info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.149.243.29

กทม.ชงรัฐบาลลงทุนรถไฟฟ้า ผุดสายใหม่ “สีเงิน-เทา” 7.7 หมื่นล้าน

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

กทม.ส่งการบ้านรัฐบาลเศรษฐา รอความชัดเจนค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท เตรียมแผนผุดรถไฟฟ้าใหม่ 3 สาย 9.2 หมื่นล้าน โยก “สายสีเทา” ช่วงวัชรพล-พระราม 9-ท่าพระ 2.9 หมื่นล้าน กับ “สายสีเงิน” ช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ 4.8 หมื่นล้าน เจรจาให้รัฐบาลลงทุนเพราะจุดตัดเยอะทำให้มีปัญหาค่าแรกเข้า วงเงินลงทุนรวม 7.7 หมื่นล้าน จี้เร่งตัดสินใจสายสีเขียวปมต่อสัญญา 30 ปี-แก้หนี้ค่าจ้างเดินรถบีทีเอส เล็งเก็บค่าโดยสาร 15 บาท ส่วนต่อขยายสีเขียวเส้นทางคูคต-บางปู ภายในปลายปี 2566 นี้

รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำกับดูแลภารกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานของ กทม. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากมีรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทาง กทม.เตรียมนำเสนอแผนลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่

เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาการลงทุน โดยเป็นการศึกษาความเป็นไปได้จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย บางหว้า-ตลิ่งชัน, รถไฟฟ้าสายสีเทา และรถไฟฟ้าสายสีเงิน มูลค่ารวม 92,314 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายละเอียดมูลค่าลงทุน 92,314 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย บางหว้า-ตลิ่งชัน มูลค่าลงทุน 14,804 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-พระราม 9-ท่าพระ วงเงินลงทุน 29,130 ล้านบาท และ 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 48,380 ล้านบาท

รศ.วิศณุกล่าวว่า การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนใหม่ทั้ง 3 เส้นทางเป็นแผนงานเดิมของ กทม. ปัจจุบัน นโยบายการลงทุนภายใต้ทีมชัชชาติมีจุดเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี (ปลอดภัยดี โปร่งใสดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี สังคมดี เรียนดี บริหารจัดการดี)

ประกอบกับพิจารณาโดยคำนึงขอบเขตอำนาจของ กทม. ในกรณีรถไฟฟ้าสร้างเสร็จในอนาคต การใช้บริการของผู้โดยสารจะต้องไร้รอยต่อ โดยเฉพาะในด้านการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่จะต้องไม่เป็นภาระการเดินทางของคนกรุงมากเกินไป

ดังนั้น รถไฟฟ้าใหม่ทั้ง 3 สาย เบื้องต้น กทม.จึงมีนโยบายลงทุนก่อสร้างเอง 1 สาย คือ สายสีเขียวส่วนต่อขยาย บางหว้า-ตลิ่งชัน เพราะมีระยะทางสั้น ๆ 7 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี วงเงินลงทุน 1.4 หมื่นล้านบาทบวกลบ เหตุผลเพราะอยู่ในพื้นที่ทางปกครองของ กทม.โดยตรง

“สายสีเขียวน่าทำเอง เพราะไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอยู่แล้ว สภาพปัจจุบันมีความเจริญของเมืองเริ่มขยับขยายออกไป มีประชาชนอาศัยอยู่มากขึ้นกว่าเดิม ตอนนี้กำลังขออนุมัติ EIA”

โยก “สีเทา-เงิน” ให้ รฟม.สร้าง

อีก 2 สาย คือ สายสีเทากับสายสีเงิน เตรียมเสนอโครงการให้รัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับไปดำเนินการ มูลค่าลงทุนรวม 77,510 ล้านบาท ล่าสุดจะมีการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เร็ว ๆ นี้

เหตุผลหลักเพราะเป็นโครงการที่ใช้วงเงินลงทุนสูง แต่เหตุผลสำคัญกว่านั้นคือเป็นโครงการที่มีจุดตัดกับรถไฟฟ้าหลากสี ทำให้มีประเด็นเรื่องการจัดเก็บ “ค่าแรกเข้า” ในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าตั้งแต่ 2 ทอดขึ้นไป เช่น นั่งรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้วไปต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพู การเปลี่ยนสายเปลี่ยนสีรถไฟฟ้าจะทำให้ต้องเริ่มต้นจ่ายค่าโดยสารใหม่ หรือที่เรียกว่าค่าแรกเข้า 15 บาททันที

แต่ถ้าหากโครงการลงทุนโดยกระทรวงคมนาคม หรือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของคมนาคม ถือว่าเป็นเจ้าของโครงการรายเดียวกัน ทำให้สามารถยกเว้นค่าแรกเข้าได้ง่ายกว่า ตามแนวทางนี้จึงถือว่าวิน-วิน-วิน

โดย กทม.ปลดภาระการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ เพื่อจะได้ทุ่มเทกับนโยบายดูแลเส้นเลือดฝอยของเมือง, รฟม.เป็นเจ้าของโครงการและมีศักยภาพในการลงทุน สุดท้าย ประชาชนมีค่าโดยสารที่ถูกลง

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเทา หากรัฐบาลรับไปพิจารณาก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะ กทม.ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว สามารถเดินหน้าเปิดประมูลและเปิดไซต์ก่อสร้างได้เลย ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเงินอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้โครงการ (feasibility) ซึ่งมีความคืบหน้าค่อนข้างมากแล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ โจทย์การเมืองยังรวมถึงนโยบายหาเสียงค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่ง กทม.กำกับดูแลสายสีเขียวเพียงสายเดียว คงไม่สามารถเป็นผู้กำหนดนโยบายได้เอง ต้องรอฟังนโยบายจากรัฐบาลว่าจะต้องให้ความร่วมมือหรือปฏิบัติอย่างไร

“นโยบายเดินทางดี โจทย์คือดูแลคนเดินทางเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ให้รถเดินทาง การให้คนเดินทางสะดวก ค่าใช้จ่ายไม่แพงเกินไป ถ้า กทม.ทำเองทั้ง 2 สายนี้จะมีจุดตัดเยอะมาก โดยเฉพาะสายสีเทาที่วิ่งผ่านเมือง เราก็กังวลเรื่องการเชื่อมทางเชื่อมต่อ

ถ้า กทม.เป็นเจ้าของสายสีเทา การเดินทางเปลี่ยนสายที่จุดตัด ไม่ว่าจะเป็นสายสีเหลือง สีชมพู สีส้ม สีน้ำเงิน ค่าแรกเข้าต้องโดนดับเบิลไหมเพราะฉะนั้น ถ้าเลือกให้ประชาชนเป็นที่ตั้ง ก็มีความชัดเจนระดับหนึ่งว่าประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร ระหว่าง กทม.ทำเอง หรือให้ รฟม.ทำ”

ขอให้เร่งตัดสินใจสายสีเขียว

ด้านรถไฟฟ้าสายสีเขียว รองผู้ว่าราชการ กทม.กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่มองว่ายังมีทางออก ซึ่งการบริหารจัดการต้องแยก 2 เรื่อง คือ 1.การเป็นแมสทรานสิตหรือระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ รัฐบาลจึงต้องซัพพอร์ตในเรื่องค่าก่อสร้าง เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้

2.นโยบายระดับรัฐบาลเกี่ยวกับค่าเดินทางในภาพรวม จะสามารถลดค่าใช้จ่ายประชาชนได้อย่างไร โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟฟ้าสีที่ 1 เข้าสีที่ 2 แล้วไปเจอค่าโดยสารที่เป็นค่าแรกเข้าดับเบิล

“อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะเริ่มต้นที่ 15 บาท เช่น ตลอดสายอาจอยู่ที่ 15-45 บาท หรือ 17-47 บาท กรณีนั่งรถไฟฟ้าสีที่ 1 แล้วต้องการต่อสีที่ 2 อีกเพียง 1-2 สถานี แต่ต้องเจอเรียกเก็บเริ่มต้น 15 บาท ทำให้เป็นค่าโดยสารที่ดับเบิลขึ้นมา ทำให้ค่าโดยสารแพงเกินกำลังผู้โดยสาร เพราะฉะนั้น ประเด็นค่าแรกเข้าจึงเป็นบทบาทรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรให้วิน-วิน”

โดยก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ทำหนังสือแสดงความเห็นถึงรัฐบาลที่แล้ว 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.สัญญาสัมปทานสายสีเขียวไข่แดง ช่วงหมอชิตอ่อนนุช ที่มีกำหนดครบอายุ 30 ปีแรกในปี 2572 แต่มีการทำสัญญาค้างไว้ให้ต่ออายุสัมปทานอีก 30 ปี (2572-2602) ซึ่งการต่ออายุสัมปทานยังไม่มีผลตามกฎหมายโดยสมบูรณ์

ข้อเสนอทีมชัชชาติ คือ ในการต่อสัญญาสัมปทานถึงปี 2602 ควรพิจารณาให้รอบคอบ และเสนอให้เข้ากระบวนการพิจารณาภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน ความหมายคือควรเปิดประมูลใหม่เป็นการทั่วไป เพื่อให้มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทำให้ กทม.และคนกรุงเทพฯได้ประโยชน์สูงสุด

2.ขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนค่าโครงสร้างพื้นฐาน หรือค่าก่อสร้าง ในส่วนที่ รฟม.เป็นผู้ออกเงินลงทุนส่วนต่อขยายที่อยู่นอกเขตอำนาจ กทม. ในเส้นทางไปคูคต จ.ปทุมธานี กับเส้นทางไปบางปู จ.สมุทรปราการ ซึ่ง กทม.ยังไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย เหตุผลเพราะยังไม่ได้รับโอนงานส่วนต่อขยายจาก รฟม. ทำให้เป็นข้อกังวลเรื่องความถูกต้องของการจ้างเดินรถ

และ 3.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการพิจารณา เพราะเป็นเรื่องที่ค้างดำเนินการมานาน ทำให้มีมูลหนี้ค้างจ่ายมูลค่าสูง จากการมีสัญญาจ้างเดินรถระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจที่ กทม.ถือหุ้น 100% กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี

“สถานะการแก้ไขปัญหาสายสีเขียว กทม.จะเดินหน้าอะไร อย่างไร ก็ทำได้ลำบาก จะเริ่มเจรจาใหม่ก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ติดขัด ซึ่งมีรัฐบาลใหม่เข้ามาก็ต้องทำหนังสือนำเสนอ 3 ข้อนี้ให้พิจารณา

ต่อไป” รศ.วิศณุกล่าว

เล็งเก็บค่าโดยสาร “คูคต-บางปู”

ขณะเดียวกัน ส่วนต่อขยายสายสีเขียวซึ่งเปิดบริการในปี 2563-2564 ทาง กทม.มีแผนเตรียมจัดเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย ในสองเส้นทางคือ เส้นทางหมอชิต-คูคต กับเส้นทางอ่อนนุช-บางปู เพื่อบรรเทาภาระรายจ่ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนจะต้องให้ สภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ให้ความเห็นชอบ โดยที่ผ่านมา กทม.ได้ยื่นเรื่องเข้าสู่วาระประชุมสภา กทม.แล้ว แต่ทางสภา กทม.ยังไม่รับบรรจุเป็นวาระประชุม โดยบอกว่าเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งจะได้มีการประสานการทำงานร่วมกับสภา กทม.อย่างใกล้ชิดต่อไป

“การเก็บค่าโดยสารราคาเดียว 15 บาท ของส่วนต่อขยายคูคตกับบางปู คาดว่าถ้าเข้า สภา กทม.แล้วได้รับการอนุมัติ ขั้นตอนจากนั้นจะต้องประกาศล่วงหน้า 1 เดือน ก่อนจัดเก็บจริง ตามไทม์ไลน์ที่ต้องใช้เวลาประสานข้อมูลต่าง ๆ น่าจะเริ่มได้ภายในปลายปีนี้” รศ.วิศณุกล่าว

2/9/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 2 กันยายน 2566 )

Youtube Channel