info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.135.249.157

กทม. ผนึก NT – กฟน. เร่งนำสายสื่อสารลงดิน 100 กิโลเมตร

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

กทม. ผนึก NT – กฟน. เร่งนำสายสื่อสารลงดิน 100 กิโลเมตร เนื่องจากไม่มีเสาไฟฟ้าแล้ว

วันที่ 14 มิถุนายน 2565 รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่อง การนำสายสื่อสารลงใต้ดิน กับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ว่า

การประชุมวันนี้ได้ผลที่ดี โดยได้หารือกับนายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) เกี่ยวกับท่อโครงข่ายสายสื่อสารใต้ดินที่ เอ็นที มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์จากช่องทางที่มีอยู่เพื่อนำสายสื่อสารลงดินให้ได้มากที่สุด

ซึ่งจะมีการคุยรายละเอียดถึงแผนการวางท่อที่พร้อมให้บริการของเอ็นทีที่มีอยู่แล้ว มีครอบคลุมบริเวณใดบ้าง โดยให้คณะทำงานหารือและเร่งสรุปแผนภายในหนึ่งสัปดาห์ ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ในการดำเนินงาน

ทั้งนี้ในการหารือเบื้องต้นพบว่ามี 4 กลุ่มที่ต้องนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 บริเวณที่การไฟฟ้านำเสาไฟฟ้าออกจากพื้นที่และนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้ว บริเวณดังกล่าวก็ต้องนำสายสื่อสารลงใต้ดินด้วย เนื่องจากไม่มีเสาไฟฟ้าแล้ว หรือเรียกว่าภาคบังคับ แต่ต้องมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ซึ่งจุดนี้ต้องรีบดำเนินการ ซึ่งจุดนี้มีระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร

กลุ่มที่ 2 บริเวณที่การไฟฟ้ายังไม่นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ผู้ประกอบการยังเดินสายบนเสาไฟฟ้า จุดนี้ต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ หากบริเวณใดที่มีท่อของเอ็นทีอยู่แล้ว ต้องขอให้นำสายสื่อสารลงดิน แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง แต่ก็จะคิดให้ต่ำที่สุดเนื่องจากเอ็นทีมีท่อเดิมอยู่แล้วไม่ต้องก่อสร้างใหม่ ดังนั้นค่าใช้จ่ายรวมในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินก็จะถูกลง

ส่วนกลุ่มที่ 3 บริเวณที่ต้องจัดระเบียบ แต่ยังมีเสาไฟฟ้าอยู่ ในกรณีที่กรุงเทพมหานครจะทำการปรับปรุงทางเท้าบริเวณดังกล่าว จะทำการวางท่อสายสื่อสารเพื่อรองรับไว้เลย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หลังจากนั้นจะขอความร่วมมือผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน

และกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่ต้องใช้ความพยายามมากหน่อย ซึ่งอยู่ในถนน ตรอกซอย ยังไม่มีท่อสายสื่อสารกลาง ได้หารือกันว่าจะทำอย่างไรที่ให้ผู้ประกอบการมาแชร์ค่าใช้จ่ายกันในการนำสายสื่อสารลงดิน เบื้องต้นเอ็นที เสนอว่าพร้อมที่จะเป็นตัวกลางในการประสานกับผู้ประกอบการ

14/6/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (14 มิถุนายน 2565)

Youtube Channel