ช่วงครึ่งปีแรก 2567 ที่ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลตกต่ำในรอบ 10-12 ปี เนื่องจากรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน ล่าสุดถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาแบงก์เข้มงวดการพิจารณาสินเชื่อ ส่งผลให้ยอดกู้ไม่ผ่านสูงถึง 70% และถูกซ้ำเติมด้วยแบงก์ชาติใช้ LTV บังคับเงินดาวน์แพง ล่าสุดกลุ่มเพอร์เฟคประกาศเลื่อนแผนลงทุนเปิด 6 โครงการใหม่ในครึ่งปีหลัง รอลงทุนปี 2568 แทน
วันที่ 1 สิงหาคม 2567 นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ต้นไตรมาส 3/67 บริษัทเดินหน้าเปิดตัวโครงการ เพอร์เฟค เพลส ราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์ บนที่ดิน 45 ไร่ จำนวน 163 ยูนิต มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เพอร์เฟคเคยประกาศแผนลงทุนใหม่ในปีนี้ จำนวน 7 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากผลประกอบการในด้านยอดขายช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2567) พบว่าสามารถทำยอดขายได้เพียง 4,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 70% ของเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ 13,000 ล้านบาท
ดังนั้น บริษัทจึงตัดสินใจเลื่อนแผนลงทุนเปิดโครงการใหม่จำนวนที่เหลืออีก 6 โครงการ ออกไปเป็นแผนลงทุนในปี 2568 แทน เพราะไม่มีเหตุผลที่จะฝืนแรงโน้มถ่วงจากปัญหากำลังซื้อตกต่ำ สถาบันการเงินรวมทั้งแบงก์ชาติตั้งการ์ดสูง
ทำให้มีการพิจารณาสินเชื่ออย่างเข้มงวด และส่งผลให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อสูงผิดปกติมาอยู่ที่ 70% ซึ่งเป็นภาพรวมทั้งตลาด ไม่ใช่ผลกระทบที่เกิดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
นายวงศกรณ์กล่าวว่า อยากเสนอให้มีการปลดล็อกด้านการเงินอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภคที่มีดีมานด์ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ดังนี้
1.ข้อเสนอถึงแบงก์ชาติ ขอให้พิจารณาผ่อนปรนการบังคับใช้ LTV-loan to value (บังคับเงินดาวน์ 20% สำหรับเงินกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 และเงินดาวน์ 30% สำหรับเงินกู้ซื้อบ้านหลังที่ 3 เป็นต้นไป)
โดยขอให้ยกเลิกการบังคับ LTV สำหรับการขอสินเชื่อซื้อบ้านหลังที่ 1-2 ถ้าหากแบงก์ชาติต้องการป้องกันการเก็งกำไร เสนอให้บังคับใช้กับการขอสินเชื่อซื้อบ้านหลังที่ 3 เป็นต้นไป
2.เสนอถึงแบงก์เอกชน ขอให้มีการพิจารณาปล่อยกู้สำหรับสินเชื่อซื้อบ้านหลังที่ 1-2 เพราะไม่ใช่การซื้อเพื่อเก็งกำไร แต่เป็นการซื้อเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงจากอดีต คนต่างจังหวัดทำงานในกรุงเทพฯ ต้องการซื้อบ้าน และคนกรุงเทพฯ ที่ไปทำงานต่างจังหวัดก็ต้องการซื้อบ้านทดแทนการเช่าเช่นเดียวกัน แต่ถูกบังคับเงินดาวน์แพง เพราะถูกตีความเป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไร
รวมทั้งคนกรุงเทพฯ ในกลุ่มราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดแมสหรือกำลังซื้อส่วนใหญ่ของผู้บริโภคอสังหาริมทรัพย์ มีบ้านอยู่ชานเมืองแต่ทำานในเมือง จำเป็นต้องซื้อบ้านหลังที่สอง เพื่ออยู่ใกล้ที่ทำงาน ใกล้สถานศึกษาของบุตรหลาน เป็นต้น
ผ่านมาครึ่งทางแล้ว ปีนี้เห็นชัดเจนว่าเศรษฐกิจฝืดเคืองสาหัสมาก เป็นภาพรวมทั้งตลาด อยากจะเรียนแบงก์ชาติว่ารัฐบาลกำลังหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้เม็ดเงินถึง 4.5 แสนล้านไปกับดิจิทัลวอลเลต แต่แบงก์ชาติไม่ต้องใช้เงินสักบาทเดียว แค่ยกเลิก LTV ชั่วคราว จะช่วยกระตุ้นตลาดการซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 1-2 ได้ทันที นายวงศกรณ์กล่าว
1/8/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (1 สิงหาคม 2567 )