ การวางหนังสือค้ำประกันวงเงินรวม 130,000 ล้านบาท ถือเป็นการ “ทดแทน” กรณีบริษัทเอเชีย เอรา วัน ไม่มายื่นเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมการลงทุนเพื่อนำไปแสดงกับ ร.ฟ.ท.ให้ออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงานตามที่ระบุไว้ในสัญญา โดยเงื่อนไข NTP ในสัญญาข้อนี้ตกลงให้ตัดออก เนื่องจาก “เลยระยะเวลาและขั้นตอนการขอสิทธิประโยชน์จาก BOI ไปแล้ว”

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังการขยายระยะเวลาออกบัตรส่งเสริมการลงทุนเป็นครั้งที่สาม (23 พฤษภาคม 2567) สิ้นสุดลง ผู้บริหารของบริษัทเอเชีย เอรา วัน ได้เข้ามาพบ BOI เพื่อชี้แจงการเจรจาแก้ไขสัญญากับ ร.ฟ.ท. และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งแนวทางในการดำเนินการของบริษัทต่อจากนี้ด้วย

โดยบริษัทยืนยันว่า จะขอรับสิทธิประโยชน์จาก BOI ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินต่อไป “ขณะนี้ทาง BOI กับบริษัทอยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียด เพื่อจัดเตรียมเอกสารและแผนทางลงทุนที่มีความชัดเจนสำหรับใช้ประกอบการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนครั้งใหม่อีกครั้ง” นายนฤตม์กล่าว พร้อมกันนี้ BOI ยืนยันว่า ยังคงให้ความสำคัญกับโครงการนี้อยู่ และจะสนับสนุนการพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นโดยเร็วด้วย

ล่าสุด นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการนี้ว่า เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นคู่สัญญาได้ข้อสรุปร่วมกับบริษัทเอเชีย เอรา วัน เรียบร้อยแล้ว ก็จะนำผลสรุปเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC ในครั้งต่อไปที่จัดขึ้นในวันที่ 10 มิถุนายน 2567 จากนั้นจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วทาง EEC ก็จะเจรจากับบริษัทเอเชีย เอรา วัน ในเรื่องสิทธิประโยชน์รายโครงการเป็นขั้นตอนต่อไป โดยคาดว่าโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้

“ทาง ร.ฟ.ท.เป็นคนคุยบริษัทเอเชีย เอรา วัน เราต้องรอที่ ร.ฟ.ท. สรุปแล้วจะเสนอเข้าบอร์ด EEC อีกครั้ง เพราะต้องดำเนินการตามขั้นตอน เขาต้องกำกับดูแล คาดว่าประมาณวันที่ 10 หรือไม่เกินกลางเดือนมิถุนายน 2567 จะได้ข้อสรุป ซึ่งมีทั้งที่ปรับสัญญา 4 ข้อ ขอคุยกับ ร.ฟ.ท.ด้วย กระบวนการขออนุมัติที่ กพอ.ก่อน และเข้า ครม.อีกครั้ง โดยสิ่งที่จะคุยกันก็คือ จะเดินหน้าโครงการต่อไปหรือไม่ อย่างไร แต่จะยังไม่พูดเรื่องสิทธิประโยชน์ตอนนี้จนกว่าจะรู้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน” นายจุฬากล่าว

29/5/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 29 พฤษภาคม 2567 )

Youtube Channel