info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.210.237.223

เคาะ 4 เส้นทางนำร่องมอเตอร์เวย์คู่ราง สั่งเพิ่มเชื่อมอีอีซี

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

เคาะ 4 เส้นทางนำร่องมอเตอร์เวย์คู่ราง 1,155 กม. จากเสนอทั้งหมด 10 เส้นทาง ด้าน “ศักดิ์สยาม” สั่งเพิ่ม 1 เส้นทาง พื้นที่อีอีซี-เส้นทาง MR5 (ชุมพร-ระนอง) พร้อมศึกษากำหนดหมายเลขเส้นทาง MR–Map ให้เป็นมาตรฐาน กำชับ ทล. เน้นเส้นทางเลี่ยงเข้าเขตเมือง ลดเวนคืนที่ดินประชาชน 13 กรกฎาคม 2564 12:57 น. เศรษฐกิจ-ยานยนต์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมความคืบหน้าการขับเคลื่อนการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมือง และระบบราง (MR-Map) เมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 โดยที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานศึกษาจัดทำ MR–Map ของกรมทางหลวง (ทล.) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนศึกษาเพื่อจัดทำโครงข่ายในเบื้องต้น และคัดเลือกโครงการนำร่องเพื่อศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น ซึ่งได้พิจารณา 4 โครงการนำร่องที่มีศักยภาพระยะทางรวม 1,155 กม. จากที่มีผลการคัดเลือกเส้นทางนำร่องจาก 10 เส้นทาง สำหรับ 4 โครงการนำร่อง ได้แก่ 1.เส้นทาง MR5 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 108 กม. โดยการศึกษาสอดคล้องกับแนวทางการศึกษาความเหมาะสมโครงการแลนด์บริดจ์ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เชื่อมโยงระหว่างฝั่งทะเลอันดามัน-อ่าวไทย ให้เป็นศูนย์กลางการเดินเรือในภูมิภาค 2.เส้นทาง MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย)-แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง 288 กม. เบื้องต้น ทล. คาดว่าพัฒนาโครงการนี้จะประกอบด้วย ด่านเข้า-ออก 10 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 11 แห่ง อุโมงค์ 3 แห่ง และ พื้นที่บริการ (Rest Area) 8 แห่ง 3.เส้นทาง MR9 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี 440 กม.

เบื้องต้น ทล.คาดว่าการพัฒนาประกอบด้วย ด่านเข้า-ออก 10 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 9 แห่ง และ Rest Area 8 แห่ง และ 4.เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ระยะทางรวม 319 กม. ทั้งนี้ได้พิจารณารูปแบบการกำหนดหมายเลขเส้นทางทั้ง 10 เส้นทาง อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการกำหนดหมายเลขเส้นทาง MR–Map ให้เป็นระบบตามมาตรฐานต่อไป หลักการโครงการแผนพัฒนาโครงข่าย MR–Map นี้จะช่วยแก้ปัญหาโครงข่ายระบบคมนาคม ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการของโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น โครงการของ ทล. รฟท. และ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้แก่ การพัฒนาวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 การบูรณาการโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี วงแหวนฯ รอบที่ 3 กับโครงการมอเตอร์เวย์สายกาญจนาภิเษก-สระแก้ว และยังช่วยแก้ไขปัญหา เส้นทางรถไฟที่วิ่งผ่านเขตชุมชนเมือง ทำให้เกิดปัญหาการจราจรและการแบ่งแยกพื้นที่ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่สายมาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา รวมถึงยังช่วยให้การขนส่งสินค้าทางรางเป็นไปด้วยความสะดวก และลดปัญหาการขนส่งสินค้าทางรางเข้าสู่พื้นที่ในเขตเมืองใหญ่อีกด้วย ทั้งนี้สั่งการให้ศึกษาโครงการนำร่องที่มีศักยภาพเพิ่มเติมอีก 1 เส้นทาง คือ เส้นทางเชื่อมระหว่างเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)-เส้นทาง MR5 (ชุมพร-ระนอง) และกำชับให้ ทล. เน้นหลักการโครงการแผนพัฒนาโครงข่าย MR–Map โดยเฉพาะกรณีเส้นทางที่ต้องเลี่ยงการเดินทางเข้าเขตเมือง เพื่อลดปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินของประชาชน และต้องมีการวางแผนการเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทาง MR–Map กับพื้นที่เขตเมืองให้เชื่อมต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ รฟท. ศึกษาข้อมูลรูปแบบเส้นทางรถไฟพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพื่อบูรณาการเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทาง MR–Map เน้นใช้ประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำลักษณะการบูรณาการร่วมกับระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทล. และ กทพ. และการดำเนินการต้องลดผลกระทบต่อประชาชน

หากมีการแก้ไขรูปแบบของโครงการที่ได้มีการออกแบบ การรับฟังความเห็นประชาชน หรือการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปแล้ว การบูรณาการที่เกิดขึ้นจะต้องอยู่ในกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป สำหรับผลคัดเลือกเส้นทางนำร่องจาก 10 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทาง MR1 ตาก (ด่านแม่สอด)-นครพนม (ด่านนครพนม) เส้นทาง MR2 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) เส้นทาง MR3 กาญจนบุรี (ด่านน้ำพุร้อน)-สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) เส้นทาง MR4ชลบุรี-ตราด (ด่านคลองใหญ่) เส้นทาง MR5 ชุมพร-ระนอง เส้นทาง MR6 ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี เส้นทาง MR7 เชียงราย (ด่านเชียงของ)-สงขลา (ด่านชายแดนมาเลเซีย) เส้นทาง MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย)-ชลบุรี (แหลมฉบัง) เส้นทาง MR9 บึงกาฬ (ด่านบึงกาฬ)-สุรินทร์ (ด่านช่องจอม) และ เส้นทาง MR10 วงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3

13/7/2564  เดลินิวส์ (13 กรกฎาคม 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS