info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.14.82

เปิดขุมกำลังใหม่ร้านสะดวกซื้อ 3 เจ้าสัว อัพเกรดโชห่วย 30,000 สาขา

Retails News / ข่าวหมวดห้างสรรพสินค้า

สมรภูมิค้าปลีกร้อนระอุ หลัง “เจ้าสัวเจริญ” เตรียมบุกธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เดินหน้าปรับโฉมร้านโชห่วย กว่า 30,000 ร้านค้า ให้เป็นร้านสะดวกซื้อภายใต้โมเดล “ร้านโดนใจ” ภายในปี 2570 พร้อมพาส่องโมเดลธุรกิจร้านโชห่วย 3 ค่ายยักษ์ใหญ่มีแผนขยายเครือข่ายอย่างไรบ้าง

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลับมาร้อนแรงอีกครั้งสำหรับธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ หรือ Convenient Store ในไทย หลังจากที่สำนักงานข่าว Bloomberg รายงานว่า “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เตรียมเดินหน้าปรับโฉมร้านโชห่วย หรือ ค้าปลีกแบบดั้งเดิม กว่า 30,000 ร้านค้า ให้กลายเป็นร้านสะดวกซื้อ ภายใต้โมเดล “ร้านโดนใจ” ในเครือของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด หรือ บีเจซีบี ภายในปี 2570

ซึ่งภายใต้แผนงานดังกล่าว บีเจซี จะเป็นผู้สนับสนุนด้านโลจิสติกส์ การตลาด และการจัดการข้อมูลให้กับร้านค้า เพื่อเปลี่ยนโฉมให้ร้านโชห่วยขนาดเล็กกลายเป็นร้านสะดวกซื้อยุคใหม่ โดยแลกกับการที่ร้านจะต้องลงของจากบริษัทต่างๆ ในเครือ เช่น บิ๊กซี และไทยเบฟ ในปริมาณไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำที่กำหนดไว้

โดยก่อนหน้านี้ บีเจซี ได้มีการเปิดตัวโมเดลธุรกิจ “ร้านโดนใจ” ในปี 2565 ด้วยการพัฒนาระบบ POS ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับร้านโชห่วยไทยให้มีระบบบริหารจัดการที่ดี ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จ และได้รับความสนใจจากร้านค้าโชห่วยที่อยู่ในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างมาก

“เซเว่น อีเลฟเว่น” ปักหลักเปิด 14,700 แห่งสู้

ต้องรอติดตามดูว่าในสมรภูมิรบครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะการที่จะเจาะเข้ามาในธุรกิจร้านสะดวกซื้อในไทยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องแข่งขันกับเจ้าตลาดอย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น” แม่ทัพใหญ่อย่างซีพี ออลล์ ที่มีร้านค้ากว่า 14,000 แห่งทั่วประเทศ หรือเกือบ 3 ใน 4 ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อทั้งหมดในประเทศไทย จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ CBRE Group ซึ่งภายในปี 2566 ซีพี ออลล์ ตั้งงบฯลงทุนเพิ่ม 3.8-4 พันล้านบาท เปิด 7-Eleven สาขาใหม่อีก 700 แห่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากธุรกิจค้าร้านสะดวกซื้อที่ได้รับความสนใจจากนายทุนรายใหญ่แล้ว ธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็ก หรือร้านโชห่วย ก็ถือว่าได้รับความสนใจจากเหล่านายทุนยักษ์ใหญ่เช่นเดียวกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปส่องโมเดลธุรกิจร้านโชห่วยของเหล่าบรรดานายทุนรายใหญ่ในไทย ว่าแต่ละโมเดลเป็นของค่ายไหนกันบ้าง ไปดูกันเลย

“ถูกดี มีมาตรฐาน” คาราบาวกรุ๊ปปักธง 30,000 แห่ง

ถูกดี มีมาตรฐาน “ร้านค้าของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ภายใต้การบริหารของ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” บอสใหญ่แห่งคาราบาวกรุ๊ป เจ้าของเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” ซึ่งคอนเซปต์ คือการนำระบบการจัดการแบบโมเดิร์นเทรด (POS) เข้าไปช่วยบริหารจัดการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารต้นทุน รายได้ และกำไรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการซัพพอร์ตร้านค้าปลีกรายย่อยในแง่ของการบริหารการจัดการ เทคโนโลยี กิจกรรมทางการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย ในระยะถัดไปบริษัทยังจะมีบริการใหม่ ๆ เข้ามาเสริม การให้สินเชื่อรายย่อย การรับชำระค่าบริการต่าง ๆ การรับ-ส่งพัสดุ จ่ายยา ฯลฯ เพื่อให้ร้านถูกดีฯเป็น point of everything อีกด้วย

โดยวางเป้าหมายให้ร้านถูกดีฯ เป็นร้านสะดวกซื้อที่สามารถเข้าถึงชุมชนที่ลึกที่สุดในระดับหมู่บ้าน ซึ่งในปี 2566 ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนเครือข่ายร้านถูกดีฯ เป็น 20,000 ร้าน และเพิ่มเป็น 30,000 ร้าน ในปี 2567

“โดนใจ” ค่ายบิ๊กซีไม่ถอย 30,000 ร้านค้า

ร้านโดนใจ ภายใต้การดำเนินงานของเชนค้าปลีกยักษ์ใหญ่ “บิ๊กซี” โดยเป็นโมเดลที่เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการเข้าไปช่วยพัฒนาร้านค้าเหล่านั้นให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดี ตลอดจนองค์ความรู้ในการบริหารร้านค้าปลีกสมัยใหม่ โดยมีการพัฒนาระบบ POS ขึ้นมาเพื่อเข้าไปช่วยร้านค้าเหล่านั้น

พร้อมกับการมีทีมงาน?เข้าไปช่วยพัฒนาและเพิ่มทักษะในการทำธุรกิจค้าปลีกให้กับผู้ประกอบการเหล่านั้น เพื่อให้สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้

โดยมีจุดเด่นตรงที่ผู้ประกอบการโชห่วยสามารถเลือกการลงทุน และเลือกสินค้าที่จำหน่ายได้เอง โดยไม่ต้องแบ่งผลกำไรกับใคร ด้วยงบฯลงทุนไม่สูงนัก

ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าที่เข้าร่วมเครือข่ายร้านโดนใจ เปิดไปแล้วประมาณ 2,597 ราย ซึ่งเบื้องต้นตั้งเป้าสิ้นปี 2566 จะสามารถดึงร้านโชห่วยเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายเพิ่มอีกประมาณ 4,000 ร้านค้า และในระยะยาวคาดว่าจะขยับขึ้นเป็น 30,000 ร้านค้า ภายในปี 2570

“บัดดี้มาร์ท” ค่ายแม็คโคร 2,000 แห่ง

บัดดี้มาร์ท ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ ซึ่งเป็นการเปิดให้ร้านโชห่วย มินิมาร์ท ที่มีร้านอยู่แล้ว รวมถึงผู้สนใจและต้องการจะเปิดร้านค้าเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์หรือคู่ค้าโมเดลธุรกิจที่มุ่งปรับปรุงร้านโชห่วยให้เป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่

โดยจุดแข็งของแม็คโคร คือ การทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นโชห่วยมาอย่างยาวนาน ทำให้มีฐานลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันเครือข่ายสาขาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ก็เข้ามาเป็นโครงข่ายที่สำคัญในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้แบบลงลึก

เบื้องต้นร้านค้าที่จะเปิดร้านค้าโมเดลนี้ มีค่าใช้จ่ายเป็นเงินลงทุนตกแต่งร้านเริ่มต้น 100,000-200,000 บาท เงินค้ำประกัน 200,000 บาท สัญญา 3 ปี โดยร้านบัดดี้มาร์ท มี 3 ขนาด คือ น้อยกว่า 50 ตร.ม. สินค้าประมาณ 1,600 รายการ, 51-100 ตร.ม. สินค้า 2,200 รายการ และมากกว่า 100 ตร.ม. มีสินค้า 3,000 รายการ

ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าที่เข้าร่วมเครือข่ายร้านบัดดี้ มาร์ท เปิดไปแล้วประมาณ 37 ร้านค้า และสิ้นปี 2566 จะมีสาขาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2,000 ร้านค้า

อย่างไรก็ตาม แม้การรุกคืบของโมเดิร์นเทรดมากแค่ไหน แต่ในประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศที่ “เทรดิชันนอลเทรด” หรือร้านโชห่วยแบบชาวบ้าน ที่ขายในชุมชนยังมีอิทธิพลมากมายอยู่มาก เพราะฉะนั้นแล้วธุรกิจร้านโชห่วยก็ยังที่จะสามารถเติบโตไปควบคู่กับร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ได้อย่างแน่นอน

6/10/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 6 ตุลาคม 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS