info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.14.82

ทางหลวงชนบท ทุ่ม 6.6 พันล้าน ผุด 2 สะพาน แลนด์มาร์กใหม่ภาคใต้

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

กรมทางหลวงชนบทเดินหน้าก่อสร้างสะพาน 2 สะพานแห่งใหม่ภาคใต้ ได้แก่ 1.สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา 2.สะพานเชื่อมเกาะลันตา หลังงบประมาณสมทบผ่านความเห็นชอบจากอนุกรรมาธิการงบประมาณรวม 6.6 พันล้าน ชูเป็นแลนด์มาร์กใหม่ภาคใต้ในอนาคต หนุนท่องเที่ยว

วันที่ 11 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทางหลวงชนบทเผยงบประมาณสมทบผ่านการเห็นชอบจากอนุกรรมาธิการแล้ว เตรียมเดินหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา, พัทลุง และโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา จ.กระบี่ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปี 2566 นี้

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) รายงานความคืบหน้าการเตรียมดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา-ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง และโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง–ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่

ซึ่งทั้งสองโครงการจะเป็นแลนด์มาร์ก (Landmark) ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในอนาคต ช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่งได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา-ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง จะช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้เกิดความสมบูรณ์ เพิ่มศักยภาพในการเดินทางเชื่อมระหว่าง จ.พัทลุง กับ จ.สงขลา ลดระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร หรือลดระยะเวลาในการเดินทางราว 2 ชั่วโมง

ปัจจุบัน ทช.ได้ดำเนินการสำรวจออกแบบโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ และได้ผ่านการเห็นชอบรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติก่อสร้าง

โดย ทช. ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้นจำนวน 4,829.25 ล้านบาท มีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี (ปี 2566–2568) โดยจะใช้เงินกู้ต่างประเทศและงบสมทบจากงบประมาณประจำปี ทั้งนี้ งบประมาณประจำปี 2566 ได้ผ่านการเห็นชอบจากอนุกรรมาธิการแล้ว คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้างประมาณปลายปี 2566 จะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2569 ต่อไป

โดยสะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร (สามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต) และมีรูปแบบสะพานที่เหมาะสมคือ สะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge) รวมระยะทางทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร

นอกจากนี้ บริเวณราวสะพานได้ออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมมโนราห์ของท้องถิ่นมาประยุกต์อีกด้วย

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง–ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ปัจจุบัน ทช. ได้ดำเนินการสำรวจออกแบบโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ และได้ผ่านการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม (คชก.) ของสำนักนโยบายเเละเเผนทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม (สผ.)

ขณะนี้ ทช.ได้ส่งเล่ม EIA ฉบับสมบูรณ์ให้ สผ. เพื่อที่เสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาเห็นชอบ รวมทั้งอยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติก่อสร้างพร้อมกับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ซึ่งจะก่อสร้างสะพานเป็นรูปแบบสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานยื่น (Balanced Cantilever Bridge) ความยาวสะพาน 1,825 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ช่องละ 3.75 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.5 เมตร พร้อมถนนต่อเชื่อมทั้งสองฝั่ง รวมระยะทาง 415 เมตร รวมระยะทางตลอดโครงการ 2,240 เมตร

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด หรือเทศกาลจากเดิมต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 นาที สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดกระบี่ได้อย่างรวดเร็วหากมีเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน และเป็นเส้นทางสำหรับอพยพประชาชนในกรณีเกิดภัยพิบัติ โดย ทช. ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้น 1,849.50 ล้านบาท มีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี (ปี 2566–2568) โดยจะใช้เงินกู้ต่างประเทศและงบสมทบจากงบประมาณประจำปี

ทั้งนี้ งบประมาณประจำปี 2566 ได้ผ่านการเห็นชอบจากอนุกรรมาธิการแล้ว คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้างประมาณปลายปี 2566 และจะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2569

นอกจากนี้ ในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและกรมทางหลวงชนบท จะร่วมประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับแผนการดำเนินงานในส่วนของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Framework) ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank)

11/8/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (11 สิงหาคม 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS