ศักดิ์สยาม ปลุกชีพ ทางลอดเจ้าพระยา แก้รถติดกรุงเทพหลังเงียบหาย 2 ปี เล็งเคาะรูปแบบโครงการ มี.ค. ชี้ช่วงบางนา ถ.นราธิวาสฯเหมาะสุด ลุ้นญี่ปุ่นเคาะรูปแบบมี.ค.นี้ หากเวิร์กดันต่อเข้า คจร. ไม่เกินปลายปี ย้อนผลศึกษา สนข. ผงะ! ต้นทุนก่อสร้างถีบพันล้าน/กิโล
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การหารือกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ในวันนี้ (6 ก.พ.) เป็นการหารือเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาจราจร โดยมีการรายงานผลการศึกษาโครงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสำโรง ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ ระยะทาง 8.7 กม.
แก้รถติดเมืองกรุง
ลักษณะเป็นทางเลี่ยง (Bypass) ตัดตรงไม่ต้องผ่านกรุงเทพฯ มีกำหนดจะส่งผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ในเดือน มี.ค.นี้ โดยตัวเลขวงเงินและรูปแบบการลงทุนจะชัดเจนมากขึ้น ส่วนตัวมองว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ เพราะจะเชื่อมต่อกับทางด่วนขั้นที่ 1 (เฉลิมมหานคร)
แต่ก็ได้กำชับเพิ่มกับทาง MLIT ไปว่า ขอให้ศึกษาถึงผลกระทบด้านจราจรในระหว่างก่อสร้างด้วย และให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปตรวจสอบรูปแบบสัมปทานของโครงการให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาทค่าโง่ขึ้นอีก
สนข.คาดเป็นทางด่วน
ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร ผอ.สนข. ระบุว่า โครงการนี้จะรองรับการจราจรที่มาจากภาคใต้เป็นหลัก เพราะนอกจากบริเวณถ.พระราม 2 แล้ว ทางด้านที่มาจากฝั่งภาคตะวันออกก็ทำให้เกิดรถติดเช่นกัน จากบริเวณบางกระเจ้าจนไปกระจุกตัวอยู่บริเวณสามเหลี่ยมคลองเตย ลามไปถ.สาทร สีลม และถ.นราธิวาสฯ ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีการจราจรติดหนักมาก แนวเส้นทางจึงระบุไว้ตามนี้
เดิมทีมีแผนจะสร้างสะพานข้าม แต่เนื่องจากคุ้งบางกระเจ้าได้รับการยกย่องเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ไม่สามารถก่อสร้างได้ จึงมาเป็นทางลอดแทน แต่จะใช้ท่อแบบไหน ก่อสร้างอย่างไร ขอศึกษาก่อน แต่ที่วางไว้น่าจะเป็นทางด่วน
ส่วนการเวนคืนจะพยายามให้น้อยที่สุด คาดว่าหลังจากญี่ปุ่นสรุปผลการศึกษามาแล้ว จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) รับทราบความคืบหน้า แต่ก่อนหน้านั้นจะมีการเสนอแผนแม่บทแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลก่อน ซึ่งน่าจะเสนอได้ประมาณกลางเดือน มี.ค. ต้นเดือน เม.ย.
ยังไม่เคาะต้นทุน-โมเดลลงทุน
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า MLIT ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคการก่อสร้างและความเป็นไปได้เท่านั้น ยังไม่ได้สรุปข้อมูลที่เกี่ยวกับวงเงินค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดและยังไม่สรุปว่าจะทำเป็นทางด่วนหรือทางลอดเฉยๆ สำหรับรูปแบบของโครงการ จะมีความคล้ายกับอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน โดนเป็นอุโมงต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 13 เมตร มีทางขึ้นลง 2 ด้าน ด้านหนึ่งอยู่บริเวณแยกบางนา อีกด้านหนึ่งอยู่บริเวณถ.นราธิวาสราชนครินทร์ อยู่ลึกจากท้องแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปประมาณ 13 เมตร มีระยะทางโครงการ 8.7 กม. โดยช่วงที่เป็นอุโมงค์มีความยาว 7.45 กม. ขนาด 4 ช่องจราจร (ไป 2 กลับ 2) มีเวนคืนเล็กน้อยบริเวณแลมป์ทางขึ้นลงอุโมงค์ทั้ง 2 ด้าน
เชื่อมด่วนขั้น 1 ทอดยาวถึงชลบุรี
ตัวทางลอดนี้จะเชื่อมกับทางด่วน 2 เส้นทางคือ ทางด่วนสายเฉลิมมหานคร ช่วงบางนา ท่าเรือบริเวณแยกบางนา ซึ่งสามารถต่อไปยังมอเตอร์เวย์สาย 7 กรุงเทพฯ บ้านฉาง ได้อีกทอดหนึ่ง และทางด่วนสายเฉลิมมหานคร ช่วงดาวคะนอง ท่าเรือ บริเวณถ.นราธิวาสราชนครินทร์
ทั้งนี้ หากผลการศึกษามีความเป็นไปได้ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนออกแบบในรายละเอียด (Detail Design) ศึกษารูปแบบโครงการ รูปแบบการลงทุน และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และต้องมีการประชาพิจารณ์โครงการ คาดว่าจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 7-8 เดือน ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ภายในปีนี้
พลิกปูมจาก ทางด่วน เป็น ทางลอด
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวคิดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยให้ไว้ตั้งแต่ปี 2561 ในยุคที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรี ซึ่งตามผลการศึกษาเดิมของ สนข. ระบุให้สร้างเป็นทางด่วน เพราะสามารถทะลวงคอขวดจุดที่มีการจราจรติดขัด และแก้ปัญหารถติดพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลได้ เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มให้กับผู้ใช้ทาง
ตามผลการศึกษาเดิมของ สนข. แนวเส้นทางจะเริ่มจากแยกบางนา จากนั้นมุดลงใต้ดินวิ่งตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่านบางกระเจ้า ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่เป็นกะเพาะหมู ไปสิ้นสุดบริเวณถ.นราธิวาสราชนครินทร์ช่วงที่ต่อกับถ.พระราม 3
แต่ที่ผ่านมาปัจจัยหลักที่ทำให้โครงการนี้เงียบหายไปคือ ราคาที่ดินและรูปแบบก่อสร้าง มีความคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งสนข.ศึกษาโมเดลจากต่างประเทศแล้วพบว่ามีต้นทุนค่อนข้างสูง เช่น ที่ชินจูกุ ประเทศญี่ปุ่น เป็นอุโมงค์ 6 ช่องจราจร ค่าก่อสร้างอยู่ที่กม.ละ 10,000 ล้านบาท ส่วนประเทศมาเลเซีย สร้างเป็นอุโมงค์ 2 ช่องจราจร รองรับทั้งรถยนต์และเป็นทางน้ำผ่านในบางเวลา ตกกม.ละ 3,000 ล้านบาท หรือเมืองบอสตัน ในสหรัฐอเมริกา เป็นอุโมงค์ 6 ช่องจราจร ค่าก่อสร้างตกกม.ละ 10,000 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งใน กรุงเทพฯเคยคาดการณ์กันว่าจะมีค่าก่อสร้างเฉลี่ยกม.ละ 1,000 ล้านบาท
6/2/2563 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (6 กุมภาพันธ์ 2563)