info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.17.28.48

นิคมอุตฯ อุดรเสร็จ 100% กลางปี 65 ทุนจีนจ่อเซ็นสัญญาสร้างโรงงานแล้ว 2 ราย

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

อุดรธานี - นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีคืบหน้าแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ เผยนักลงทุนจากเดนมาร์กประเดิมลงทุนสร้างโรงกลึงผลิตชิ้นส่วนส่งออก ขณะที่นักลงทุนจีน 2 รายนัดลงนามสัญญาเช่าพื้นที่ต้นปี 65 คาดไม่เกินกลางปีหน้าเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเป็นศูนย์กลางลงทุนอุตฯ สีเขียวภาคอีสานตามที่นายกฯ ลุงตู่ต้องการ อย่างไรก็ตาม แนะรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาขนาดรางรถไฟฝั่งไทยไม่เท่ากับฝั่งลาวจะมีปัญหาส่งสินค้าจากจีนไปยังมาเลย์-สิงคโปร์

นายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บ.เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีว่าขณะนี้ใกล้เสร็จสมบูรณ์ งานพัฒนาโดยภาพรวมแล้วเสร็จไปแล้ว 90% นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 เฟส “เฟส 1 ประมาณ 1,300 ไร่ และเฟส 2 ประมาณ 1,000 ไร่” เฟส 1 ไม่เกินกลางปี 2565 จะเสร็จสมบูรณ์ สถานีไฟฟ้าย่อยขณะนี้มีความพร้อมที่จะจ่ายกระแสไฟได้แล้ว ส่วนเรื่องแวร์เฮาส์ตอนนี้มีแล้ว 3 หลัง อนาคตจะมีการสร้างแวร์เฮาส์เพิ่มอีก 25 หลัง ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง

ส่วนเรื่องอินเทอร์เน็ตและระบบสื่อสาร เราเพิ่งทำการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับทางค่าย AIS สิ้นปีนี้เราจะมีการลงนามและต้นปีหน้าจะมีการเปิดใช้งานเรียบร้อย

นายพิสิษฏ์กล่าวถึงกลุ่มนักลงทุนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ล่าสุดมีบริษัทจากเดนมาร์กมาติดต่อขอเช่าพื้นที่แล้ว จะเซ็นสัญญากันในเดือนมกราคม 2565 เป็นอุตสาหกรรม CMC หรืออุตสาหกรรมโรงกลึง จะผลิตชิ้นส่วนส่งออกต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีโรงงานจากจีนอีก 2 โรงงานสนใจและอาจจะมีการเซ็นสัญญาต้นปี 2565 เช่นกัน ส่วนแวร์เฮาส์ 3 หลังที่เราสร้างเสร็จแล้วก็มีโรงงานติดต่อเช่าเพื่อเก็บสินค้า แป้งมัน น้ำตาล และผงชูรสแล้ว

“นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีของเรามีความพร้อมทุกด้านที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในภาคอีสาน กลุ่มผู้ผลิตทั้งต่างประเทศและในประเทศสามารถติดต่อเข้ามาได้” นายพิสิษฏ์กล่าว และว่า

นิคมอุตสาหกรรมฯ แห่งนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนอุตสาหกรรม และส่วนโลจิสติกส์ โดยในส่วนของโลจิสติกส์ปาร์กส่วนนี้จะประกอบด้วย สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือ ICD เขตปลอดอากร (FREE ZONE) คลังสินค้า warehouse ซึ่ง ICD จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในภาคอีสานตอนบนในการที่จะส่งสินค้าออกต่างประเทศหรือนำของเข้ามาในประเทศ เพราะส่วนนี้จะมีทั้งส่วนในส่วนศุลกากรที่จำเป็นเกี่ยวกับเรื่องนำเข้าและส่งออก จุดนี้จะสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าให้นำเข้าและส่งออกสินค้าต่างประเทศได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายพิสิษฏ์ระบุว่าขณะนี้อยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีใน 4 เรื่อง คือ ปรับปรุงพัฒนาบริเวณทางแยกเข้านิคมให้สามารถอำนวยความสะดวกต่อการวิ่งของยวดยานพาหนะทุกประเภท, การลากรางรถไฟเข้ามาในพื้นที่นิคมฯ รองรับการขนส่งสินค้า, NEC สิทธิพิเศษ สิทธิประโยชน์ และขอสิทธิพิเศษเขตเศรษฐกิจชายแดนจากหนองคายให้ครอบคลุมมาถึงอุดรธานี

ทั้ง 4 เรื่องที่กล่าวไปนั้น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่อุดรธานีก็รับทราบแล้ว ดังนั้นก็อยากให้ขั้นตอนการเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาแห่งนี้รวดเร็วมากขึ้น เพื่อจะได้ไม่เสียโอกาสการพัฒนาและการแข่งขัน

ในโอกาสนี้อยากฝากถึงประชาชนในท้องถิ่นทั้งในพื้นที่อุดรธานีและใกล้เคียงที่ต้องการทำงานว่า ขอให้มีความเชื่อมั่นว่าอย่างไรเราก็จะทำนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีให้เกิด เพราะเราลงทุนไปเยอะและมองเห็นภาพว่าต่างประเทศเขามองเห็นความสำคัญของภาคอีสาน ที่สำคัญรถไฟจีนอย่างไรต้องวิ่งผ่านนิคมฯ อุดรธานี

“อย่างไรก็ตาม การจ้างงานที่จะเกิดขึ้นจะมากหรือจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าจะเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเยอะขนาดไหน และขอยืนยันว่าอุตสาหกรรมที่มาลงทุนควรเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว”

นายพิสิษฏ์กล่าวตอนท้ายว่า รถไฟจากจีนที่มาถึงนครเวียงจันทน์ต้องขนสินค้ามาด้วยอย่างแน่นอน เท่าที่ทราบข้อมูลคาดว่าจะมีสินค้ามาประมาณ 400 ตู้ต่อเที่ยว เมื่อถึงที่ สปป.ลาวแล้วจะต้องกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ ในโซนนี้อย่างแน่นอน ตลาดภายใน หากดูจากจำนวนประชากรแล้ว สปป.ลาวไม่ได้มีขนาดใหญ่ที่จะรองรับ แต่ประเทศเป้าหมายที่ทราบมา คือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ฉะนั้นจีนจะต้องหาวิธีส่งสินค้าผ่านไทยให้ได้

จุดนี้นิคมฯ เราก็เตรียมความพร้อมเพื่อให้เชื่อมโยงรองรับเรียบร้อยแล้ว ซึ่งรถไฟจะสามารถไปภาคใต้หรือท่าเรือแหลมฉบังก็ได้ แต่ปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนตอนนี้คือขนาดรางรถไฟที่ไม่เท่ากัน ประเด็นนี้ยังไม่ทราบว่าทางการไทยจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร

13/12/2564  MGR Online (13 ธันวาคม 2564)

Youtube Channel