info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.23.101.60

Innobic เจาะตลาดแพลนต์เบส เจ้าแรกในอาเซียน เปิดโรงงาน Plant & Bean

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

Innobic เจาะแพลนต์เบส เจ้าแรกในอาเซียน เปิดโรงงานเฟสแรก กำลังผลิต 3,000 ตัน/ปี บุกตลาดอียูเต็มกำลัง ตั้งเป้าผลิตเต็มกำลัง 25,000 ใน 5 ปี เตรียมไปต่อตลาดอินเดีย

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชม โรงงานโรงงาน แพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ของบริษัท เอ็นอาร์พีที จำกัด หรือ NRPT ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง อินโนบิก-เอ็นอาร์เอฟ (NRF) ในการพัฒนาเพื่อรองรับตลาดอาหารอนาคต

ดร. บุรณิน กล่าวภายหลังการเยี่ยมชมโรงงานโรงงานว่า โรงงานแห่งนี้จะเป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช (plant-based) ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นรายแรกในอาเซียนและรายที่ 2 ในเอเชีย รองจากอินเดีย ด้วยมาตรฐานฮาลาลและมาตรฐานความปลอดภัยอาหารสากลจากสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (The British Retail Consortium : BRC) ซึ่งอยู่ระหว่างการรับรอง

“โรงงานแห่งนี้ ตั้งเป้าว่าจะเป็นโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืช 100% แห่งแรกในประเทศไทยและขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งจะมีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 25,000 ตัน โดยในระยะแรกจะผลิตประมาณ 70% ของกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี เและภายหลังได้รับมาตรฐาน BRC จะเริ่มส่งออกให้กับบริษัทในยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงยังเตรียมศึกษาและพัฒนาสูตรเพื่อเจาะตลาดอินเดียต่อไปในอนาคต”

นอกจากนี้การก่อสร้างในระยะที่สองจะใช้งบลงทุนประมาณ 4-5 ร้อยล้านบาท โดยปัจจุบันจะดูกระแสตอบรับของโรงงานระยะแรกก่อนว่าเป็นไปตามเป้าหรือไม่ ก่อนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 13,000 ตันต่อปี และจากนั้นภายใน 5 ปี จะขยายโรงงานระยะที่สามเป็น 25,000 ตัน โดยคาดว่าจะดำเนินการตามเป้าหมายนี้ได้ภายใน 5 ปี

โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มอาหารพร้อมปรุง (Ready to cook) เช่น เนื้อสับ มีทบอล และกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) เช่น ไส้กรอก นักเก็ต และเกี๊ยวซ่า ซึ่งนอกจากจุดแข็งด้านประสิทธิภาพการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับโลกให้ผลิตภัณฑ์มีเนื้อสัมผัส รสชาติ และรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง อร่อย ทานง่ายแล้ว

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยังมาจากพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม (Non-GMO) และมีโปรตีนสูง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนานวัตกรรมอาหารให้เหมาะแก่การดูแลสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชมากขึ้น รวมถึงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรได้ประมาณ 5-10 เท่า จากราคาเดิม

“แม้ช่วงแรกเราจะนำเข้าถั่วเหลืองเข้ามาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตประมาณ 25% แต่ในอนาคตเราก็มีแผนที่จะนำสินค้าเกษตรของไทยมาใช้เป็น plant-based อาทิ เม็ดขนุน ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและทำวิจัย

รวมถึงจะสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยให้นำองค์ความรู้และนวัตกรรมจากโรงงาน แพลนท์ แอนด์ บีน ไปต่อยอดทำเป็นเมนูอาหารไทยที่หลากหลาย อาทิ แกงเขียวหวาน ซึ่งเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารของไทย ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี”

ทั้งยังได้มีความร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคตของไทย ในการพัฒนานวัตกรรมอาหาร โดยมีเป้าหมายในการเป็นตัวสร้างความต้องการให้เกิดปริมาณการผลิตจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการดึงเอาวัตถุดิบในประเทศมาต่อยยอดการผลิตในอนาคต เพิ่มศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารอนาคต เพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพของคนไทย

ขณะเดียวกันโรงงานดังกล่าวใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ในกระบวนการผลิต ลดต้นทุนและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เดือนละ 28 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และ NRPT ยังได้มีความร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคตของไทย ในการพัฒนานวัตกรรมอาหาร

อีกทั้งยังมีเป้าหมายในการเป็นตัวสร้างความต้องการให้เกิดปริมาณการผลิตจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการดึงเอาวัตถุดิบในประเทศมาต่อยยอดการผลิตในอนาคต เพิ่มศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารอนาคต เพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพของคนไทย

21/11/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 21 พฤษจิกายน 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS