info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.14.82

สรุปดีล “WHA-ฉางอาน” ปลูกต้นรักนาน 3 ปี ผุดโรงงานอีวี

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีพิธีลงนามในสัญญาครั้งสำคัญ ระหว่างนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และ เซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี จาง เซียว เซียว อัครราชทูตจีน ประจำแผนกพาณิชย์ สถานทูตจีนประจำประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยาน

ภายใต้สัญญาฉบับนี้ “ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย” หนึ่งในกลุ่มยานยนต์ชั้นนำ 4 กลุ่มของจีน จะมาซื้อที่ดิน 250 ไร่ มูลค่า 8,862 ล้านบาท ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 ซึ่งอยู่บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ขนาดกำลังผลิตเฟสแรก 100,000 คันต่อปี

เปิดเหตุผลที่ฉางอาน เลือกไทย

ฉางอาน ยักษ์ใหญ่ยานยนต์จีนที่ขยายตลาดไป 63 ประเทศทั่วโลก ด้วยอายุบริษัทที่ยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ มีความแข็งแกร่งด้านการวิจัยพัฒนา มีศูนย์วิจัย 5 ศูนย์ และมีนักวิจัยรวมวิศวกรกว่า 17,000 คน กำลังการผลิตปีละ 2.5 ล้านคัน เหตุใดจึงตัดสินใจเลือก “ประเทศไทย”

นายซิงหัวระบุว่า ประเทศไทย และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เป็นตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุว่า 1.เราถือว่าเป็นประเทศที่เป็นหุ้นส่วนที่มีความใกล้ชิดผูกพันกันมาอย่างยาวนาน ทั้งในมิติทางด้านวัฒนธรรมและด้านอื่น ๆ

“ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เพิ่งเดินทางไปประชุม Belt and Road ที่ปักกิ่ง เป็นการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ว่าจะมีการสนับสนุนกันทั้งสองฝ่าย โดยไทยถือว่าเป็นคู่ค้าที่มีความสัมพันธ์กับจีนมาเป็นเวลานับ 10 ปีต่อเนื่อง”

2.ในแง่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ประเทศไทยถือว่า เป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ กำลังการผลิตของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 1 ของภูมิภาคอาเซียน และอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก

3.ไทยมีโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วน TIER 1 มากกว่า 700 บริษัท มีความพร้อมของอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ถือว่าสมบูรณ์แบบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

4.นโยบายของประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการเร่งจังหวะในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลมีวิสัยทัศน์ที่จะเพิ่มสัดส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ในปี 2030 หรือ 30@30 สอดรับกับประเทศจีนที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไปในระดับโลก

ส่องโรงงานอีวี “ฉางอาน”

ซีอีโอฉางอานกล่าวว่า บริษัทตั้ง 3 บริษัทคือ 1) ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย 2) ฉางอาน ออโต้ คอมโพลแนนซ์ และ 3) ฉางอานออโต้เซลล์ 3 บริษัทนี้จะเป็นการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความครอบคลุม ทั้งในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา การผลิตและการส่งมอบชิ้นส่วนยานยนต์และการผลิต

ฉางอานเตรียมวางศิลาฤกษ์โรงงานแห่งใหม่ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ในเฟสแรกจะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา ทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) เพื่อจำหน่ายในไทยและส่งออกสู่ภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้

โดยแบ่งพื้นที่ 250 ไร่ เป็นไลน์การผลิต 5 ด้าน ไว้ในพื้นที่เดียวกันคือ 1) การหลอมส่วนประกอบต่าง ๆ ของตัวถัง 2) การพ่นสี 3) การประกอบ assembly 4) การผลิตตัวเครื่องยนต์ 5) การประกอบแบตเตอรี่

โดยคาดการณ์ว่าโรงงานผลิตเฟสที่1จะเริ่มต้นได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2025 หรือ 2568 กำลังการผลิต 1 แสนคัน ส่วนเฟสที่ 2 จะขยายต่อไปเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 แสนคันต่อปี ใน WHA เช่นเดิม นอกจากนี้ มีแผนจะสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ในไทยในระยะต่อไปด้วย

ฉางอานมีแผนเปิดตัวรถรุ่นแรกในปลายเดือนพฤศจิกายน ในงานมอร์เตอร์ เอ็กโป วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 โดยจะนำทุกโมเดลมาจัดแสดง และจะนำเสนอ 2 รุ่นที่พร้อมขาย

WHA ปลูกต้นรัก ฉางอาน 3 ปี

นางสาวจรีพร กล่าวว่า ดีล WHA กับฉางอาน เหมือนการปลูกต้นรักมานาน 3 ปี ตั้งแต่ก่อนโควิด จนมาถึงการลงนาม เหมือนการแต่งงานกัน ซึ่งต่อไปคงจะเลิกกันไม่ได้ เพราะฉางอานได้เตรียมขยายเฟส 2 โดยจองที่ดินในนิคม WHA แล้ว 200-300 ไร่

การลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แห่งปีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าประเทศไทยคือจุดหมายด้านการลงทุน

และข่าวดีสำหรับฉางอานคือ ท่านนายกรัฐมนตรีไทยกำลังเร่งเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ให้เสร็จภายในปีครึ่ง ซึ่งจะทันกับที่การสร้างโรงงานเสร็จพอดี ทำให้ฉางอานจะมีโอกาสขยายตลาดส่งออกจากเอเชียไปสู่อียูได้อีก

“ล่าสุดนายกรัฐมนตรียังได้ตั้งคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) โดยนั่งเป็นประธานเอง และมีเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นเลขาธิการ ฉะนั้น การผลักดัน privileged แพ็กเกจอีวี 3.5 จะได้รับการพิจารณาในเร็ว ๆ นี้ เพราะบอร์ดอีวีจะประชุมนัดแรกใน 1 พฤศจิกายน 2566”

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 9 ของ WHA ในประเทศไทย มีพื้นที่ 2,443 ไร่ ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์อีอีซี ทั้งยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานระดับโลก

WHA ย้ำไม่ทิ้งสันดาป

แน่นอนว่าการตัดสินใจลงทุนของฉางอาน สำคัญต่อการส่งเสริมบทบาทของไทยให้ก้าวสู่การเป็นฮับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพราะแสดงถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของตลาด นโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ครบวงจร

เพราะการลงทุนครั้งนี้ฉางอานจะมีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทยไปเป็นส่วนประกอบในซัพพลายเชนด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งจะส่งเสริมระบบนิเวศของอีวีอย่างครบวงจร ช่วยไทยบรรลุเป้าหมายการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (ZEV) ในปี 2573 หรือ 2030 ซึ่งสอดคล้องเป้าหมายของ WHA ด้วย

“แม้ว่าจะมีค่ายอีวีมาลงทุนกับ WHA ถึง 4 ค่าย แต่เรามีค่ายรถยนต์สันดาปด้วยเช่นกัน ซึ่ง WHA พร้อมจะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลให้รักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปด้วย และหากมีโอกาสจะร่วมเดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศกับนายกรัฐมนตรีในช่วง 1-2 เดือนนี้แน่นอน”

ยอดขาย WHA ปี’66 พุ่ง

ภาพรวมธุรกิจ WHA โดยปกติไตรมาส 4 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดเพราะจะมีการโอนที่ดิน ขณะเดียวกันธุรกิจโลจิสติกส์ของเราจะมีการขาย ASSET เข้ากองรีทด้วย

ส่วนยอดขายที่ดินในนิคมในปีนี้ เราได้ปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้น 1,000 ไร่ จากเดิม 1,750 ไร่ เป็น 2,750 ไร่ ซึ่งเบรกเรกคอร์ดปีที่แล้ว ขายได้ 1,800 ไร่ ออลไทม์ไฮของยอดขายนิคมอุตสาหกรรมอีกปีหนึ่ง ซึ่งสัดส่วนพอร์ตธุรกิจนิคมอยู่ที่ 50% รองลงมาคือธุรกิจโลจิสติกส์ และสาธารณูปโภค ซึ่งอยู่ที่สาขาละ 25-30%

“ขณะนี้ WHA กำลังทำดีลกับลูกค้ากลุ่มใหม่ 600 ไร่ จะประกาศข่าวดีในต้นปีหน้า ซึ่งผลจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้มีการย้ายฐานการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ก็เป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจนิคม อุตสาหกรรมที่ขยายการลงทุนเข้ามาไม่ใช่มีเพียงแค่ยานยนต์ หรืออีวีจากจีนเท่านั้น แต่ยังมีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยังมีนักลงทุนทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรปด้วย ซึ่งหากมีเอฟทีเอไทย-อียู จะเป็นปัจจัยหลักที่หนุนให้มีการขยายการลงทุนมามากขึ้น”

28/10/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 28 ตุลาคม 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS