info@icons.co.th 02 810 8892-6 52.14.173.116

ทอท.จ่อทุ่ม 1.6 แสนล้านบาท สร้าง 2 สนามบินใหม่-รับโอนสิทธิบริหาร3สนามบินทย.

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

อท.เร่งศึกษาสร้าง 2 สนามบินใหม่ คาดสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 -สนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ใช้งบลงทุนสูงสุด 1.6 แสนล้านบาท คาดเสนอบอร์ดไฟเขียวภายในปีนี้ ส่วนการโอนสิทธิ์บริหารสนามบินอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ คาดว่าจะสรุปเสนอ ครม.ได้ในเดือน ม.ค. 2565

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานแห่งใหม่ โดยขณะนี้ ทอท.เตรียมใช้งบประมาณราว 31 ล้านบาท เพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาทบทวนความเหมาะสม และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในส่วนของท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 วงเงินราว 20 ล้านบาท และท่าอากาศยานพังงา หรือ ภูเก็ตแห่งที่ 2 วงเงิน 11 ล้านบาท

ทอท.คาดว่าจะได้ตัวที่ปรึกษาเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวในช่วงต้นปีนี้ หลังจากนั้นจะใช้เวลา 8 เดือนในการศึกษาทบทวน และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนจะเสนอผลศึกษาให้คณะกรรมการ (บอร์ด ) ทอท.พิจารณาปลายปีนี้ ก่อนจะเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาอนุมัติเพื่อเริ่มขั้นตอนการจัดจ้างออกแบบโครงการต่อไป

“ตอนนี้ต้องศึกษาก่อนว่าภูเก็ตและเชียงใหม่ มีแนวโน้มที่ผู้โดยสารจะพีคสุดหรือเกินขีดความสามารถรองรับได้ในปีไหน และวิเคราะห์ว่าการเข้าบริหารและพัฒนาสนามบินกระบี่ที่รับโอนมาจากกรมท่าอากาศยาน จะแบ่งเบาภาระสนามบินภูเก็ต ลดความแออัดไปได้มากน้อยแค่ไหน จึงจะสามารถสรุปได้ว่า 2 สนามบินใหม่นี้จะสร้างได้ปีไหน”

ทั้งนี้ผลการศึกษาพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่และภูเก็ต แห่งที่ 2 เดิมมีการประเมินวงเงินลงทุนสูงสุดถึง 1.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ท่าอากาศยานพังงา หรือภูเก็ตแห่งที่ 2 จะใช้งบลงทุน 100,515 ล้านบาท แบ่งออกเป็น งบลงทุนระยะที่ 1 วงเงินลงทุน 95,413 ล้านบาท และระยะที่ 2 วงเงินลงทุน 5,084 ล้านบาท

ส่วนท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 ศึกษาไว้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.พัฒนาบริการเต็มรูปแบบ (Full Service) วงเงินลงทุน 42,430 ล้านบาท และ 2.พัฒนาครอบคุลมเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ทุกประเภท (all commercial flight) วงเงินลงทุน 68,677 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นระยะที่ 1 วงเงินลงทุน 64,805 ล้านบาท และระยะที่ 2 วงเงินลงทุน 3,872 ล้านบาท

ส่วนนโยบายโอนสิทธิบริหารท่าอากาศยานภูมิภาค 3 แห่งของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ว่า ขณะนี้การเข้าไปรับผิดชอบการบริหารจัดการใน 3 ท่าอากาศยาน คือ ท่าอากาศยานอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ อยู่ระหว่างการหารือถึงหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง เรื่องวิธีปฏิบัติ คาดว่าจะสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือน ม.ค. 2565 เพื่อให้ ทอท.เข้าบริหารโดยเร็ว อย่างไรก็ดี ทอท.ยืนยันว่า ทย.จะยังได้รับเงินชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการมอบความรับผิดชอบดังกล่าว รวมถึงจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการบริหารงานที่คล่องตัว ของ ทอท.ด้วย

ขณะเดียวกันทอท.ยังยืนยันว่าไม่คิดฮุบ ตาก-แม่สอด-พิษณุโลก แจงผลการศึกษาชี้ตากไม่เหมาะจะเป็นฮับทางการบิน

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่า AOT อยู่ระหว่างศึกษาการเข้าบริหารสนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เพิ่มเติมอีกจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานตาก ท่าอากาศยานแม่สอด และท่าอากาศยานพิษณุโลก เพื่อพัฒนาให้เป็นฮับทางการบินระหว่างประเทศของภาคเหนือตอนล่างนั้น AOT ขอชี้แจงว่า AOT ไม่มีนโยบายจะเข้าบริหารสนามบินดังกล่าวของ ทย. และยังไม่เคยได้รับนโยบายดังกล่าวจากทางรัฐบาลแต่อย่างใดซึ่งการที่สนามบินใดสนามบินหนึ่งจะสามารถเป็นฮับทางการบินได้ จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ

เช่นน่านฟ้าต้องไม่ทับซ้อนกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน่านฟ้าของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งท่าอากาศยานตากและแม่สอดมีการใช้น่านฟ้าการบินที่ทับซ้อนกัน รวมถึงจะต้องมีการออกแบบทางวิ่งทางขับ ตลอดจนสะพานเทียบเครื่องบินที่รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ มาตรการด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย ความสามารถในการเข้าถึงของประชาชน เช่น ทางถนนหรือทางราง ความสามารถในการเชื่อมต่อ การตลาดด้านเส้นทางการบินระหว่างประเทศ รวมทั้งการบริหารฐานการบินที่จะกระจายไปยังภูมิภาคของประเทศ และคุณภาพการให้บริการ เป็นต้น

ดังนั้น จากการศึกษาองค์ประกอบต่างๆ ของทอท. พบว่า ในเขตภาคเหนือมีพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะสร้างสนามบินสำหรับเป็นฮับทางการบินได้ คือ พื้นที่ระหว่างอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน

สำหรับการศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาท่าอากาศยานตากพบว่าการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางอากาศหรือ Cluster ภาคเหนือยังคงสอดคล้องกับการเติบโตของการเดินทางในภาคเหนือตอนบนที่มีศักยภาพในการยกระดับเป็นฮับทางการบินของภูมิภาค ซึ่งจังหวัดตากไม่ได้อยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่รองรับการเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนั้น เส้นทางเชื่อมต่อทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดตากเป็นเส้นทางไปสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขามากกว่าพื้นราบอันจะส่งผลต่อต้นทุนในการขนส่ง อีกทั้งยังมีท่าอากาศยานแม่สอดที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้น ท่าอากาศยานตากจึงไม่มีศักยภาพทางการตลาดเพียงพอในการจะพัฒนาเป็นฮับด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศได้

“ทอท.ยังไม่เคยได้รับนโยบายการเข้าบริหารสนามบินทั้ง 3 แห่งจากรัฐบาลและยังไม่มีนโยบายที่จะเข้าบริหารสนามบินดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ตามทอท. สนับสนุนแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินในประเทศไทยสู่การยกระดับเป็นฮับทางการบิน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของประเทศต่อไป” นายนิตินัย กล่าวทิ้งท้าย

12/1/2565  ฐานเศรษฐกิจ (12 มกราคม 2565)

Youtube Channel