info@icons.co.th 02 810 8892-6 35.171.45.182

คิกออฟ “กรอ.กรุงเทพ” 3 สถาบันเอกชนลงขันปั้นเมืองน่าอยู่ระดับโลก

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

30 กันยายน 2565 นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้ง “กรอ.กทม.” อย่างเป็นทางการ เป้าหมายเพื่อเป็นเวทีความร่วมมือใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชน

โดยมีตัวแบบจาก “กรอ.จังหวัด” ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีตัวแทนจากภาคธุรกิจสำคัญ 3 ฝ่าย คือ หอการค้าจังหวัด, สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และชมรมธนาคารจังหวัดร่วมเป็นกรรมการระดับคีย์แมน

สำหรับส่วนกลางอย่างกรุงเทพฯ มีเสาหลักภาคเอกชนคือ “กกร.-คณะกรรมการ 3 สถาบันภาคเอกชน” ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย มีช่องทางติดต่อสะท้อนปัญหาทางตรงกับรัฐบาล

ล่าสุด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 17 “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เปิดความร่วมมือมิติใหม่ภายใต้โมเดล “กรอ.กทม.” โดยประชุมนัดแรกไปแล้ว หลังจากนี้มีสัญญาใจที่จะทำงานร่วมกัน 9 ด้านให้สำเร็จภายใน 3 ปีนับจากนี้

Ease of Doing ใบอนุญาตออนไลน์

“สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า การประชุม กรอ.กทม.นัดแรกได้นำเสนอวาระหลายเรื่อง ทั้งยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาทันที เช่น ใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งเป็นคอสต์มหาศาล

“ถ้าเราต้องการโปรโมตด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งผมคิดว่าประเด็นนี้่นักลงทุนต่างประเทศคงจะให้ความสนใจ ถ้าเราต้องการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทย และเป็นประเด็นพิจารณาสำคัญตามหลัก ease of doing การทำธุรกิจในเมืองไทย หลังจากนี้คณะทำงานเตรียมพร้อมการทำงาน คาดว่าจะได้ข้อสรุปและนำเสนอต่อภาครัฐภายในต้นปี 2566 นี้”

จังหวะการก่อตั้ง “กรอ.กทม.” อย่างเป็นทางการ สอดคลองเหมาะเจาะกับนโยบาย “9 ด้าน 9 ดี” ของทีมชัชชาติ ซึ่งมีทั้งนโยบายที่สามารถทำได้ทันที กับนโยบายที่ต้องทุ่มเทความรู้ความสามารถและการประสานงานร่วมมือกัน

เปิดโพยขออนุญาตก่อสร้าง 10 ขั้นตอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนงาน 9 ข้อของ กกร. มีดังนี้

“ข้อเสนอสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1.ปรับรูปแบบการขออนุญาตก่อสร้างระบบออนไลน์ ปัจจุบันขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้างอย่างน้อย 10 ขั้นตอน ไม่ต่ำกว่า 12 หน่วยงานv ประกอบด้วย 1.1 การขอหนังสือรับรองจากผังเมือง ยื่นต่อสำนักผังเมือง กทม.-กรมโยธาธิการและผังเมือง 1.2 การขออนุญาตเชื่อมทาง ยื่นต่อกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท. 1.3 ขออนุญาตระบายน้ำ ยื่นต่อกรมชลประทาน กรมเจ้าท่า อปท.

1.4 ขอหนังสือรับรองการจัดเก็บขยะ ยื่นต่อ อปท. กทม. 1.5 ขอประเมินค่าก่อสร้างขยายเขตไฟฟ้า และหนังสือรับรองเขตจ่ายไฟฟ้า ยื่นต่อการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1.6 ขอประเมินค่าก่อสร้างขยายเขตประปา และหนังสือรับรองเขตจ่ายประปา 1.7 ขออนุญาตก่อสร้างสะพานและเขื่อน ยื่นต่อกรมชลประทาน กรมเจ้าท่า อปท.

1.8 ขอประเมินมูลค่าก่อสร้างสาธารณูปโภคทั้งโครงการ ยื่นต่อกรรมการจัดสรรที่ดิน กรมโยธาฯ 1.9 ขอหนังสือค้ำประกันค่าก่อสร้างสาธารณูปโภค ยื่นต่อสถาบันการเงิน 1.10 กรณีโครงการเกิน 100 ไร่ หรือ 500 แปลงขึ้นไปต้องขอใบอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ยื่นต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นต้นv ข้อเสนอคือ โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องทำ EIA ขอให้ กทม.ร่วมกับ สผ.เพิ่มจำนวนที่ปรึกษาอีไอเอให้เพียงพอ ปัจจุบันขาดแคลนและราคาสูง ขณะเดียวกัน โครงการที่ไม่ต้องทำ EIA ขอให้ยื่นขออนุญาตระบบอิเล็กทรอนิกส์

2.ทบทวนราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ผลกระทบสถานการณ์โควิดและสงครามทำให้ราคากลางงานประมูลภาครัฐกับต้นทุนจริงไม่สอดคล้องกัน ข้อเสนอคือ กรอ.กทม.จัดเวทีหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง ผลักดันให้มีราคากลางที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

3.ยกระดับสตรีตฟู้ดโดยสร้างอีโคซิสเต็มที่เหมาะกับการพัฒนาและบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs สถานะปัจจุบัน กทม. เป็น 1 ใน 23 เมืองทั่วโลกที่มีสตรีตฟู้ดดีที่สุด ข้อเสนอทางหอการค้าและสภาหอฯ ร่วมกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) สนับสนุนและร่วมมือยกระดับมาตรฐานและความสะอาดของสตรีตฟู้ดในกรุงเทพฯ

สภาอุตฯ โฟกัส “ขยะ-ฟื้นฟู-Satey Food”

“ข้อเสนอสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” 3 ข้อ ได้แก่ 4.โครงการบริหารจัดการขยะและการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ (upcycling) แนวทางความร่วมมือโดย ส.อ.ท.ร่วมกับ 28 องค์กรพันธมิตร นำร่องลดและคัดแยกขยะ (pilot zero-waste district)

ไทม์ไลน์ปี 2565 นำร่องสร้างต้นแบบการแยกขยะ 3 เขต “ปทุมวัน พญาไท หนองแขม” และปี 2566 ขยายผล 47 เขตที่เหลือ เขตละ 3 เส้นทาง ลงลึกระดับแขวง

5.โครงการฟื้นฟูและปรับปรุงคลองต้นแบบ โครงการนำร่องที่คลองหัวลำโพงและตลาดคลองเตย เบื้องต้นประเมินใช้งบประมาณ 62 ล้านบาทในการปรับปรุงและฟื้นฟูน้ำเสียในตลาดคลองเตยก่อนปล่อยลงสู่คลองสาธารณะ

6.โครงการจัดการความปลอดภัยร้านอาหาร street food & safety food โฟกัส 4 ด้าน เช่น คุณภาพอาหาร มีการสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารตรวจหาการปนเปื้อนสารเคมีและเชื้อโรค, สถานที่ขายอาหารทั้งตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ต ร้านโชห่วย ร้านอาหาร หาบเร่แผงลอย, คนขายอาหารต้องผ่านการตรวจสุขภาพ 9 โรค และอบรมหลักสูตรสุขาภิบาลอาหาร เป็นต้น

ส.ธนาคารผลักดัน Digital Money

“ข้อเสนอสมาคมธนาคารไทย” 3 ข้อ ได้แก่ 7.ผลักดันใช้ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์และแจ้งเกิด digital transformation เริ่มต้นจากการจ่ายภาษีและค่าธรรมเนียม กทม.ต่าง ๆ ปัจจุบันจ่ายและรับใบเสร็จที่จุดบริการ หรือจ่ายเงินออนไลน์แต่ใบเสร็จส่งไปรษณีย์ โดย next step จะพัฒนาให้รับใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอีเพย์เมนต์

ตามแผน เดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ คาดว่าเปิดให้จ่ายเงินออนไลน์สำหรับภาษีน้ำมันและค่าธรรมเนียม ซึ่งเมื่อจ่ายแล้วให้มีผลทางกฎหมายทันที

8.ส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อคนกรุงเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ปัจจุบัน กทม.ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ข้อมูลเพื่อเข้าร่วมมหกรรมร่วมใจแก้หนี้, การให้ความรู้ทางการเงินและเงินดิจิทัล (financial literacy) เป็นต้น โดย กทม.ให้ความรู้ชุมชนอย่างต่อเนื่องผ่านศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัวและแก้ไขปัญหาหนี้สิน 50 สำนักงานเขต

สุดท้าย 9.ผลักดันให้ กทม.เป็นเมืองนำร่องในการเชื่อมโยงระบบชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาค สถานะปัจจุบัน กทม.ยังไม่ได้กำหนดยุทธศาสตร์เรื่องนี้ รวมทั้งยังไม่มีหน่วยงานหลักรับผิดชอบ

จุดโฟกัสผลักดัน กทม.เป็นเมืองนำร่องเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย เป็นไปตามแผนงาน regional championing และ cross-border payment connectivity ของสมาคมธนาคารไทยในการรับชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย สำคัญที่สุดคือมีต้นทุนต่ำด้วย

9/10/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (9 ตุลาคม 2565)

Youtube Channel