โค้งสุดท้ายของไตรมาส 3 ประจำปีงบประมาณ 2565 ได้เวลาอัพเดตเมกะโปรเจ็กต์ระบบรางในยุคของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งขับเคลื่อนการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐในยุควิกฤตเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์โควิด ทั้งใน กทม.-ปริมณฑล และต่างจังหวัด
เร่ง 3 สัญญารถไฟไทย-จีน
เริ่มต้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย โดยเฟสแรกลงทุนก่อนช่วงกรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 253 กิโลเมตร จำนวน 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และสถานีนครราชสีมา
โดยแบ่งสัญญางานโยธาเป็น 14 สัญญา ความคืบหน้า ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา, อยู่ระหว่างก่อสร้าง 9 สัญญา, เตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
โดย รมว.ศักดิ์สยาม ได้มีข้อสั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินการในส่วนที่ยังมีประเด็น ดังนี้ 1.สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า 2.สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และ 3.สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว โดยกำชับให้พิจารณาดำเนินการตามหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด กำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565 เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามกำหนดการของโครงการ
เร่งสร้าง 6+1 สายทั่วไทย
บิ๊กดาต้าจาก ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวกับ ประชาชาติธุรกิจ ว่า กรณีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) กับสายสีชมพู (มีนบุรี-แคราย) ที่มีกำหนดเปิดทดลองวิ่งบริการในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ 2566 ถือว่าทำผลงานได้เร็วกว่าแผนแม่บท
ขณะเดียวกันมีความคืบหน้าแผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ระบบรางในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล และต่างจังหวัด (ดูตารางประกอบ) ดังนี้
รถไฟฟ้าเมืองกรุงที่กำลังเปิดไซต์ก่อสร้างมีด้วยกัน 6 เส้นทาง ประกอบด้วย สีส้มตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี, ส่วนต่อขยายสีชมพูที่สถานีศรีรัช วิ่ง 3 กม.เข้าสถานีเมืองทอง, สีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่เพิ่งเคาะผลประมูล
ไฮไลต์อยู่ที่สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ภาพรวมคืบหน้า 88% กับสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง คืบหน้า 92% การันตีคนกรุงนับถอยหลังรอใช้บริการต้นปีหน้าได้เลย
ยังมีรถไฟฟ้าพื้นที่ต่างจังหวัด นาทีนี้มีแต่รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งกำลังก่อสร้างเฟสแรกช่วง กรุงเทพ-โคราช จากโครงการเต็มเฟสเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย วงเงินลงทุนรวมกัน 536,983 ล้านบาท
ต่อขยายสายสีแดงจ่อ PPP
โดยมีโครงการรอคิวเปิดไซต์ก่อสร้าง ได้แก่ รถไฟฟ้าสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ที่คาดว่าจะสามารถเคาะผลประมูลได้ภายในปีนี้
ที่เหลือเป็นการเข้าคิวบรรจุแผนร่วมลงทุนรัฐและเอกชน หรือ PPP มี 6 โครงการ โดยที่ 1 โครงการคือรถไฟฟ้าสายสีเทา โดย กทม.-กรุงเทพมหานคร ดังนั้น จึงเหลือ 5 โครงการที่รับผิดชอบโดยกระทรวงคมนาคม
จุดโฟกัสทั้ง 5 โครงการเป็นส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง ตลิ่งชัน-ฮับบางซื่อ-รังสิต 40 กิโลเมตรที่เพิ่งเปิดบริการปลายปี 2564 ที่ผ่านมา
แผนลงทุนจะมีการต่อยอดทำเพิ่ม 5 โครงการ รวม 55.24 กิโลเมตร วงเงินรวม 64,836 ล้านบาท หากเปิดประมูลได้ตามแผนจะมีกำหนดทยอยเปิดบริการตั้งแต่ปี 2569-2571 เป็นต้นไป
29/6/2565 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (29 มิถุนายน 2565)