บนรอยต่อของนโยบายยุคใหม่ที่ผู้นำรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีข้อสั่งการให้หันมาเน้นสร้างบ้านผู้มีรายได้น้อยและปานกลางที่เป็นโหมดบ้านเช่า จากเดิมเป็นบ้านโอนกรรมสิทธิ์เป็นหลักบนราคาเช่า 1,500-3,000 บาท/เดือน ล่าสุด ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการ กคช. อัพเดตสิ่งที่จะต้องทำในปี 2565
ทั้งนี้ กคช.จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2516 ปัจจุบันสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กับผลงานยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยและปานกลางทั่วประเทศ เพิ่งผ่านการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ประจำปี 2564 ได้ 97.93 จาก 100 คะแนน ถือเป็นอันดับ 1 ของหน่วยงานภายใต้สังกัด พม. และอันดับ 8 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมด รวมทั้งได้รับผลการประเมิน AA ในระดับประเทศ ถือเป็นโจทย์ท้าทายในปี 2565 ที่จะต้องทำคะแนน ITA ให้ได้มากกว่าปี 2564
ย้อนกลับไปเมื่อ 49 ปีที่แล้ว ท่านผู้ว่าการ กคช.คนแรก นายวทัญญู ณ ถลาง ที่ดินหลายแปลงของ กคช.เมื่อก่อนเราอยู่กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าการ กคช.ในสมัยก่อนต้องนั่งอยู่ในกรรมการโยธาธิการและผังเมือง เพราะที่ดินหลายแปลงที่เราซื้อ ณ ตอนนั้นราคาไม่แพง แต่อยู่ในแผนลงทุนพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็นชานเมืองหรือรอบ ๆ วันนี้ที่ดินเหล่านี้มีมูลค่ามากและเป็นที่ดินที่สามารถตอบโจทย์ให้กับประชาชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมุทรปราการ ที่เปรียบเสมือนเมืองหลวงของ กคช. เพราะเรามีอาคาร 60,000 หน่วย จะเห็นว่าวันนี้กลายเป็นแหล่งทอง และเป็นแหล่งที่อยู่ให้กับแรงงานและประชาชนหลายคน สถิติ 49 ปีพัฒนาที่อยู่อาศัยแล้ว 746,439 หน่วย
สานต่อบ้านเช่าพ่วงอาชีพ
สำหรับโครงการไฮไลต์ในปี 2564 ดำเนินการต่อเนื่องในปี 2565 ได้แก่ 1.โครงการบ้านเคหะสุขประชา ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 30 มิถุนายน 2563 เป้าหมายจัดสร้าง 100,000 หน่วย ภายใน 5 ปี (2564-2568) กำหนดส่งมอบปีละ 20,000 หน่วย เป็นบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง ข้าราชการชั้นผู้น้อย ข้าราชการเกษียณ รวมถึงผู้บุกรุกในพื้นที่สาธารณะ ค่าเช่า 1,500-3,000 บาท/เดือน
จุดเน้นอยู่ที่มีการส่งเสริมเศรษฐกิจสุขประชา 6 กลุ่มอาชีพ ทั้งค้าขายในตลาด การบริการในชุมชน ปศุสัตว์ เกษตรอินทรีย์ ศูนย์การค้าปลีกและส่งและอุตสาหกรรมขนาดเล็ก โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ตามความเหมาะสม มีธนาคารออมสินสนับสนุนสิน
เชื่อ
ปัจจุบันกำลังก่อสร้างนำร่องในกรุงเทพฯ 2 โครงการ จำนวน 572 หน่วย มีบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง 302 หน่วย กับบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า 270 หน่วย ซึ่งเคหะสุขประชาเรียกว่าเป็นบ้านเช่าพร้อมอาชีพ ตอนที่เสนอสภาพัฒน์อยากนำร่อง 5 โครงการ แต่ทางสภาพัฒน์ให้ทำนำร่องก่อน 2 โครงการ เนื่องจากกังวลว่าถ้าทำหลายโครงการแล้วจะมีปัญหาเพราะในอดีตเคยมีปัญหาจากโครงการบ้านเอื้ออาทร
2.มีมติ ครม.เห็นชอบจัดตั้งบริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 โดย กคช.ถือหุ้น 49% เอกชน 7 กลุ่มธุรกิจถือหุ้น 51% วัตถุประสงค์ตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อระดมทุนมาลงทุนพัฒนาโครงการไม่ให้เป็นหนี้สาธารณะและภาระของรัฐบาล
ฟื้นฟูแฟลตดินแดง เฟส 2
3.โครงการบ้านเคหะสุขเกษม เป็นบ้านเช่าระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ ข้าราชการเกษียณ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐที่ปัจจุบันอาศัยบ้านหลวง ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง พนักงานบริษัท และประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 55-60 ปีขึ้นไป มีมติ ครม.อนุมัติโครงการต้นแบบเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564
โครงการนำร่องบนที่ดินย่าน ถ.เทพารักษ์ บางพลี สมุทรปราการ ซึ่งเป็น sank cost ที่เป็นอาคารก่อสร้างไปแล้ว 70-80% จะนำกลับมารีโนเวตใหม่ โครงสร้างยังอยู่ในสภาพที่แข็งแรง ออกแบบภายใต้หลักอารยสถาปัตย์หรือยูนิเวอร์แซลดีไซน์ เป็นอาคารชุดสูง 5 ชั้น มีลิฟต์ทุกอาคาร ห้องพักอาศัยขนาด 33 กับ 56 ตารางเมตร เฟสแรกพัฒนา 1 อาคาร 40 หน่วย ค่าเช่า 3,200-5,000 บาท/เดือน
ทั้งนี้ หากมีผู้สนใจจองเป็นจำนวนมาก เขาจะเสนอคณะรัฐมนตรีนำอีก 220 กว่าหน่วยที่เหลือมาปรับปรุงเพื่อพร้อมรองรับข้าราชการที่จะเกษียณอายุได้เข้าอยู่อาศัยในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 และมีอาคารเหลืออีก 3,000 หน่วย คาดว่าจะเป็น community ใหญ่ที่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้
4.โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ปัจจุบันมีการลงทุนฟื้นฟูเฟส 1 อาคารแปลง G 332 หน่วย ย้ายคนเช่าจากอาคารแปลง A และ D มาอยู่อาศัยโดยจ่ายค่าเช่าเดิมเดือนละ 300 บาท ค่าส่วนกลาง 750-850 บาท โครงการนี้ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ถ้าสร้างอาคารอย่างเดียวจะคืนทุนภายใน 125 ปี แต่นำมาพัฒนาใหม่ทำให้แฟลตดินแดงจะกลายเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจใหม่
ปัจจุบันกำลังทำเฟส 2 อาคาร A1 สูง 32 ชั้น 635 หน่วย กับ D1 สูง 35 ชั้น 612 หน่วย แต่สถานการณ์โควิดทำให้ล่าช้าไป 2 ปี ก็ยังเป็นความมุ่งมั่นที่จะต้องเดินหน้าต่อ มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ เช่น จัดทำแปลงผักชั้นดาดฟ้าอาคารแปลง G และธนาคารสัจจะรีไซเคิลเคหะชุมชนดินแดง นอกจากที่ดินแดงแล้วยังมีโครงการเคหะชุมชนห้วยขวางและรามอินทราที่มีอายุ 30-40 ปี และจะต้องนำมาพัฒนาใหม่
5.โครงการรับคืนอาคารเช่าจากบริษัทเอกชนและนำกลับมาบริหารเอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้อยู่อาศัย จากเดิมผู้เช่าจ่าย 3,000 กว่าบาท ลดลงอย่างน้อย 40% เดิม กคช.ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทคู่สัญญา 800-900 บาท/หน่วย คุณภาพอาคารเริ่มทรุดโทรมมีเป้าหมายรับคืนอาคารเช่า 60 สัญญา 32,632 หน่วย ปัจจุบันรับคืนแล้ว 51 สัญญา 27,917 หน่วย ส่วนที่เหลือมีการฟ้องร้องคดีในศาล
6.โครงการสินเชื่อเช่าซื้อสำหรับผู้มีรายได้น้อย มีมติ ครม.ปี 2562 อนุมัติวงเงินรวม 5,207 ล้านบาท โดยมีคณะกรรมการบริหารสินเชื่อที่อยู่อาศัย (คบส.) เป็นผู้พิจารณาให้สินเชื่อกับลูกค้าซึ่งถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน คุณสมบัติผู้กู้ต้องไม่ติดเครดิตบูโร ต้องมีอาชีพที่ชัดเจน ต้องถูกปฏิเสธสินเชื่อจากทางธนาคาร สำหรับคน คช. คำว่า คบส. ย่อมาจาก คน บ้าน และความสุข
7.โครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (SSC-Smart and Sustainable Community for Better Well-being) ความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างบ้านประหยัดพลังงานเบอร์ 5 และขยายความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) นำร่องที่โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง (นิติ 1) เป็นรูปธรรมนำเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนา และการรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ (sandbox) มาใช้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และจะขยายผลการดำเนินงานในปีเสือ
7/2/2565 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (7 กุมภาพันธ์ 2565)