info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.14.90

ศักดิ์สยามลงพื้นที่กาญจนบุรี สั่งการหน่วยงานคมนาคม 7 ข้อ

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

ศักดิ์สยามนำทีมคมนาคมลงพื้นที่กาญจนบุรี มอบข้อสั่งการหน่วยงาน 7 ข้อ อาทิ ใช้งบลงทุน-เร่งซ่อมแซมสายทางจากปัญหาน้ำท่วม

วันที่ 14 ตุลาคม 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคมขนส่ง มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ

โดยมี นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน และนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด และนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมลงพื้นที่โดยมี ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้การต้อนรับ

ในการนี้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการ ดังนี้

1) เร่งรัดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2566 ได้ตามเป้าหมายของกระทรวงคมนาคมที่ร้อยละ 100 โดยเฉพาะงบลงทุนเพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

2) การดำเนินการในทุกขั้นตอนขอให้ยึดหลักกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด

3) การดำเนินโครงการต่าง ๆ ขอให้คำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชนด้วย โดยอาจเริ่มดำเนินการตั้งแต่ก่อนดำเนินโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

4) ให้หน่วยงานในพื้นที่เร่งซ่อมแซมสายทางที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย และประสานงานกับจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที

5) ในการดำเนินการก่อสร้าง ให้หน่วยงานคมนาคมในพื้นที่คำนึงถึงความปลอดภยเป็นสำคัญ

6) ให้ทำการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม และหน่วยงาน ในสังกัดอย่างต่อเนื่องและครบทุกมิติ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน

7) ให้กรมการขนส่งทางบกขยายผลการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขยายผลไปยังจังหวัดต่าง ๆ เช่น การนำรถเมล์ EV มาให้บริการประชาชน เป็นต้น

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่และสามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางและขนส่งสินค้าให้ผู้ที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งอย่างเท่าเทียม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างงาน สร้างรายได้ ประชาชนมีความสุข

จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญทุกโหมดการเดินทางในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ดังนี้

1. มิติการพัฒนาทางถนน

1.1 การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง

– โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 323 สายท่าเรือ – กาญจนบุรี ดำเนินการแล้วเสร็จ

– โครงการก่อสร้างปรับปรุงบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 323 กับทางหลวงหมายเลข 367 (แยกท่าล้อ) อยู่ระหว่างดำเนินการ

1.2 การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท

– โครงการบำรุงถนนสาย กจ.4088 แยก ทล.3272 – บ.อีต่อง อำเภอทองผาภูมิ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ผลการก่อสร้าง 83.98% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2565

– โครงการสะพานข้ามแม่น้ำแควน้อย ตำบลท่าเสา และตำบลวังกระแจะ อำเภอไทรโยค อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ผลการก่อสร้าง 30.62%

1.3 แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP เป็นโครงข่ายคมนาคมที่ประกอบไปด้วยถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟพัฒนาอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางกับภาคอื่นของประเทศไทยให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง

โดยแผนการดำเนินการ ได้แก่ ปี 2564 แผนแม่บทโครงข่าย MR-MAP ได้ศึกษาแล้วเสร็จ และคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (คจร.) ได้เห็นชอบแล้ว ปี 2565 หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะดำเนินการสำรวจและออกแบบในรายโครงการ โดยมีเส้นทางที่ผ่านพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ MR5 : กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 6) ระยะทาง 832 กิโลเมตร ซึ่งเป็น 1 ใน 3 โครงการนำร่อง และ MR6 : กาญจนบุรี (ด่านพุน้ำร้อน) – สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ระยะทาง 390 กิโลเมตร

1.4 โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง

– โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สาย M81 บางใหญ่ – กาญจนบุรี มีจุดเริ่มต้นที่จุดตัดทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ด้านตะวันตกกับถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณทางแยกต่างระดับบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ผ่านพื้นที่อำเภอนครชัยศรี และอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี สิ้นสุดที่จุดบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 324 (ถนนกาญจนบุรี – อำเภอพนมทวน) อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ระยะทางรวมประมาณ 96 กิโลเมตร ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธามีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 82 กำหนดเปิดให้บริการในปี 2566

– โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M81 กาญจนบุรี – ชายแดนไทย/เมียนมาร์ (บ้านพุน้ำร้อน) เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองขนาด 4 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี สิ้นสุดที่ด่านพรมแดนบ้านพุน้ำร้อน ระยะทาง 82 กิโลเมตร ความก้าวหน้าการดำเนินงานได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (FS) และออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ สำหรับรูปแบบการลงทุนและแผนดำเนินโครงการอยู่ระหว่างรอความชัดเจนของการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย

1.5 การเชื่อมโยงการขนส่งสาธารณะ การเชื่อมโยงระบบคมนาคมจากสถานีขนส่งผู้โดยสารไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง หมวด 1 สายที่ 2 ศาลาสองแคว – เชิงสะพานแก่งเสี้ยน หมวด 4 สายที่ 1722 กาญจนบุรี – ลาดหญ้า สายที่ 8170 กาญจนบุรี – ศรีสวัสดิ์ สายที่ 8172 กาญจนบุรี – บ้านพุน้ำร้อน สายที่ 8203 กาญจนบุรี – สังขละบุรี สายที่ 8520 กาญจนบุรี – ค่ายกองพลที่ 9 รวมทั้งโครงการและแผนงานเพื่อบริการประชาชนต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ ได้แก่ 1) โครงการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 2) โครงการนักเรียนรุ่นใหม่มีใบขับขี่

3) โครงการตรวจจับความเร็วรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกด้วยกล้องเลเซอร์เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 4) ศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS 5) ศูนย์ควบคุมสถานตรวจสภาพรถเอกชน (VICC) 6) โครงการตรวจการขนส่ง และตรวจวัดควันดำ 7) โครงการตรวจและทดสอบสารอันเกิดจาก การเสพยาเสพติดให้โทษของผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ 8) เทคโนโลยีในการให้บริการประชาชน ได้แก่ ระบบจองคิวล่วงหน้า (DLT Smart Queue) ระบบชำระภาษีรถประจำปี (DLT Vehicle Tax DLT GPS) ตรวจสอบรถสาธารณะด้วยระบบ GPS และระบบใบอนุญาตขับรถเสมือนจริง (DLT QR LICENCE)

2.มิติทางราง กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ดังนี้

2.1 แผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2560 – 2564) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กิโลเมตร ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางชุมทางฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย เส้นทางชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น เส้นทางมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 5 เส้นทาง ตามแผนจะเปิดให้บริการในปี 2566

2.2 แผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2569) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการ และจัดทำรายงาน EIA นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีแผนพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่ระยะถัดไป จำนวน 12 เส้นทาง โดยมีเส้นทางที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกาญจนบุรี – บ้านพุน้ำร้อน และเส้นทางกาญจนบุรี – สุพรรณบุรี – ชุมทางบ้านภาชี โดยทั้ง 2 เส้นทาง อยู่ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 เพื่อศึกษาความเหมาะสมต่อไป

3. มิติทางน้ำ มีการพัฒนาทางน้ำในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ โครงการขุดลอกแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง โครงการจัดระเบียบแพสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขากาญจนบุรี ร่วมมือกับจังหวัดกาญจนบุรี ในการจัดระเบียบแพ จำนวน 50 หลัง ในแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณท่าน้ำหน้าเมืองเขื่อนขุนแผน ให้แพพักเคลื่อนย้ายไปจอดไว้ในบริเวณที่เหมาะสม และโครงการสร้างความปลอดภัยในการคมนาคมขนส่งทางน้ำ

ได้แก่ จัดตั้งจุดอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางน้ำประจำท่าเทียบเรือที่มีประชาชน และนักท่องเที่ยวใช้บริการหนาแน่น จัดเจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือสาธารณะ และการควบคุมเรือทุกประเภท ตรวจสอบความปลอดภัยของเรือโดยสารและโป๊ะเทียบเรือ

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะทำให้การเชื่อมต่อด้านคมนาคมขนส่งทุกโหมดการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและคมนาคมขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ซึ่งในโอกาสนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยม พร้อมรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สาย 81 บางใหญ่ – กาญจนบุรี ตอนที่ 18 ที่ กม.66+900 ทางหลวงหมายเลข 3443 ตอน ตลาดใหม่ – ตลุงเหนือ ที่ กม.3+200 และทางหลวงชนบท กจ.3036 แยกทางหลวงหมายเลข 324 – อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชอีกด้วย

14/10/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (14 ตุลาคม 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS