ซีพีเอฟ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร รุกติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์ม และโรงงานแปรรูปอาหาร 180 แห่ง ภายในปี 2566 ตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 65 เมกะวัตต์ในปีนี้ และเพิ่มเป็น 100 เมกะวัตต์ ในปี 2568 ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลิตอาหารปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟส่งเสริมและมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทุกรูปแบบ ประกอบด้วย
โซลาร์บนหลังคา (Solar Rooftop) โซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) และโซลาร์บนทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงานและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยในปีนี้มีแผนเร่งดำเนินการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในฟาร์มและโรงงานมากกว่า 180 แห่ง กำลังผลิตรวม 65 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าหมายในปี พ.ศ. 2568 เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 100 เมกะวัตต์
ซีพีเอฟดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปแล้ว 2 เฟส โดยเฟสแรกได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาโรงงาน จำนวน 27 แห่ง
เฟสสอง ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ 2 แห่ง และโซลาร์ฟาร์ม 10 แห่ง รวม 12 แห่ง เฟสสาม อยู่ระหว่างการออกแบบเพื่อทำการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มบนทุ่นลอยน้ำ และบนหลังคาโรงงาน 67 แห่ง
และในเฟสที่สี่ มีแผนที่จะดำเนินการมากกว่า 80 แห่ง คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ภายในปี พ.ศ. 2567 รวมทั้ง 4 เฟส จำนวนประมาณ 180 แห่ง ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตรวมประมาณ 44,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต นอกจากจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการผลิตพลังงานสะอาดแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของฟาร์มและโรงงานในโครงการฯในการซื้อไฟฟ้า เมื่อติดตั้งครบทั้ง 4 เฟส นายพีรพงศ์กล่าว
นายพีรพงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในฟาร์มและโรงงานของซีพีเอฟ เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบัน ซีพีเอฟมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของบริษัท ซึ่งประกอบด้วย พลังงานจากก๊าซชีวภาพ 30% พลังงานชีวมวล 68% และพลังงานแสงอาทิตย์ 2% ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 600,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 64 ล้านต้น คิดเป็นพื้นที่ 320,000 ไร่ โดยหลังจากที่บริษัทดำเนินโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์เสร็จสมบูรณ์แล้ว จะทำให้สัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเป็น 4%
ซีพีเอฟได้ประกาศความมุ่งมั่นต่อองค์กร Science Based Target initiatives (SBTi) กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2050 เพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไว้ให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยล่าสุด ได้ยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100% สำหรับกิจการในประเทศไทย บรรลุผลตามเป้าหมาย Coal Free 2022 มุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจาก 30% เป็น 50% ในปี พ.ศ 2573 (ปี 2030) และเพิ่มเป็น 100% ในปี พ.ศ. 2593 (ปี 2050)
6/2/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 6 กุมภาพันธ์ 2566 )