info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.14.80

เอกชนรุมจีบ แทรมสายสีเงินบางนา-สุวรรณภูมิ 1.3 แสนล้าน

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

กทม.เร่งสรุปผลศึกษาแทรมสายสีเงิน ช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 19.7 กม.วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ดึงเอกชนร่วมทุน PPP Net Cost สัมปทาน 30 ปี แก้ปัญหาจราจรถนนบางนา-ตราด ลุยประมูลปี 67 ก่อสร้างปี 68 คาดเปิด บริการปี 72

การขยายเส้นทางรถไฟฟ้า นอก จากช่วยร่นระยะเวลาเดินทางแล้วยังช่วยสร้างความเจริญเข้าสู่พื้นที่สะท้อนได้จากย่านบางนาไปจนถึงบริเวณพื้นที่โดยรอบของสนามบินสุวรรณภูมิ มีบริษัทพัฒนา ที่ดินขนาดใหญ่ปักหมุดขึ้นโครงการมิกซ์ยูส ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัยกันอย่างคึกคัก

นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำหรับการศึกษาโครงการงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นั้น ที่ผ่านมา กทม.เล็งเห็นว่าการเดินทางของประชาชนในปัจจุบันบริเวณถนนบางนามีการจราจรติดขัดและหนาแน่น ถึงแม้จะมีระบบรางเป็นระบบหลักแต่ยังไม่เพียงพอต่อการรองรับประชาชนเดินทาง ทำให้กทม.มีแผนที่จะพัฒนาระบบรางที่เป็นระบบรองเพื่อเสริมเส้นทางระบบหลัก หากดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 2 สาย ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ บริเวณสถานีบางนา และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงพัฒนาการ-สำโรง บริเวณสถานีวัดศรีเอี่ยมและเชื่อมสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิใต้

รายงานข่าวจากที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายสีเงิน) ระยะทาง 19.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 1.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า วงเงิน 36,020 ล้านบาท ค่างานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า วงเงิน 6,720 ล้านบาท ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา วงเงิน 91,767 ล้านบาท ค่างานเกี่ยวกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 1,186 ล้านบาท

ล่าสุดอยู่ระหว่างการแก้ไขจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และจัดทำรายงานการศึกษาการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ หลังจากนั้นกทม.จะดำเนินการจัดส่งรายงานสรุปผลการศึกษาและรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมของโครงการนี้ เพื่อนำเสนอกระทรวงมหาดไทยพิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติโครงการ ภายในปี 2566 และจัดทำเอกสารร่วมลงทุนและคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ภายในปี 2567 คาดได้ผู้ชนะการประมูลปี 2568 เริ่มก่อสร้างและทดสอบระบบใช้ ภายในปี 2568-2571 ใช้เวลา 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในระยะที่ 1 ภายในปี 2572

“จากการพิจารณาโครงการฯเห็นว่าการใช้รูปแบบการร่วมลงทุนที่เหมาะสมที่สุดคือรูปแบบ PPP Net Cost อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี เพราะจากการพิจารณาด้านผลตอบแทนทางการเงินที่สูงและการพิจารณาถ่ายโอนความเสี่ยงน้อย รวมทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนมีความสนใจเป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้รับผลตอบแทนสูงกว่ารูป แบบ PPP Gross Cost”

ขณะเดียวกันจากผลการศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการฯ ทั้ง 2 ระยะ มีอัตราผลตอบ แทนของโครงการ (EIRR) อยู่ที่ 16.39% มูลค่าปัจจุบันโครงการฯ (NPV) จำนวน 15,036 ล้านบาท อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) อยู่ที่ 1.55

สำหรับโครงการระบบรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา-ท่าอากาศ ยานสุวรรณภูมิ มีทั้งหมด 14 สถานี เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จากแยกบางนา-ธนาซิตี้จำนวน 12 สถานี ประกอบด้วย สถานีบางนา, สถานีประภามนตรี สถานีบางนา-ตราด 17, สถานีบางนา-ตราด 25, สถานีวัดศรีเอี่ยม, สถานีเปรมฤทัย, สถานีบางนา-ตราด 6, สถานีบางแก้ว, สถานีกาญจนาภิเษก, สถานีวัดสลุด, สถานีกิ่งแก้ว, และสถานีธนาซิตี้ ระยะทาง 14.6 กิโลเมตร (กม.) และระยะที่ 2 จากธนาซิตี้-สุวรรณภูมิใต้ จำนวน 2 สถานี ประกอบด้วย สถานีมหาวิทยาลัยเกริก และสถานีสุวรรณภูมิใต้ ระยะ ทาง 5.1 กิโลเมตร (กม.)

ส่วนรูปแบบของโครงการดังกล่าว แบ่งรูปแบบของสถานีไว้ 3 รูปแบบ ดังนี้ ประเภท A สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาเดี่ยว มีจำนวน 10 สถานีได้แก่ สถานีประภามนตรี สถานีบางนา- ตราด 17 สถานีวัดศรีเอี่ยม สถานีเปรมฤทัย สถานีบางนา-ตราด 6 สถานีบางแก้ว สถานีวัดสลุด สถานีกิ่งแก้ว สถานีมหาวิทยาลัยเกริก สถานีสุวรรณภูมิใต้

ประเภท B สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาคู่ จะก่อสร้างในกรณีที่ไม่สามารถวางตำแหน่งเสาเดี่ยวได้ โครงการจำเป็นต้องออกแบบสถานีให้รองรับด้วยโครงสร้างเสาคู่ มีจำนวน 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา-ตราด 25 สถานีกาญจนาภิเษก สถานีธนาซิตี้

ประเภท C สถานีระดับดิน จะออกแบบตามข้อจำกัดด้านกายภาพ ของพื้นที่ โดยชั้นจำหน่ายตั๋วอยู่ระดับดิน สามารถเดินเชื่อมกับสถานีบางนาของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ด้วยสะพานลอยยกระดับ (Skywalk) มีจำนวน 1 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา

ทั้งนี้การพัฒนาโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นรถไฟฟ้ารางเบา ขนาดราง 1.435 เมตร มีระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ 1 ชั่วโมง สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 15,000 - 30,000 คนต่อชั่วโมง มีโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุง(Depot) บริเวณใกล้สถานีธนาธรซิตี้ จำนวน 1 แห่ง พื้นที่ 29 ไร่ ส่วนอัตราค่าโดยสาร กำหนดให้ค่าโดยสารในปีเปิดให้บริการ (ปี 2572) มีอัตราค่าแรกเข้า 14.4 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง อยู่ที่ 2.6 บาทต่อกิโลเมตร โดยมีเพดานค่าโดยสารสูงสุด 45.6 บาท

อย่างไรก็ตาม ด้านปริมาณผู้โดยสารได้คาดการณ์ว่า จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการในปี 2572 ที่เปิดใช้บริการประมาณ 82,695 คนต่อเที่ยว ต่อวัน และปี 2576 จะเพิ่มสูงขึ้นราว 138,744 คนต่อเที่ยวต่อวัน และในปี 2578 กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ จะทำให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 165,363 คนต่อเที่ยวต่อวัน

15/4/2565  ฐานเศรษฐกิจ (15 เมษายน 2565)

Youtube Channel