info@icons.co.th 02 810 8892-6 54.198.146.13

เร่งสปีดสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย 2.45 แสนล้าน

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

“คมนาคม” เร่งรัดสร้างรถไฟฟ้าสาย 3 สาย วงเงินรวม 2.45 แสนล้านบาท ลุยทดสอบระบบสายสีเหลือง-ชมพู ก.ย.นี้ คาดเปิดบริการฟรีบางช่วงธ.ค.65 ฟากรฟม.เตรียมเข็นสายสีส้มประมูล PPP ลุ้นเกณฑ์ TOR ดึงเอกชนร่วมทุน พ.ค.นี้

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 51,810 ล้านบาท ปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้าง คืบหน้า 92.38% งานโยธา 92.98% งานระบบรถไฟฟ้า 91.60% ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบการเดินรถ โดยจะมีการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ 2565 เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้จะขอให้เปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการฟรี ก่อนจะเปิดให้บริการบางช่วงอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2565

ทั้งนี้การเปิดให้บริการในระยะแรกของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จะเปิดให้บริการได้บางช่วง ตั้งแต่สถานีสำโรง-สถานีพัฒนาการ จำนวน 13 สถานี ประกอบด้วย สถานีสำโรง,ทิพวัล,ศรีเทพา,ศรีด่าน,ศรีแบริ่ง,ศรีลาซาล,ศรีเอี่ยม,ศรีอุดม,สวนหลวงร.9 ,ศรีนครินทร์ 38 ,กลันตัน และพัฒนาการ

นอกจากนี้ขบวนรถสายสีเหลืองที่จะนำมาให้บริการนั้น ขณะนี้บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ผู่เจิ้น บอมบาร์ดิเออร์ ทรานสปอร์เทชัน ซิสเต็มส์ จำกัด ผู้ผลิต ได้ส่งขบวนรถยี่ห้อ Bombardier รุ่น Innovia Monorail 300 จากประเทศจีนมาถึงประเทศไทยแล้ว จำนวน 26 ขบวน 104 ตู้ คาดว่าสายสีเหลืองจะได้รับมอบครบ 30 ขบวน 120 ตู้ ภายในเดือนมิถุนายนนี้

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ระยะทาง 34.5 กม.วงเงิน 53,490 ล้านบาท ปัจจุบันมีภาพรวมการก่อสร้าง 87.47% งานโยธา 89.14% งานระบบรถไฟฟ้า 85.87% ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบการเดินรถ โดยจะมีการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้จะขอให้เปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการฟรีด้วย ก่อนจะเปิดให้บริการบางช่วงอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมนี้

ส่วนการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูในระยะแรก สามารถเปิดให้บริการตั้งแต่สถานีมีนบุรี-สถานีหลักสี่ จำนวน 17 สถานี ประกอบด้วย สถานีหลักสี่,ราชภัฏพระนคร,วัดพระศรีมหาธาตุ,รามอินทรา 3 ,ลาดปลาเค้า, รามอินทรา 31,มัยลาภ, วัชรพล,รามอินทรา 40 ,คู้บอน,รามอินทรา 83, วงแหวนตะวันออก,นพรัตนราชธานี, บางชัน ,เศรษฐบุตรบําเพ็ญ,ตลาดมีนบุรี และมีนบุรี

ขณะที่ขบวนรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่จะนำมาให้บริการนั้น ขณะนี้บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ผู่เจิ้น บอมบาร์ดิเออร์ ทรานสปอร์เทชัน ซิสเต็มส์ จำกัด ผู้ผลิต ได้ส่งขบวนรถยี่ห้อ Bombardier รุ่น Innovia Monorail 300 จากประเทศจีนมาถึงประเทศไทยแล้ว จำนวน 24 ขบวน 96 ตู้ คาดว่าสายสีชมพู จะได้รับมอบครบ 42 ขบวน 168 ตู้ ภายในเดือนมิถุนายน 2565

ทั้งนี้ส่วนของค่าโดยสารนั้นคิดอัตราเริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท ซึ่งตามเงื่อนไขในสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู กำหนดไว้แล้วว่า ต้องไม่คิดค่าแรกเข้าซ้ำอีก หากผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อมาจากรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และสายสีส้ม ส่วนรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ จะมีการเจรจา เพื่อให้ยกเว้นค่าแรกเข้า และใช้ตั๋วร่วมกันได้ อาทิ สายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสายสีเขียว ของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.4 หมื่นล้านบาท ค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้าบริหารการเดินรถ ซ่อมบำรุง อีก 3.2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้รฟม.อยู่ระหว่างจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (RFP) คาดว่าจะสามารถประกาศรายละเอียด และเริ่มขั้นตอนจัดหาเอกชนร่วมลงทุนภายในเดือนพฤษภาคมนี้

ขณะเดียวกันหลังจาก รฟม.ได้ออกประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เพื่อนำมาใช้ประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาฯ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาข้อเสนอของเอกชน คาดว่าแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ก่อนจะเร่งรัดให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการทันทีในเดือนกันยายน 2565 เพื่อเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี ในเดือนสิงหาคม 2568 เนื่องจากปัจจุบันช่วงดังกล่าวอยู่ระหว่างก่อสร้าง และเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – บางขุนนนท์ ภายในเดือนธันวาคม 2570

นอกจากนี้การคัดเลือกเอกชนนั้น รฟม.ต้องดำเนินการคัดเลือกอย่างรอบคอบ เพราะงานก่อสร้างสายสีส้มส่วนตะวันตก ต้องก่อสร้างลอดผ่านย่านชุมชนหนาแน่น (ห้วยขวางประชาสงเคราะห์) ย่านเศรษฐกิจการค้าสำคัญ (ประตูน้ำ เพชรบุรีตัดใหม่) ย่านเมืองเก่า (ถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สนามหลวง โรงละครแห่งชาติ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา รพ.ศิริราช สถานีรถไฟธนบุรี) นอกจากนี้ยังผ่านพื้นที่ซึ่งมีโบราณสถานและอาคารอนุรักษ์จำนวนมาก ซึ่งหากประสบปัญหาจากเทคนิคก่อสร้างที่ไม่ดีพอจะทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าได้

12/5/2565  ฐานเศรษฐกิจ (12 พฤษภาคม 2565)

Youtube Channel