ประยุทธ์ กดปุ่มเปิดโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จ.ระยอง รองรับนักลงทุน New S-Curve ดัน EEC คึกคัก พร้อมเปิดดำเนินการตามแผนปี67 จ้างงานในพื้นที่กว่า 7,500 คน เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1,342 ล้านบาท/ปี
วันที่ 31 มีนาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกล่าวเปิด โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ว่า สมาร์ทปาร์คเป็นอีกหนึ่งโครงการภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รองรับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการลงทุนในด้านต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทุกมิติรวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังเกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มรายได้ให้คนในพื้นที่ ทำให้ EEC และประเทศไทยเป็นจุดหมายสำหรับนักลงทุน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบการลงทุนในโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ที่ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง พื้นที่รวม 1,383.76 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2,370 ล้านบาท
นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนา คาดจะมีการจ้างงานประมาณ 200 คน ทำให้มีเงินหมุนเวียนในชุมชน ประมาณ 23,760,000 บาท/ปี ส่วนระยะดำเนินการ มีการจ้างงานประมาณ 7,459 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,342,620,000 บาท/ปี
ตามแผนการดำเนินงาน หลังจากลงนามในสัญญาจ้างผู้รับเหมาแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ประมาณ 3 ปี และสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567 ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มถมที่ คืบหน้าไป 7.66% (อัพเดต 21 มี.ค. 65)
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า โครงการ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค(Smart Park) รองรับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น
โดยมีแนวคิดพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่ทันสมัย ทั้งทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระบบการสื่อสาร ระบบการขนส่ง ระบบพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งนอกจากรวมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกันแล้ว ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อม รวมทั้งอาคารต่าง ๆ ต้องมีมาตรฐานระดับสากล ที่สำคัญต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งหลังจากนี้ กนอ. จะเร่งดำเนินการโปรโมตการขายพื้นที่นิคมสมาร์ทปาร์คต่อไป
31/3/2565 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (31 มีนาคม 2565)