info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.200.179.138

เวนคืนสร้างสะพานเชื่อมเกาะ-เจ้าพระยา บูมท่องเที่ยว-แก้รถติด-เปิดทำเลใหม่

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

ปัจจุบันแม้รัฐบาลจะทุ่มงบประมาณทุกทางไปกับการเยียวยาเศรษฐกิจและโควิด-19 แต่การเดินหน้าโครงการใหม่ ๆ ยังคงมีการศึกษาโครงการลงทุนใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด 2 กรมถนนสังกัดกระทรวงคมนาคม “กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท” ซึ่งเป็นหน่วยที่ได้รับจัดสรรงบประมาณการซ่อมบูรณะและก่อสร้างถนนสายใหม่แต่ละปีเป็นจำนวนมาก

ถึงแม้ในปี 2564 และปี 2565 จะถูกตัดงบประมาณไปบ้าง แต่ทั้ง 2 กรมไม่ลดละความพยายาม ยังคงเดินหน้าศึกษาโครงการใหม่และตั้งแท่นโครงการขอจัดสรรในปีถัดไป

สะพานสามโคกผ่าน EIA แล้ว

อย่างโครงการ “ถนนสายสะพานสามโคก” หรือทางหลวงแนวใหม่เชื่อมถนนวงแหวนด้านตะวันตก-จุดตัดถนนสาย 347 ไปสิ้นสุดที่จุดตัดถนนวงแหวนด้านตะวันออก ระยะทาง 14.347 กม. ซึ่งกรมทางหลวงคาดว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้าง 9,590 ล้านบาท สร้างถนนและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

ล่าสุดโครงการได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 แต่ยังไม่ได้งบประมาณมาดำเนินการ จากเดิมเสนอโครงการของบประมาณในปี 2565 จะต้องยื่นขอใหม่ในปี 2566 แทน

สำหรับโครงการนี้ริเริ่มขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัด เชื่อมต่อโครงข่ายถนนรอบ จ.ปทุมธานี และเสริมโครงข่ายในแนวสายทางปทุมธานี-รังสิต-อ.องครักษ์ บรรเทาการจราจรที่หนาแน่น

รองบประมาณ-ออก พ.ร.ฎ.เวนคืน

ปัจจุบันรอออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินในพื้นที่ ต.บางเตย ต.สามโคก อ.สามโคก จะสร้างถนนตัดใหม่ขนาด 6 ช่องจราจร จากต่างระดับบางเตยข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงถนนสาย 347 ระยะทาง 9.38 กม. มีค่าเวนคืน 4,500 ล้านบาท สำหรับที่ดิน 461 แปลง คิดเป็น 542 ไร่ เกือบ 4,000 ล้านบาท และสิ่งปลูกสร้าง 267 ราย ต้นไม้ 187 ราย มีบ้านจัดสรรอยู่ใกล้ต่างระดับบางเตย

แนวเส้นทางพาดผ่าน 3 อำเภอ คือ อ.เมืองปทุมธานี อ.สามโคก และ อ.คลองหลวง 7 ตำบล คือ ต.คลองควาย ต.บางเตย ต.สามโคก ต.บ้านปทุม ต.เชียงรากใหญ่ ต.บางพูด และ ต.คลองหนึ่ง มีจุดเริ่มต้นถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกแยกต่างระดับบางเตย บรรจบกับถนน 3111 สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

จากนั้นแนวจะเชื่อมกับถนนสาย 347 และจะเข้าสู่ถนนสาย 3214 เป็นถนนเดิมข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สิ้นสุดที่แยกต่างระดับคลองหลวง จะเชื่อมกับถนนหน้าวัดธรรมกายไปทะลุถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก เป็นเส้นทางลัดเลี่ยงถนนรังสิต-ปทุมธานี และรังสิต-นครนายก

ทุ่ม 980 ล้านสร้างสะพานสิงห์บุรี

นอกจากนี้ “กรมทางหลวง” ยังสำรวจและออกแบบ ทางแยกบนถนน 311 จุดตัดแยกศาลหลักเมือง-แยกไกรสรราชสีห์ จ.สิงห์บุรี ระยะทาง 1.5 กม. วงเงิน 980 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณารายงาน EIA หากได้รับอนุมัติจะเสนอของบฯก่อสร้างต่อไป โดยเป็นการปรับรูปแบบเป็นระบบวงเวียนเพื่อทดแทนการใช้สัญญาณไฟจราจรให้เกิดความคล่องตัว

และศึกษาออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ทดแทนสะพานเดิมที่มีอายุการใช้งานมานาน ซึ่งเป็นรูปแบบสะพานโค้งคันธนู มีระบบเคเบิลแบบเครือข่ายที่มีความยาวช่วงข้ามแม่น้ำเท่ากับ 150 เมตร ขนาด 3 ช่องจราจร

สำหรับถนน 311 เป็นทางสายหลักเชื่อมโยงการเดินทางจากสาย 32 หรือถนนเอเชีย และพื้นที่ด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านทางแยกต่างระดับสิงห์บุรีใต้ แยกต่างระดับสิงห์บุรีเข้าสู่ถนน 335 แล้วบรรจบกับแยกไกรสรราชสีห์ก่อนจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจหลักของ จ.สิงห์บุรีฝั่งตะวันตก

มีแยกศาลหลักเมืองเป็นจุดรวมและกระจายการจราจรในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จะช่วยบรรเทาความคับคั่งของปริมาณการจราจร และยังสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นแลนด์มาร์กที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของสิงห์บุรีได้

สร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา

ด้าน “กรมทางหลวงชนบท” กำลังศึกษาความเหมาะสมอย่างละเอียด รายงาน EIA สร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง-ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่

“ปฐม เฉลยวาเรศ” อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า กรมเดินหน้าโครงการนี้เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางไปเกาะลันตาจะต้องผ่านทางถนน 4206 สู่บ้านหัวหิน เป็นจุดลงแพขนานยนต์ ท่าเรือบ้านหัวหินไปยังท่าเรือบ้านคลองหมาก

ซึ่งท่าเรือนี้จะเชื่อมระหว่างเกาะกลางไปยังเกาะลันตาน้อย จากนั้นจะมีสะพานสิริลันตาเชื่อมเกาะลันตาน้อย-เกาะลันตาใหญ่ จึงจะถึงตัวเมือง ย่านชุมชนการค้า และตรงต่อไปยังหาดต่าง ๆ จนไปสุดถนนที่ท้ายเกาะบริเวณที่ทําการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา

“ใช้แพขนานยนต์ แม้ระยะทางสั้น 1.53 กม. แต่แพขนานยนต์บรรทุกรถได้น้อย มีจํานวนจํากัดและให้บริการในช่วงเวลา 06.00-22.00 น.เท่านั้น ทำให้การเดินทางล่าช้าในช่วงเวลาเร่งด่วน”

โดยโครงการมีจุดเริ่มต้นจากถนน 4206 ไปบรรจบกับจุดสิ้นสุดถนน 5035 ความยาวสะพานรวมเชิงลาด 2,240 เมตร เป็นรูปแบบสะพานคานขึง มีขั้นตอนในการก่อสร้างรบกวนระบบนิเวศน้อยที่สุด

ในส่วนของโครงสร้างที่อยู่ในทะเลจะมีมาตรการป้องกันการสั่นไหว เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ป้องกันการกัดเซาะ ป้องกันการเกิดสนิม ซึ่งสายเคเบิลสะพานที่เป็นเหล็กได้ถูกออกแบบให้ป้องกันการเกิดสนิม

รองบฯปี’65 ก่อสร้าง

หลังจากนี้ กรมจะใช้เวลา 7 เดือนทำรายงาน EIA เสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน เมื่อได้รับอนุมัติจะเสนอคณะรัฐมนตรีและของบฯปี 2565 ก่อสร้าง ซึ่งทั้งโครงการคาดว่าจะใช้ค่าก่อสร้างประมาณ 1,600 ล้านบาท

15/4/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (15 เมษายน 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS