info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.222.131.239

อุเทน โลหชิตพิทักษ์ มือต่อ ห่วงโซ่ ธุรกิจพฤกษา โอกาสหลังโควิด

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

โจทย์ใหญ่ " อุเทน โลหชิตพิทักษ์ " ผ่าตัด บิสิเนสโมเดล บมจ.พฤกษา เป้ารายได้ 3.3หมื่นล้าน ลุยผสานบริการสุขภาพ - เฮลแคร์ กลุ่ม รพ.วิมุต ฉีกตลาดสร้างจุดแข็งโครงการที่อยู่อาศัย จับตาตั้งกองทุน 3.5 พันล้าน เติมนวัตกรรม - ดิจิทัล ลงทุนธุรกิจใหม่ รับเทรนด์อนาคตหลังโควิด19

ในปี 2565 ประชากรไทยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี คิดเป็นสัดส่วน 14% และคาดว่าจะสูงขึ้นเป็น 20% ภายในปี 2573 ขณะตลาดด้านสุขภาพและความงาม มี ขนาดใหญ่ โดยประมาณ มูลค่า 4.36 แสนล้านบาท นอกจากจะเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของกลุ่มธุรกิจทางการแพทย์ของไทยแล้ว

สำหรับในภาคอสังหาริมทรัพย์ วิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งก่อเกิดไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยรูปแบบใหม่ นำไปสู่ความต้องการด้านพื้นที่ และบริการเหนือชั้น ที่พ่วงมากับการให้ความสำคัญกับความปลอดภัย สุขอนามัย และสุขภาพความเป็นอยู่ระยะยาวประชิดติดหน้าประตูบ้าน ได้ถูกวางเป็นจุดแข็งใหม่ของบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในปี 2565 ซึ่งแม้วันนี้ ดำเนินธุรกิจมานานถึง 29 ปี เป็นที่ยอมรับอย่างวงกว้าง และเคยยืนเหนือตลาด ในฐานะเบอร์ 1 ผู้พัฒนาโครงการจำนวนมากที่สุดในแต่ละปี แต่การแข่งขันที่ดุขึ้น และความท้าทายใหม่ๆ ยังเป็นโจทย์ที่ บมจ.พฤกษา ต้องเร่งเกมให้ทัน

บมจ.พฤกษา กลายเป็นที่จับตามองถึงก้าวใหม่อีกครั้ง หลังจากจัดทัพเสริมทีม ดึงนายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ซึ่งเป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์โชกโชน ในอสังหาฯและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ นั่งแท่นตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมกับนายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์

โดยการปรากฎตัวครั้งแรกของนายอุเทน หลังจาก ถูกแต่งตั้ง 4 ม.ค.2565 ประกาศปรับกลยุทธ์ใหม่ ของ บมจ.พฤกษา สู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการปรับพอร์ตโฟลิโอ มุ่งลดสินค้าคงค้าง และเพิ่มสัดส่วนกลุ่มลูกค้าเรียลดีมานด์บ้านจากเซ็กเม้นต์กลาง-ล่าง ไปสู่พรีเมียม (มากกว่า 7 ล้านบาท) ซึ่งเป็นการดำเนินต่อเนื่องจาก 2 ปีก่อนหน้า ปัจจุบันพฤกษามีสินค้าคงเหลือราว 7.5 พันล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ที่สูงถึง 2.33 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ระบุ เพื่อต้องการเปลี่ยนเป็นสภาพคล่อง และ ลดต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะดอกเบี้ย เพื่อสร้างฐานการเงินที่แข็งแกร่ง เสริมสภาพคล่องจากที่มีปัจจุบัน 1.2 หมื่นล้านบาท

อีกทั้งนายอุเทน ยังระบุว่า จะเสริมแกร่งธุรกิจหลัก ผ่านการจัดสรรที่ดินในมือ 157 ผืน (มูลค่า 1.54 หมื่นล้านบาท) บริหารโครงการที่อยู่อาศัยระหว่างการพัฒนา 145 โครงการ และมียูนิตพร้อมอยู่ที่พร้อมแปลงเป็นรายได้ 2,300 ยูนิต ประเมินเป็นจำนวนที่มากพอ จะผลักดันให้เกิดการเติบโตต่อเนื่องนานหลายปี

พฤกษา X รพ.วิมุต ธุรกิจใหม่ ผสานนวัตกรรม

ความร่วมมือทั้งกับธุรกิจอสังหาฯและโรงพยาบาลวิมุตในเครือ เป็นอีกเป้าหมายใหญ่ของฉากใหม่พฤกษา โดยมีโครงการต้นแบบ พฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน มูลค่า 7.86 พันล้านบาท ที่จะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคมนี้ ประกอบไปด้วยที่อยู่อาศัย 1,577 ยูนิต และ ศูนย์สุขภาพขนาด 50 เตียง ครอบคลุมบริการรักษาตัวระยะสั้น ,รักษารายวัน , ดูแลและบริบาลผู้สูงอายุ รวมทั้งการให้บริการดูแลสุขภาพถึงบ้าน (Home Health Care) ซึ่งนายอุเทนระบุว่า เป็นจะโมเดลธุรกิจใหม่ ที่จะใช้ขยายรายได้ในอนาคต

อีกหนึ่งกลยุทธ์ นายอุเทนยังระบุว่า พฤกษาจะเพิ่มการลงทุนในธุรกิจร่วมลงทุน ( Corporate Venture Fund ) วางเป้า 3.5 พันล้านบาท เป็นการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ นอกเหนืออสังหาฯ ตามเทรนด์โลกอนาคต ทั้งรูปแบบร่วมพันธมิตร และการลงทุนในสตาร์อัพ เช่น สิ่งประดิษฐ์ , แพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ ,อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ดูแลสุขภาพ เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะเป็นการต่อห่วงโซ่ธุรกิจของพฤกษา โฮลดิ้ง ให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่ออนาคต

"ภาพใหญ่ เราจะปรับพื้นที่บ้านรองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ คอนโดฯ เดอะรีเซริฟ บริการหรู5ดาว เพราะมองการซื้อบ้านในอนาคตไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย ส่วนโอกาสใหม่ จะเน้นการให้บริการเฮลแคร์ และ New Corporate Venture การนำอิโนเวชั่นเข้ามาทั้ง 2 ธุรกิจ ด้วยวิธีคิดรูปแบบใหม่ คาดทั้งหมดจะเสริมความแข็งแกร่ง และสร้างรายได้ประจำในระยะยาว"

โจทย์ยากโลกธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงโจทย์ยากในการทำธุรกิจ นายอุเทน ระบุ 3 ข้อท้าทาย คือ 1.การปรับองค์กรให้มีความพร้อมจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนชุดความคิดให้เท่าทันตลาด การดิสรัปชั่นของโลกธุรกิจ เพราะโควิดทำให้เกิดจุดเปลี่ยนมากมาย 2.การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร หลังจากกลยุทธ์ด้านเฮลแคร์จะเป็นจุดแข็งหลักของกลุ่มบริษัท เป็นส่วนหนึ่งของการขายบ้าน ฉะนั้น หากบุคลากรไม่พร้อมและเพียงพอจะเป็นอุปสรรค และ 3. การดำเนินธุรกิจภายใต้ปัจจัยเสี่ยงควบคุมไม่ได้ เช่น การขึ้นราคาค่าแรง ,ค่าวัสดุก่อสร้าง ,อัตราดอกเบี้ย และยังรวมไปถึงสงครามระหว่างอเมริกา รัสเซีย และยูเครนอีกด้วย ซึ่งผลกระทบอาจลามมาถึงประเทศไทย

" พฤกษาไม่เหมือนใครเลยในตลาด เราจะเปลี่ยนการทำธุรกิจอสังหาฯ ไปสู่บทบาทการสร้างที่อยู่พ่วงการใส่ใจสุขภาพ การจัดองค์กรในฐานะกรุ๊ปซีอีโอ เน้น2 ส่วนไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเสริมให้พฤกษามีจุดแข็งมากขึ้น โดยระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา เข้ามารับหน้าที่ ศึกษาหลายองค์ประกอบ เพื่อเพิ่มโอกาสใหม่ๆ การขยายไปโลจิสติกส์ที่เคยทำมา ก็มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะเป็นอีกห่วงโซ่ของอสังหาฯ เช่นเดียวกับการลงทุนในต่างประเทศ"

ทั้งนี้ ปี 2564 บมจ. พฤกษา โฮลดิ้ง มีกำไรสุทธิ 2,352.63 ล้านบาท ลดลง 15.1% จากรายได้ลดลง และมีการลงทุนเพิ่มในกิจการโรงพยาบาลวิมุติ 406 ล้านบาท นอกจากนี้ พบ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ด อนุมัติการตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ของโรงพยาบาลวิมุต ชื่อ Vimut Investment Pte. Ltd. (“VI”) ในประเทศสิงคโปร์ คาดเพื่อรองรับการลงทุนและการจัดการทรัพย์สินอื่นๆ ในต่างประเทศ

สำหรับปี 2565 กลุ่มบมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท วางแผนเปิดโครงการใหม่ 31 โครงการ มูลค่า 1.63 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย อยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท (เติบโต 23%) และยอดโอนกรรมสิทธิ์ 3.3 หมื่นล้านบาท (เติบโต 18%)

24/2/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (24 กุมภาพันธ์ 2565)

Youtube Channel