ประยุทธ์หารือนายกฯ สปป.ลาว ก่อนเป็นประธานร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 วันที่ 28 ตุลาคม 2565 ที่บริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 แขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้หารือทวิภาคีกับนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ภายหลังการหารือนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้ร่วมเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้าง สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ซึ่งเป็นไปตามที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ที่ไทยเชื่อมั่นว่าสะพานแห่งนี้จะเป็นอีกช่องทางให้ประชาชนตามแนวชายแดนไปมาหาสู่กันได้สะดวกมากขึ้น และเชื่อว่าจะมีสะพานแห่งอื่น ๆ เพิ่มอีก และขอให้ดูแลคนไทยในประเทศลาว ซึ่งคนไทยก็จะดูแลคนลาวในไทยเช่นกัน
นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งในวันนี้ไทย-ลาว มีสะพานเชื่อมโยง แต่ถึงจะไม่มีสะพานคนไทย-คนลาวก็มีใจเชื่อมใจ ขอให้จดจำถ้อยคำ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่พึ่งพาถ้อยอาศัยระหว่าง 2 ประเทศ กินข้าวร่วมนา กินปลาร่วมน้ำ
นายอนุชากล่าวว่า นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ฝ่ายเชื่อมั่นว่าสะพานแห่งนี้ จะเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญที่แสดงถึงความเป็นมิตรที่ใกล้ชิด และยิ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศและประชาชนทั้ง 2 ประเทศใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น และจะเป็นสะพานที่เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทั้ง 2 ประเทศ เนื่องจากจะเป็นทางเลือกการขนส่งระหว่างไทยกับ สปป.ลาว รวมทั้งส่งเสริมการขนส่งเส้นทางหมายเลข 8 (R8) ระหว่างไทย-ลาว-เวียดนามให้สะดวกยิ่งขึ้น
นายอนุชากล่าวว่า ในส่วนของประเด็นเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบรางของไทยกับรถไฟลาว-จีน นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 ฝ่ายหารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อลดอุปสรรคในการขนส่งและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีให้เต็มที่ ซึ่งต้องการเห็นความคืบหน้า อำนวยความสะดวก ขจัดอุปสรรคต่าง ๆ
นายอนุชากล่าวว่า ในโอกาสนี้ ภายหลังการหารือนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้กล่าวแสดงความยินดี และความร่วมมือโครงการ ยินดีและเป็นเกียรติ ที่ได้มาร่วมงานที่มีความหมายเป็นสิริมงคลในวันนี้ การก่อสร้างนี้เป็นความพยายามมุ่งมั่นของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง การขนส่ง ส่งเสริมการค้า การลงทุน ท่องเที่ยว สนับสนุนการพัฒนาในทั้ง 2 ประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน และในตอนท้ายได้อวยพรให้ 2 ประเทศเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ทั้ง 4 มิติ (บก ราง น้ำ และอากาศ) ให้เชื่อมโยงการเดินทางสู่ภูมิอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ด้วยระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
โดยปัจจุบันประเทศไทยกับ สปป.ลาว มีสะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมโยงระหว่างประเทศแล้ว จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) โครงการนี้จึงเป็นสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ที่จะช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างไทย-สปป.ลาว ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
โดยคณะรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวง โดย กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างโครงการ ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งต่อมาในปี 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว และผู้แทนรัฐบาลทั้งสองประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งแห่ง สปป.ลาว ได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยการก่อสร้าง ณ จังหวัดบึงกาฬ เพื่อกำหนดขอบเขตงานก่อสร้าง รวมทั้งกำหนดแนวทางในการบริหารโครงการก่อสร้างร่วมกัน
สำหรับรูปแบบการก่อสร้างของโครงการนี้ ทล. ได้ออกแบบเป็นสะพานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 1,350 เมตร พร้อมอาคารด่านพรมแดนสำหรับกระบวนการข้ามแดน และถนนเชื่อมต่อโครงข่ายของทั้งสองฝั่ง ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการก่อสร้างเฉลี่ย ร้อยละ 57 (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2565) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนของทั้งสองประเทศได้ในปี 2567
นอกจากนี้ แนวคิดในการออกแบบโครงสร้างสะพานได้มีการนำ แคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีท้องถิ่น มาใช้ในการกำหนดรูปแบบทางสถาปัตยกรรม สะท้อนให้เห็นถึงความสนุก รื่นเริง ความเป็นมิตรไมตรี ความคุ้นเคย และความเป็นกันเองในวัฒนธรรมของไทยและ สปป.ลาว ส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างสองประเทศ สร้างความเจริญทางด้านสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)
ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) แล้วเสร็จจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างสองประเทศ ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านการขนส่งสินค้า และการสัญจรของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
และยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้านการขนส่งภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation : GMS) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยง 5 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา ไทย สปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชา อย่างต่อเนื่อง และมั่นคง
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซนั้นมีงบประมาณรวม 3,653 ล้านบาท แบ่งการดำเนินการก่อสร้างออกเป็น 5 ตอน ดังต่อไปนี้
การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 5 ตอน โดยเป็นการดำเนินงานในฝั่งไทย 3 ตอน คือ ตอน 1 งานก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองบึงกาฬ ซึ่งเป็นทางแนวใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 9.400 กิโลเมตร ดำเนินการโดย บริษัท บัญชากิจ จำกัด งบประมาณ 831 ล้านบาท
ตอน 2 งานก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองบึงกาฬ (ต่อเนื่องจากตอน 1) ระยะทาง 2.683 กิโลเมตร และงานก่อสร้างอาคารด่านพรมแดนฝั่งไทย ดำเนินการโดยบริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัด งบประมาณ 883 ล้านบาท
ตอน 3 งานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง (ฝั่งไทย) และงานปรับปรุงลานเอนกประสงค์ใต้สะพาน ดำเนินการโดยบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด งบประมาณ 787 ล้านบาท
และการดำเนินงานในฝั่ง สปป.ลาว 2 ตอน คือ Package 2B งานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง (ฝั่ง สปป.ลาว) งบประมาณ 379 ล้านบาท และ Package 3 งานก่อสร้างถนนและด่านพรมแดน ฝั่ง สปป.ลาว งบประมาณ 773 ล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าปัจจุบัน ของทั้ง 5 ตอน มีผลการดำเนินงาน 56.945% จากแผนงาน 57.801% ช้ากว่าแผน 0.855% อย่างไรก็ตามกรมทางหลวงคาดว่า จะสามารถเร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ และเปิดให้บริการได้ประชาชนของทั้งสองประเทศได้ ประมาณต้นปี พ.ศ. 2567
28/10/2565 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 28 ตุลาคม 2565)