info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.9.169

คอนโดฯ กทม. น้อยสุดในรอบ 13 ปี ขาดแรงงาน - สต็อกค้าง

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

หมดยุคผุดเป็นดอกเห็ด คอนโดฯ กทม. สร้างเสร็จจดทะเบียน ปี 2564 น้อยสุดในรอบ 13 ปี คอลลิเออร์ฯ เผย วิกฤติโควิด - ขาดแรงงานก่อสร้าง - สต็อกเหลือขายค้าง ป่วนตลาด เหลือเพียง 67 โครงการ 25,113 ยูนิต เท่านั้น ขณะห้วยขวาง ขึ้นแท่นเขตคอนโดมากสุด

13 ก.พ.2565 - นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่าภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2543 – 2564 มีคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ มากถึง 711,692 ยูนิต

คอนโดฯสร้างเสร็จน้อยสุดในรอบ 13 ปี

สำหรับปีพ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาพบว่ามีคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ เพียงแค่ 67 โครงการ 25,113 ยูนิต เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นปีที่มีคอนโดมิเนียมก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดน้อยที่สุดในรอบ 13 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่กรุงเทพฯ รองมาจากในปี พ.ศ. 2551 ที่มีคอนโดฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดอยู่ที่ 20,806 ยูนิต และปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 56.1 จากอุปทานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในปีก่อนหน้าทั้งหมด 57,220 ยูนิต

จากข้อมูลพบว่า เขตห้วยขวาง เป็นเขตที่มีโครงการคอนโดมิเนียมก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดสูงที่สุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครในปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวน 3,189 ยูนิต รองลงมาคือ เขตจตุจักร จำนวน 2,535 ยูนิต และเขตภาษีเจริญ จำนวน 2,449 ยูนิต

คอนโดฯราคาถูกมาแรง

หากพิจารณาจากอุปทานคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯทั้งหมด711,692 ยูนิต พบว่า คอนมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงปี พ.ศ. 2543-2564 ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอกมากที่สุดถึง 408,687 ยูนิต หรือคิดเป็นร้อยละ 57.4 นอกจากนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน 303,275 ยูนิต หรือคิดเป็นร้อนละ 42.6 ซึ่งเราพบว่า

สำหรับในปีพ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลายรายหันกลับมาให้ความสนใจกับการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในช่วงราคาขายต่ำกว่า 50,000 บาทต่อตร.ม. ในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกอีกครั้งและหลายโครงการที่เปิดตัวในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่ซื้อเพื่อการปล่อยเช่ารวมถึงเรียลดีมานด์ที่ซื้อเพื่อการอยู่อาศัยเป็นอย่างดี

ปัจจัยป่วนตลาด คอนโดฯสร้างเสร็จไม่ทัน

นายภัทรชัย กล่าวสรุปว่า จากปัจจัยลบทั้งในเรื่องของการขาดแรงงานในการก่อสร้างจากประกาศของกรุงเทพมหานครที่มีประกาศสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเป็นระยะเวลา 1 เดือนและห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานไปที่อื่นๆ เนื่องจากพบคลัสเตอร์แรงงานก่อสร้างขนาดใหญ่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ผู้พัฒนามีความกังวลในการก่อสร้างคอนโดมิเนียมเสร็จล่าช้าไม่ทันกำหนดการโอนตามเวลาที่ตกลงกันในสัญญา ซึ่งส่งผลให้หลายโครงการคอนโดมิเนียมในช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถก่อสร้างได้ทันตามกำหนดเดิม

บวกกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้พัฒนาปรับลดสัดส่วนการพัฒนารวมถึงการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครลง เนื่องจากหลายปัจจัยลบที่เข้ามากระทบตลาดทั้งในเรื่องของกำลังซื้อต่างชาติที่หายไปจากตลาดในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงอุปทานเหลือขายในหลายพื้นที่ที่ยังไม่สามารถระบายออกได้ ส่งผลให้ผู้พัฒนาส่วนใหญ่เลือกที่จะปรับลดการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมลง หรือบางรายประกาศเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงที่ผ่านมาออกไป เมื่ออุปทานเปิดขายใหม่ปรับตัวลดลง แน่นอนว่าส่งผลให้คอนโดมิเนียมก่อสร้างแล้วเสร็จในพื้นที่กรุงเทพมหานครปีพ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก และถือว่าเป็นอุปทานคอนโดมิเนียมก่อสร้างแล้วเสร็จในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่น้อยที่สุดในรอบ 13 ปี

ทั้งนี้ ในปีพ.ศ. 2565 แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ว่า จะมีคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯอีกกว่า 33,569 ยูนิต ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 33.7 และส่วนใหญ่ยังคงตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯรอบนอก ในช่วงประดับราคาประมาณ 70,000-120,000 บาทต่อตารางเมตร

13/2/2565  ฐานเศรษฐกิจ (13 กุมภาพันธ์ 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS