กรมราง เดินหน้าศึกษาพัฒนา M-MAP เฟส 2 เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขต กทม.-ปริมณฑล รองรับประชาชนเดินทาง เล็งดึงไจก้าร่วมศึกษา คาดใช้เวลา 18 เดือน
ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยสำหรับการประชุมสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจําลอง การคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขต กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP2) ว่า เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง ดําเนินการศึกษา โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจําลองการคาดการณ์ ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP2) เพื่อเป็นการต่อยอดแผนแม่บท M-MAP เดิม ให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของเมืองในอนาคต
สําหรับโครงการดังกล่าว มีกระบวนการศึกษาใช้ระยะเวลา 18 เดือน โดยมีขอบเขตการดําเนินงาน แบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1.การรวบรวม ศึกษาและทบทวนข้อมูล ปริมาณผู้โดยสาร รูปแบบโครงการ แนวเส้นทาง ตําแหน่งสถานีรถไฟฟ้า มูลค่าการลงทุน รวมทั้งสถานะของโครงการรถไฟฟ้าในปัจจุบัน และโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2.การวางแผนเพื่อพัฒนาแผนแม่บทโครงข่าย M-MAP2 3.การดําเนินการสนับสนุนทางวิชาการแก่กรมการขนส่งทางราง 4.การพัฒนาแบบจําลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง (Railway Demand Forecast Model) 5. การประชาสัมพันธ์ การมีส่วนร่วม และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีแนวคิดการพัฒนา แบบจําลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง (Railway Demand Forecast Model) เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายในแต่ละเส้นทางสอดคล้องกับรูปแบบการขยายตัวและการพัฒนาของเมืองในปัจจุบัน และเพื่อให้ M-MAP 2 เป็นแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความซ้ำซ้อน ลดการลงทุนในโครงข่ายที่มีความจําเป็นในลําดับรองให้สอดคล้องความต้องการในการเดินทางของประชาชนและทิศทางการพัฒนาในอนาคต และเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก ตรงตามความต้องการ รวดเร็ว ประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาให้กับประชาชน
นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้มีข้อตกลงร่วมกับประเทศไทยในการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อดําเนินโครงการ M-MAP 2 ที่ประเทศไทยกําลังเดินหน้าศึกษาอยู่ โดยประเทศญี่ปุ่นได้มอบหมายให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA เป็นหน่วยงานผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น ในการร่วมมือทางวิชาการกับฝ่ายไทย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การคาดการณ์ผู้โดยสารระบบรางในประเทศที่มีการพัฒนาระบบรางอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้แก่บุคลากรในแวดวงระบบรางของไทยได้นําไปปรับปรุงหรือพัฒนาแบบจําลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและนําไปพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีความพร้อม และสามารถอํานวยความสะดวกแก่ประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมามีการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลหรือ M-MAP ตั้งแต่ปี 2553 จึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงแผนแม่บทรถไฟฟ้าให้มีความ ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารในอนาคต เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนทางราง หรือรถไฟฟ้า เป็นทางเลือกสําคัญในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยปัจจุบัน เปิดให้บริการแล้วกว่า 211.94 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 112.20 กิโลเมตรจากโครงข่ายทั้งหมด 553.41 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะเป็นส่วนสําคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลได้อย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในภาพรวม ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ลดปัญหาความซ้ำซ้อน ลดการลงทุนและ งบประมาณในโครงข่ายที่ไม่มีความจําเป็นในสภาวการณ์ปัจจุบัน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของ ประชาชนให้มีความรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัยยิ่งขึ้น
1/3/2565 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (1 มีนาคม 2565)