info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.14.82

ห้องเช่า กคช.เริ่มต้น 1.4 พัน รุก 8 ทำเลอัพเกรดบ้านเบอร์ 5-รักษ์โลก

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

การเคหะแห่งชาติซัพพอร์ตค่าครองชีพยุคโควิด ส่งห้องเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย 8 ทำเล “สมุทรสาคร กาญจน์ สารคาม สุรินทร์ อุบลฯ นครสวรรค์ ลำปาง” เก็บกระเป๋าเข้าอยู่ได้ทันที ค่าเช่าเริ่มต้น 1,400-2,500 บาท/เดือน ล่าสุดเปิดโครงการใหม่ “ตะกั่วป่า พังงา” เปิดให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางลงทะเบียนจองสิทธิเช่า ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 สิงหาคม 2565 ค่าเช่า 1,600-1,800 บาท/เดือน

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการจัดหาที่อยู่อาศัยให้เช่า รองรับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางในสังคม เพื่อสร้างโอกาสให้ได้มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมในระดับราคาที่สามารถรับภาระได้

โดยได้จัดสร้าง “โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย” เพื่อเป็นทางเลือกในภาวะค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน ทั้งจากผลกระทบสถานการณ์โควิดและปัจจัยกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง

รายละเอียดอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปัจจุบันมีให้เลือก 8 ทำเล ได้แก่ โครงการในจังหวัดสมุทรสาคร กาญจนบุรี มหาสารคาม สุรินทร์ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ลำปาง และพังงา ออกแบบเป็นอาคารชุด ห้องพักอาศัยมีพื้นที่ใช้สอย 28 และ 30 ตารางเมตร อัตราค่าเช่าเริ่มต้น 1,400-2,500 บาท/เดือน ขึ้นกับทำเลที่ตั้งโครงการ

นายทวีพงษ์กล่าวว่า โครงการล่าสุดอยู่ที่จังหวัดพังงา โดยอยู่ระหว่างเปิดให้ผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนจองสิทธิ โครงการในจังหวัดพังงา (ตะกั่วป่า) ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 สิงหาคม 2565 เงื่อนไขจะให้สิทธิผู้สูงอายุและคนพิการสามารถเช่าห้องพักอาศัยในอาคารชั้นที่ 1 ก่อนเป็นอันดับแรก

สำหรับผู้สนใจจองสิทธิกรณีเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะต้องเป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี และกรณีประชาชนทั่วไป รวมถึงข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน

ทั้งนี้ โครงการในพังงา ตั้งอยู่บนถนนศรีเมือง ตำบลตะกั่วป่า อำเภอเมืองพังงา อยู่ใกล้สำนักงานเทศบาลเมืองตะกั่วป่า โรงเรียนตะกั่วป่าเสนานุกูล โรงพยาบาลตะกั่วป่า สถานีขนส่ง และห้างสรรพสินค้า ออกแบบเป็นอาคารพักอาศัยสูง 4 ชั้น จำนวน 78 หน่วย พื้นที่ใช้สอย 28 ตารางเมตร ค่าเช่า 1,600-1,800 บาท/เดือน

ฟังก์ชั่นภายในห้องพักอาศัย รูปแบบห้องชุด 1 ห้องอเนกประสงค์ 1 ห้องน้ำ สำหรับห้องพักอาศัยชั้นที่ 1 ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงอารยสถาปัตย์ (universal design) หรือการออกแบบเพื่อคนทุกวัย

นางชฎารัตน์ ไชยเสน ผู้ช่วยผู้ว่าการ กคช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาต่อยอดโครงการที่อยู่อาศัยในเครือการเคหะฯ 4 โมเดลด้วยกัน คือ 1) โครงการฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานหรือ “บ้านเบอร์ 5” ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ปัจจุบันมี 16 โครงการ รวม 3,963 หน่วย ส่งผลให้เกิดการประหยัดไฟ 4.82 ล้านหน่วย/ปี ลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้า 17.35 ล้านบาท/ปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2,298 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี รวมถึงประชาชนผู้อยู่อาศัยในบ้านเบอร์ 5 สามารถลดค่าไฟฟ้าลงจากเดิม 40-60% เฉลี่ยลดค่าใช้จ่าย 4,500 บาท/ปี/หน่วย

2) โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า (TOD-transit oriented development) รองรับการเดินทาง 3 โหมดหลักด้วยกันคือ โหมดการเดินเท้า การใช้รถจักรยาน และการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

3) โครงการส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกจำนวน 3,141,142 ล้านเหรียญสหรัฐ

และ 4) โครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (SSC-Smart and Sustainable Community for Better Well-being) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) นำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาปรับใช้ในมิติที่แตกต่างกันจนสามารถเดินหน้าโครงการนำร่องที่โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง (นิติ 1) ได้อย่างเป็นรูปธรรม

11/8/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (11 สิงหาคม 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS