info@icons.co.th 02 810 8892-6 35.171.45.182

คมนาคมไทย 2566 ลงทุน The Great Remake 2 แสนล้าน

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจได้รับเกียรติจาก “ชยธรรม์ พรหมศร” ปลัดกระทรวงคมนาคม รับเชิญบรรยายพิเศษหัวข้อ “การลงทุนคมนาคมไทย The Great Remake 2566” โดยแกนหลักของกระทรวงยึดโยงอยู่กับภารกิจในการสร้างให้เกิด “สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล”

ปี 2566 งบจัดสรร 2.28 แสนล้านบาท

ในภาพรวม กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปี 2566 (8 ส่วนราชการ 12 รัฐวิสาหกิจ) จำนวน 228,930.28 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 27,419.32 ล้านบาท สัดส่วน 11.98% รายจ่ายลงทุน 201,510.96 ล้านบาท 88.02% ในส่วนของงบฯรายจ่ายลงทุน ณ 9 ธันวาคม 2565 มีการเบิกจ่ายเงินแล้ว 16,128.01 ล้านบาท คิดเป็น 8% ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร

โดยรายการที่กระทรวงคมนาคมจะต้องจัดซื้อจัดจ้าง มีจำนวน 7,219 รายการ (รายจ่ายลงทุนปีเดียว, ลงทุนผูกพันรายการใหม่ และรายจ่ายลงทุนที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท) วงเงิน 89,810.99 ล้านบาท อัพเดต ณ สิ้นเดือน พฤศจิกายน 2565 ได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว 5,096 รายการ คิดเป็น 72.43% วงเงิน 54,949.60 ล้านบาท ปัจจุบันลงนามในสัญญาแล้ว 2,582 รายการ วงเงิน 21,635.35 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยการลงนามในสัญญาให้ครบทุกรายการ

สำหรับงบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจปี 2566 วงเงินรวม 89,676.66 ล้านบาท มีแผนการเบิกจ่ายเงิน (1 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2565) จำนวน 13,939.89 ล้านบาท อัพเดต ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 เบิกจ่ายเงินแล้ว 5,777.93 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.45% ของแผนเบิกจ่ายสะสม (เป้าหมายรัฐบาลให้เร่งรัดเบิกจ่ายเงิน 95% ภายในเดือนกันยายน 2566)

เดินหน้าครบ “บก-ราง-น้ำ-อากาศ”

ในขณะที่ “แผนงาน-แผนเงิน” ตามนโยบายขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาระบบคมนาคมที่ยั่งยืน ปี 2566 วงเงินก้อนใหญ่อยู่ที่ 2,741,704 ล้านบาท มีโครงการที่จะขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติในปี 2566 รวม 197 โครงการ งบฯรวม 96,705 ล้านบาท ครบถ้วนทั้ง “ถนน-บก-ราง-น้ำ-อากาศ” แบ่งเป็น 50 โครงการใหม่ กับ 117 โครงการต่อเนื่อง

แบ่งเป็นงบประมาณปี 2566 สำหรับการลงทุน “ทางถนน” วงเงิน 13,400 ล้านบาท, “ทางบก” 462 ล้านบาท, “ทางราง” 79,512 ล้านบาท, “ทางน้ำ” 1,538 ล้านบาท และ “ทางอากาศ” 1,793 ล้านบาท

“ปี 2566 การลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐของกระทรวงคมนาคมที่จะได้เห็นแน่ ๆ มีทั้งความต่อเนื่องของการลงทุนรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช เพราะโครงการเดินแล้ว 13-14 สัญญา,

โครงการมอเตอร์เวย์บางส่วนที่คาราคาซัง จะทำให้จบ, การลงทุน 4 โหมดคือ บก-ราง-น้ำ-อากาศที่ยังต้องแก้ไขปรับปรุง, เรื่องใหม่ที่มีปัญหาดินสไลด์ ทางขาด ต้องแก้ไข, พลังงานไฟฟ้าหรืออีวี ต้องเดินหน้าทั้งรถเมล์อีวี รถไฟอีวี”

รวมทั้งจะได้เห็นระบบฟีดเดอร์ทั้งรถ-ราง-เรือ ที่ (กระทรวงคมนาคม) ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องประสานการทำงานกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยจะทยอยมีโครงการที่เสร็จแล้วออกมาให้ประชาชนได้ใช้บริการ

สร้าง Connectivity 4+2 ด้าน

ประวัติศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศโฟกัสในปี 2524 เริ่มจากการลงทุนสร้างถนนเป็นหลัก ส่งสัญญาณให้ประชาชนซื้อรถยนต์ส่วนตัวมหาศาลเกินกำลังถนน+ทางด่วนจะรับได้ กระทั่งปี 2542 จึงได้ริเริ่มลงทุนระบบรางผ่านรถไฟฟ้าหลากสีจนถึงปัจจุบัน

โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องเริ่มจากสร้าง connectivity เรามีเครื่องมือ 4 ด้าน “ถนน-ราง-น้ำ-อากาศ” วางแผนงานยังไงให้เชื่อมต่อกันให้ได้ ผ่านการจัดระเบียบหน้าที่หลักกระทรวงคมนาคม 4 ด้าน คือ 1.infrastructure development พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีคอนเน็กทิวิตี้

2.regulation/regulator หน้าที่ในการทำให้เกิดความสะดวก-ปลอดภัย-ตรงเวลา-ราคาสมเหตุสมผล จำเป็นต้องมีกฎระเบียบกำกับ กระทรวงคมนาคมหน้าที่การกำหนดกฎระเบียบเป็น regulation ให้การใช้โครงสร้างพื้นฐานมีความปลอดภัย ควบคู่ทำหน้าที่กำกับไม่ให้มีการตั้งราคาสูง เอาเปรียบประชาชน

3.promotor & facilitator กิจการใดที่เอกชนสามารถทำได้ กระทรวงคมนาคมจะถอยมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก สนับสนุน หรือบางสายทางเอกชนไม่สนใจ รัฐก็ต้องทำเอง และ 4.service provider บทบาทเป็นผู้ให้บริการ

คีย์เวิร์ดอยู่ที่มีนโยบายใหม่ออกมาเป็นสูตร “4+2” นอกจากภารกิจเดิม 4 ด้าน คือ “สะดวก-ปลอดภัย-ตรงเวลา-ราคาสมเหตุสมผล” แล้ว ทาง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เพิ่มเติมอีก 2 ด้าน คือ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม-เข้าถึงง่ายสำหรับคนทุกกลุ่ม”

ปี 2572 รถไฟฟ้าครบลูป 14 สี 554 กม.

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์กระทรวง 3+1 ด้าน แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ 2.กรีนทรานสปอร์ต 3.inclusive transport และ 4.นวัตกรรมและการบริหารจัดการ มีจุดโฟกัสอยู่ที่คำว่า “ประสิทธิภาพ” แบ่งแผนงานเป็นมิติการคมนาคมขนส่งในเมือง (urban transport) กับมิติระหว่างเมือง (intercity transport) โดยภารกิจของ “ปลัดกระทรวงคมนาคม” จะต้องขยุ้มรวมแผนงานทุกมิติทุกด้าน แปลงสู่การปฏิบัติให้เกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรม (implement)

ได้แก่ แผนงานในเมือง (urban transport) ที่กำลังเปลี่ยนจากรถไปสู่ระบบราง นับจากนี้ไปผลของการเปลี่ยนโหมดมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้ประชาชนสามารถกำหนดเวลาเดินทางเป็น “นาที” ได้ ปัจจุบันมีการวางแผนงานระบบรางถึงปี 2572 หรืออีก 7 ปีจะครบแผนแม่บทระบบรถไฟฟ้า เคล็ดลับของการวางแผนงาน คือ “ระบบฟีดเดอร์ต้องให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ ควบคู่กับการลงทุนรถไฟฟ้า”

อัพเดตแผนแม่บทรถไฟฟ้าที่จะสมบูรณ์ในปี 2572 มีทั้งสิ้น 14 สี รวม 27 เส้นทาง ระยะทางทั้งสิ้น 554 กิโลเมตร จากปัจจุบันที่เปิดบริการแล้ว 11 เส้นทาง ระยะทาง 212 กิโลเมตร โดยการเดินทางเมื่อครบลูปรถไฟฟ้าจะทำให้คนกรุงทำงานในเมือง สามารถเดินทางกลับไปพักอาศัยชานเมืองได้ทั้ง 4 โซนของกรุงเทพฯ ทั้งกรุงเทพฯโซนเหนือ-ใต้-ตะวันออก-ตะวันตก

“เหตุผลทำไมต้องสร้างรถไฟฟ้า 14 สี 14 สาย เพราะถ้ามีเส้นทางน้อย ๆ จะไม่ครอบคลุมพื้นที่และความต้องการใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นจำเป็นต้องลากเส้นทางรถไฟฟ้าให้เป็นระบบกริด เป็นโครงข่ายใยแมงมุม”

ขับเคลื่อนฟีดเดอร์-ตั๋วร่วม-TOD

เมื่อเห็นภาพใหญ่แผนแม่บทรถไฟฟ้าทั้งหมดแล้ว แผนงานต่อมาคือ “ระบบฟีดเดอร์” สิ่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ กำลังจะปรับเส้นทางเดินรถเมล์ใหม่ โดยกรมการขนส่งทางบก หลักการคือเส้นทางใดมีรถไฟฟ้า การให้บริการรถเมล์ควรวิ่งวนเป็นลูป หรือวิ่งสายสั้น ไม่ใช่รถเมล์ที่วิ่งสายยาวดังเช่นในปัจจุบัน

คำถามคือต้องใช้เวลากี่ปีในการปฏิวัติระบบรถเมล์ไทย “…เรื่องแบบนี้ต้องทำสเต็ปบายสเต็ป เมื่อไหร่มีรถไฟฟ้า เราก็ทำลูปให้เยอะ มีรถเมล์วิ่งรับคนมาที่สถานี ในอนาคตถ้าระบบครบสมบูรณ์ วิถีชีวิตคนกรุงเทพฯจะเหมือนยุโรป คนไม่ต้องใช้รถส่วนตัว ใช้แมสทรานสิตแทน มีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยด้วยการใช้แอป ลงสถานีรถไฟฟ้าแล้ว จองรถอย่างไร ติดต่อแท็กซี่มารับอย่างไร ฯลฯ ซึ่งคมนาคมกำลังทำงานร่วมกับ กทม. ต่อไปการเดินทางรถต่อรางจะเปลี่ยนโฉมหน้าของกรุงเทพฯ แตกต่างไปจากเดิม”

ถัดมาคือ “ระบบตั๋วร่วม” โดยกระทรวงคมนาคมเพิ่งจัดตั้ง “กรมการขนส่งทางราง” ที่จะเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลค่าโดยสารไม่ให้เอาเปรียบประชาชน อย่างน้อยที่สุดไม่ให้มีผลกระทบกับค่าครองชีพคนกรุงมากนัก

ถัดมา การโปรโมต TOD-transit oriented development ควบคู่กับการพัฒนา park & ride commercial แผนงานนี้เกิดจากข้อเท็จจริงหลังจากพัฒนารถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน เกิดการลงทุนและพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์แนวรถไฟฟ้าขนานใหญ่บนถนนพระรามที่ 4 แต่จำกัดการลงทุนโดยเอกชน

ดังนั้นในอนาคต กระทรวงคมนาคมจะเข้ามามีบทบาทเป็นเจ้าภาพลงทุนโครงการ TOD ภายใต้เกณฑ์ 4 ข้อหลัก คือ 1.มีแผนแม่บทในการพัฒนา TOD แต่ละทำเล 2.มีการระดมทุน 3.มีกฎหมายพิเศษให้ทำได้ และ 4.มีหน่วยงานพี่เลี้ยง โดยมีโครงการนำร่อง “ระบบฟีดเดอร์ สถานีรังสิต รถไฟฟ้าชานเมืองสีแดง” ซึ่งต้องทำร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคมกับจังหวัดปทุมธานี เป้าหมายสุดท้ายค่าโดยสารมีเพดานสูงสุด 40 บาท

และ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อ)” หรือฮับบางซื่อ โดยกระทรวงมองอนาคตฮับบางซื่อไม่แตกต่างจากสนามบิน จะคิดแบบเดิมให้ใครเข้า-ออกเสรีไม่ได้อีกแล้ว ต้องเซตสแตนดาร์ดเทียบเท่าสนามบิน เพราะอนาคตจะเป็นจังก์ชั่นใหญ่ของอาเซียน มีรถไฟความเร็วสูง ก่อสร้าง 3 ชั้น แบ่งชั้นบนสุดสำหรับเทียบท่ารถไฟความเร็วสูง ชั้นกลางสำหรับรถไฟชานเมือง และชั้นล่างเป็นชั้นแพลตฟอร์ม ห้องขายตั๋ว

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแลนด์แบงก์ 2,000 ไร่รอพัฒนา แต่เนื่องจากถนัดกิจการรถไฟ ล่าสุดมีการแตกบริษัทลูก “SRT-บริษัท รถไฟบริหารสินทรัพย์ จำกัด” ขึ้นมาเป็นทั้งแลนด์ลอร์ดและดีเวลอปเปอร์

ปักธง MR-Map เซ็นเตอร์อาเซียน

ในขณะที่มิติแผนงาน “คมนาคมขนส่งระหว่างเมือง” มีไฮไลต์ 2 แผนงานหลัก คือ “dry port-ท่าเรือบก” หลักการคือนำพื้นที่หลังท่าเรือที่มีรถหัวลากคอนเทนเนอร์จอดส่งสินค้า แต่แทนที่จะส่งหลังท่าเรือจริง ๆ ก็มีการเซตพื้นที่สมมติขึ้นมาให้สามารถทำธุรกรรมขนส่งระหว่างประเทศได้ แต่อยู่บนบก บางครั้งอธิบายได้ด้วยคำว่า ธุรกิจลานกองตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ หรือ CY-container yard สำหรับการนำเข้าและส่งออก

สุดท้ายคือ “MR-map” หรือ motor way+rail map ด้วยการรวมโหมดการเดินทางระบบมอเตอร์เวย์กับรถไฟความเร็วสูงเข้าไว้ด้วยกัน เจตนาหลักเพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับประเทศภูมิภาคอาเซียน ในอนาคตจะมีรถบรรทุกป้ายอาเซียนวิ่งขวักไขว่บนถนนไทย จำเป็นต้องมีพื้นที่รองรับเฉพาะ ตามแผนงานแบ่งเป็นภาคเหนือ-ภาคใต้ 3 คอร์ริดอร์ และภาคตะวันออก-ภาคตะวันตกของไทยอีก 6 คอร์ริดอร์ (รวมอภิโปรเจ็กต์แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง)

หัวใจสำคัญ MR-map อยู่ที่ “…เนื่องจากเป็นแผนงานต่างหน่วยงาน ไม่จำเป็นต้องทำพร้อมกัน แต่การออกแบบต้องทำด้วยกัน มีแผนแม่บทเดียวกัน”

21/12/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 21 ธันวาคม 2565)

Youtube Channel