info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.14.90

เทรนด์ “รับสร้างบ้าน” สูงวัย กำจัดจุดเสี่ยงเริ่มต้นที่ห้องนอน-ห้องน้ำ

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

ประเทศไทยเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่การเป็นสังคมประชากรผู้สูงวัยอย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

และในปี 2573 คาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 26.9% ของประชากรทั้งประเทศ

เทรนด์ระดับโลก แนวโน้มอัตราการเกิดของประชากรทั่วโลกลดลง สวนทางกับอายุยืนยาวขึ้นจากพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงหันมาใส่ใจสุขภาพและการรักษา ส่งผลให้คนที่เกิดในยุค Baby Boomers ช่วงปี 2489-2507 ก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างเป็นทางการ

เสี่ยงล้ม “ห้องนอน-ห้องน้ำ”

คำถามที่เริ่มพบบ่อยมากขึ้นในยุคนี้คือ บ้านแบบไหนสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อสภาวะผู้สูงวัย

ประเด็นนี้ “สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน” (HBA-Home Builder Association) โดย “วรวุฒิ กาญจนกูล” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน นำเสนอไอเดียแบบบ้านที่เหมาะสมสำหรับการพักอาศัยหลายเจเนอเรชั่น โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุพักอาศัยภายใต้หลังคาเดียวกัน

“การมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากสภาพแวดล้อมแล้ว ด้านการออกแบบที่อยู่อาศัยให้สอดรับกับการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงด้านความปลอดภัยและมีความสุข ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะประสบปัญหาการหกล้ม และแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น”

โดยบริเวณที่เกิดการหกล้มบ่อยมี 2 ฟังก์ชั่นหลัก ๆ คือ “ห้องนอน-ห้องน้ำ” ดังนั้น เทรนด์ใหม่ของการอยู่อาศัยในสังคมผู้สูงอายุ ต้องใส่ใจทั้งด้านกายภาพและสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ ออกแบบยังไงให้อยู่แล้วมีความสุข เช่น มีพื้นที่ทำกิจกรรมเลี้ยงสัตว์

ยูนิเวอร์แซลดีไซน์ต้องมี

ทั้งนี้ การหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุภายในบ้านเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ สามารถเริ่มต้นได้ทุกบ้าน ด้วยการออกแบบที่เหมาะกับผู้อยู่อาศัยทุกวัย (Universal Design) โดยมี 5 หลักการสำคัญ นำมาปรับปรุง-ปรับพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน

ได้แก่ 1.Safety ความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหกล้ม

2.Easy of use อุปกรณ์ต่าง ๆ ควรใช้งานง่าย สะดวกและออกแรงน้อย

3.Eligible ดีไซน์ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและข้อจำกัดของแต่ละบุคคล

4.Accessibility การจัดพื้นที่และอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการเคลื่อนตัว หรือก้าวเดิน

5.Stimulation การฟื้นฟูความมีชีวิตชีวาผ่านการจัดสภาพแวดล้อม

โต๊ะ-ตู้-เตียงล้วนสำคัญ

เริ่มต้นจากการออกแบบ “ห้องนอนผู้สูงอายุ” ในส่วนพื้นห้องใช้วัสดุลดแรงกระแทกและไม่ควรมีพื้นที่ต่างระดับ เพื่อป้องกันการสะดุดและหกล้ม

ถัดมา “เตียงนอน” เลือกขนาดให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ปรับระดับความสูงได้ มีราวจับข้างเตียง ฟูกที่นอนไม่แข็งหรือนิ่มเกินไป ที่สำคัญ ต้องกันพื้นที่บริเวณข้างเตียงไว้รองรับในกรณีใช้งานรถเข็นได้

ขณะที่ “เฟอร์นิเจอร์ในห้องนอน” ควรมีโต๊ะข้างเตียงเพื่อการหยิบจับได้สะดวก รวมทั้ง “ตู้เสื้อผ้า-ชั้นวางของ” ควรมีระดับความสูงที่เหมาะสมกับผู้ใช้งาน

ภายในห้องนอน มีการติดตั้งราวจับบริเวณที่มีการลุกนั่ง พร้อมติดตั้งไฟส่องสว่างอัจฉริยะที่สามารถเปิด-ปิดอัตโนมัติ มีระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวระหว่างเตียงนอนไป-กลับห้องน้ำ

รวมทั้ง “ประตู” แนะนำให้ใช้แบบบานเลื่อนเปิด-ปิด ที่มีระบบรางแขวนด้านบนตัวล็อก ใช้งานง่าย และไม่ต้องออกแรงมากนัก

โซนเปียก-แห้งคือความใส่ใจ

ฟังก์ชั่นหลักที่ต้องให้ความสำคัญคือ “ห้องน้ำ” แนะนำว่าขนาดของห้องน้ำที่ควรกว้างอย่างน้อย 200 เซนติเมตร เพื่อรองรับการใช้รถเข็น

พร้อมกับจัดแบ่งพื้นที่โซนห้องน้ำเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน โดยพื้นที่ “โซนแห้ง” การเลือกใช้อ่างล้างหน้าแบบแขวนผนังที่สามารถรองรับน้ำหนักการเท้าแขนของผู้สูงอายุ ส่วนโถสุขภัณฑ์ควรเป็นแบบนั่งราบ ติดตั้งในระดับความสูงที่เหมาะสมเพื่อให้ลุกนั่งง่าย เท้าไม่ลอย และติดตั้งราวจับบริเวณข้างโถสุขภัณฑ์

ส่วนพื้นที่ “โซนเปียก” เลือกใช้ที่นั่งอาบน้ำในขนาดและความสูงเหมาะกับผู้สูงอายุ รวมทั้งต้องแข็งแรงรับน้ำหนักได้ดี

สำหรับ “ก้านฝักบัว” สามารถปรับระดับความสูงได้ และเลือกใช้วาล์วเปิด-ปิดน้ำ ที่สามารถคุมอุณหภูมิได้ พร้อมติดตั้งราวจับบริเวณพื้นที่อาบน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถยึดเกาะป้องกันการลื่นล้มได้

ที่สำคัญ ควรใช้กระเบื้องปูพื้นที่มีค่าความฝืดตั้งแต่ R10 ขึ้นไป เพื่อป้องกันการลื่นล้ม รวมไปถึงการติดตั้งราวจับโดยเฉพาะพื้นที่อาบน้ำ

ทั้งนี้ การสร้างบ้านและการออกแบบบ้านแนวคิดใหม่เพื่อรองรับสมาชิกสูงวัย ต้องใส่ใจลงลึกรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการจัดการสิ่งกีดขวางบนพื้นให้น้อยที่สุด การออกแบบประตูทางเข้าให้มีความกว้างมากกว่าปกติเพื่อรองรับการใช้งานรถเข็นทั้งที่ใช้งานปกติ และในเวลาฉุกเฉิน

23/6/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (23 มิถุนายน 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS